สบส.พบ ‘คลินิกเลเซอร์ผิว’ ไม่ใช่แพทย์ เร่งตรวจจับเข้าข่ายหมอเถื่อน

น.ต.นพ. บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ( สบส.) กล่าวภายหลังเปิดมหกรรม “คอนเสิร์ต สวยใส มั่นใจ สบส.” ครั้งที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต จ.ปทุมธานี ว่า ขณะนี้ความนิยมด้านสุขภาพและการเสริมความงามเป็นกระแสที่วัยรุ่น วัยทำงาน และวัยสูงอายุทั้งไทยและเทศให้ความสนใจเป็นอันมาก

จากสถิติรายงานของสมาคมแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งแห่งสหรัฐอเมริกา ในปี 2557 ทั่วโลกมีผู้ใช้บริการศัลยกรรมตกแต่งและความงามรวม 15 ล้านกว่าคน เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ร้อยละ 111 ที่มีจำนวน 7 ล้านกว่าคน โดยร้อยละ 90 หรือเกือบ 14 ล้านคน เป็นการเสริมความงามโดยวิธีไม่ต้องทำผ่าตัด เพิ่มจากปี 2543 ถึงร้อยละ 154 อันดับ 1 ได้แก่การฉีดโบท็อกซ์ ประมาณ 6 ล้านกว่าคน รองลงมาคือฉีดฟิลเลอร์ 2 ล้านกว่าคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนการเสริมความงามโดยวิธีผ่าตัดในปี 2557 มีจำนวน 1 ล้าน 6 แสนกว่าคน ลดลงกว่าปี 2543 ร้อยละ 12

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า สบส. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แพทยสภา ควบคุมมาตรฐานคลินิก สถานพยาบาลที่มี 1,458 แห่งทั่วประเทศ และมีแพทย์เฉพาะทางด้านนี้ที่ขึ้นทะเบียนกับแพทยสภาจำนวน 490 คน ผลการดำเนินการในปี 2558 ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากบริการทางการแพทย์จำนวน 341 เรื่อง ในจำนวนนี้เกี่ยวกับสถานเสริมความงาม 150 เรื่อง เช่นจมูกเบี้ยว สันจมูกเอียง แผลอักเสบหลังดูดไขมัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังดำเนินคดีคลินิกเสริมความงามที่ฝ่าฝืนการโฆษณา 95 คดี โดยประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาในการเสริมความงามของไทยที่พบในขณะนี้มี 2 เรื่องหลัก คือด้านผู้ให้บริการและการโฆษณา โดยเฉพาะการทำเลเซอร์ ซึ่งพบว่าผู้ให้บริการไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นพนักงานอื่นๆ ที่ใช้เครื่องมือเป็น และมักจะเป็นคลินิกมากกว่าโรงพยาบาล

Advertisement

“จึงขอย้ำเตือนคลินิกต่างๆ แม้ว่าจะขึ้นทะเบียนถูกต้องจาก สบส. แล้วก็ตาม แต่หากใช้ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่แพทย์ จะถือว่าเข้าข่ายหมอเถื่อน มีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม 2525 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ดำเนินการสถานพยาบาลมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล 2541 มาตรา 34 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 35 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้รับอนุญาตต้องร่วมรับผิดด้วย” อธิบดีกรม สบส. กล่าว

น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าวอีกว่า ในส่วนของการโฆษณา จะพบมากในอินเตอร์เน็ต ซึ่งตามกฎหมายห้ามสถานพยาบาลทุกแห่ง โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณการรักษา เช่น อยากสวย สวยที่ .. ใช้อุปกรณ์นำสมัย สวยเหมือนธรรมชาติหรือลดแลกแจกแถม รวมทั้งการใช้คำโฆษณาว่า “หน้าใสสำหรับนักศึกษา” หรือคำว่า “เปลี่ยนหน้าหมองให้น่ามองดุจดาวเดือน” “ให้เปอร์เซ็นต์ส่วนลด” เป็นต้น ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย และก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งมีคลินิกหลายแห่งทำเช่นนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างเรียกมาสอบสวนและดำเนินคดีต่อไป ซึ่งจะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะยุติการโฆษณา และหากตรวจพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำอีก อาจพิจารณาโทษให้หนักขึ้น เช่น ปิดสถานพยาบาลเป็นต้น ในรอบ 3 เดือนมานี้ดำเนินคดีเฉลี่ยเดือนละ 10 ราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image