เปิดเพลงในร้านกิน-ดื่มผิดลิขสิทธิ์หรือไม่!? ฟัง “ผู้บริหารแกรมมี่-นักกฎหมาย” ชำแหละความเข้าใจใหม่

“ผู้บริหารแกรมมี่-นักกฎหมาย” ชำแหละความเข้าใจเรื่องเปิดเพลงในร้านกิน-ดื่มรูปแบบต่างๆผิดกฎหมายหรือไม่? อย่างไร? นักกฎหมายแจงชัด ถึงอ้างอิงคำพิพากษาศาลฏีกาที่ตัดสินยกฟ้อง แต่เข้าใจถูกแค่ “ครึ่งเดียว” CEO แกรมมี่ชี้จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ช่วยหล่อเลี้ยงระบบนิเวศธุรกิจดนตรี

ติดตามการตีแผ่ประเด็นร้อนแบบเต็มๆในสกู๊ปพิเศษช่วงบันเทิงของรายการมติชนวีกเอ็นด์ วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคมนี้ ทาง Voice TV ช่อง 21 ออกอากาศ 21.00-22.00 น.

ข้อถกเถียงเรื่องการเปิดเพลงผ่านอุปกรณ์หลากหลายรูปแบบในร้านขายอาหารประเภทต่างๆกลายเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังมีผู้ประกอบการโพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์เล่าเหตุการณ์ถูกเจ้าหน้าที่เรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ (คลิกอ่านข่าวเพิ่มเติม)

ที่ผ่านมาเคยมีผู้หยิบยกข้อถกเถียงเรื่องลิขสิทธิ์มาพูดคุยหลายครั้งแต่ข้อมูลจากหลายแหล่งยังไม่ตรงกันจนทำให้เกิดความสับสน

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายลิขสิทธิ์ และที่ปรึกษาสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย โดยนายไพบูลย์ ระบุว่า การนำคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553 มาใช้อ้างอิงอาจทำให้หลายคนตีความว่า มีการรองรับว่าการเปิดเพลงโดยไม่แสวงผลกำไรโดยตรงจากการให้ลูกค้าฟังเพลงถือว่า “ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์” ซึ่งเป็นการตีความที่ถูกเพียงครึ่งเดียว

Advertisement

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553

ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นได้ความว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่มจำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง…อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยได้ฟัง ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงดังกล่าวเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลงโดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าว หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด

การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

Advertisement

ฟังคำอธิบายในคลิป

(นักกฎหมายวิเคราะห์ว่า การเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตต่อสาธารณชนอาจเข้าข่ายมาตราอื่นในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เช่น มาตรา 27)

มาตรา ๒๗ การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๕ (๕) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(๑) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(๒) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

ด้านนายกริช ทอมมัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจจีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์เรื่องธุรกิจเพลงเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ช่วงหนึ่งมีการพูดถึงเรื่องการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์จากค่ายเพลง ซึ่งนายกริช ทอมมัส ระบุว่า เบื้องหลังงานแต่ละงานมีต้นทุน การนำงานของผู้อื่นไปใช้โดยอ้างว่าไม่ได้ใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์นั้น เรียกว่า “เป็นการไม่เคารพกัน” พร้อมอธิบายว่าประเทศที่เจริญแล้วย่อมเคารพสิทธิ์การใช้งาน

ผู้บริหารแกรมมี่ยังกล่าวว่า บริษัทไม่ได้เพิ่มอัตราการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์จากการเปิดเพลงในร้านอาหารตลอด 14 ปีที่ผ่านมา และไม่ได้ทำร้ายธุรกิจของใคร ขณะที่การซื้อสิทธิ์เป็นการทำให้ระบบนิเวศของอุตสาหกรรมดนตรีดำรงอยู่ได้ และบริษัทพยายามคิดค้นบริการที่อำนวยความสะดวกและเหมาะสมต่อธุรกิจรูปแบบต่างๆ

ติดตามการตีแผ่ประเด็นร้อนแบบเต็มๆในสกู๊ปพิเศษช่วงบันเทิงของรายการมติชนวีกเอ็นด์ วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคมนี้ ทาง Voice TV ช่อง 21 ออกอากาศ 21.00-22.00 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image