วรเจตน์ รุดเยี่ยม-ยันเคารพการตัดสินใจศิษย์ ชี้ หากไร้เสรีภาพ ก็อย่าเรียก’ประชามติ’

30 มิ.ย 2559 เมื่อเวลา 14.30 น. รศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังออกมาจากเรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพมหานคร ว่า วันนี้ตนเดินทางมาเยี่ยมนักศึกษาที่ถูกจับกุม แต่ไม่ได้เข้าไปเยี่ยมโดยทางเรือนจำกำหนด กฎ10คนคือต้องมีชื่อ ล่วงหน้าก่อน ซึ่งตนก็ไม่ทราบล่วงหน้าว่าขั้นตอนการเยี่ยมเป็นแบบนี้ เมื่อปีที่ผ่านมาที่เขามาเยี่ยมก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งก็แปลกใจอยู่เลย วันนี้ไม่มีโอกาสได้คุยกับนักศึกษา ถ้าหากว่าได้เข้าไปตนก็คงสอบถามถึงความเป็นอยู่ของพวกเขาว่าเป็นอย่างไร อยากน้อยก็ให้พวกเขาได้รู้ว่าคนข้างนอกก็ยังไม่ได้ลืมเขา อย่างนายรังสิมันต์ โรม ก็เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันก็เรียนปริญญาตรี ซึ่งปีนี้เขาเรียนอยู่ที่ปริญญาโทก็เลยมาเยี่ยม ซึ่งคุณรังสิมันต์ โรมก็ได้แสดงออกตามความเห็นที่ถูกต้องตามสำนึกของเขาที่เห็นว่าถูกต้อง ที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ ส่วนเรื่องว่าจะมีการขอประกันตัวหรือไม่นั้นอันนี้ก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะมาคุยในประเด็นนั้น เนื่องจากเขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราเป็นอาจารย์ในเรื่องการตัดสินใจก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเขาเอง ตนเพียงแต่ว่าจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับภายนอกที่เป็นจริงและให้ประเมินเอาเองว่าเขาจะจัดการตัวเขาเองอย่างไรต่อไป

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รศ.วรเจตน์ตอบว่า โดยสภาพของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่อาจมีอำนาจในการวินิจฉัยอีกต่อไป ตั้งแต่รัฐธรรมนูญถูกล้มไป ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวจึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะพูดถึง เพราะมันไม่เคยมีและขัดกับหลักการทั่วไป เช่นการรัฐประหารเมื่อปี 2549 องค์กรเหล่านี้ก็ถูกยกเลิกไป จึงไม่มีความเห็นกับผลการวินิจฉัยแต่ไม่เกินความคาดหมาย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มองการบังคับใช้กฎหมายกับนักศึกษาลักษณะนี้อย่างไร วรเจตน์ตอบว่า ช่วงเวลานี้เราอยู่ในช่วงเวลาของการทำประชามติ และการทำประชามติมีหลักการคือต้องเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่าย หากไม่เปิดอย่างเสรี ก็ยากที่จะเรียกว่าเป็นประชามติ แต่คงคาดหวังอะไรไม่ได้ เพราะบ้านเมืองขณะนี้หลายอย่างบิดเบี้ยว ค่าโง่ยังถูกเรียกว่าค่าซื้อความรู้ที่แพง น้ำท่วม ยังถูกให้เรียกว่าน้ำรอการระบาย จึงไม่ควรไปคาดหวังอะไรมาก แต่หากจะทำให้คุ้มค่าที่สุดในแง่ของงบประมาณที่เสียไป หลักการของประชามติ โดยเฉพาะกฎหมายที่กำกับไม่ใช่ว่าจะเขียนขึ้นมาอย่างไรก็ได้ ตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image