พรเพชร ยันคนวิจารณ์รธน.ได้ แต่ห้ามทำแบบอดีต ปลุกปั่น-ปิดหน่วยจนเลือกตั้งโมฆะ

“พรเพชร” ชี้ผลวินิจฉัยของศาลรธน.เป็นเรื่องดี ปูทางสู่ความเรียบร้อยวันประชามติได้ เชื่อ คสช.ยังไม่เปิดพรรคการเมืองประชุมพรรค หวั่นปลุกปั่น-วุ่นวาย

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ไม่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญว่า เป็นข่าวที่น่ายินดี เพราะจะทำให้การดำเนินการเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย สมความมุ่งหมาย และเจตนารมณ์ การเดินหน้าที่จะทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม จะเป็นไปด้วยความสงบและเรียบร้อย ส่วนเรื่องสิทธิเสรีภาพยืนยันว่า ยังมีตามกฎหมาย ความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิ่งที่ทุกคนเคารพไม่ว่าจะเห็นอย่างไรก็ตาม อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อมีการยื่นคำร้องนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตนบอกตรงๆ ว่า ไม่รู้สึกกังวล เพราะหลักของกฎหมายก็ยืนยันหลักสิทธิเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นอยู่แล้ว อย่ามองว่ากฎหมายนี้ปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็น

นายพรเพชร กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีมาตรการบางอย่างที่ไม่ใช่การแสดงสิทธิเสรีภาพ เป็นเรื่องของกระบวนการ เช่น บิดเบือนด้วยคำกล่าวคำเท็จ ข่มขู่ ขู่เข็ญ ซึ่งเพียงเท่านั้นก็ไม่ผิด แต่จะผิดก็ต่อเมื่อมีเจตนาพิเศษในการจูงใจให้รับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ อย่างตนไม่ค่อยพูด เพราะในฐานะประธานสนช. แต่ถ้าในฐานะประชาชนตนก็สามารถวิจารณ์ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีหรือไม่ดี แต่ไม่ใช่ไปดำเนินการในส่วนที่เขาห้าม โดยเฉพาะการชักจูงให้เกิดความวุ่นวาย คงจำบทเรียนได้การปลุกปั่นเดินขบวน ไปปิดหน่วยเลือกตั้ง พูดความเท็จจนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

เมื่อถามว่า ขณะนี้พรรคการเมืองเรียกร้องให้เปิดโอกาสให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ นายพรเพชร กล่าวว่า เรื่องนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรหรือไม่ควรอย่างไร แต่ตนเข้าใจว่าคสช.คงมองว่า ยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะให้พรรคการเมืองแสดงออกโดยการประชุมพรรค เพราะอาจจะเข้าลักษณะถูกบิดเบือนได้ง่าย เนื่องจากคนหมู่มากมาร่วมประชุมและมีมติอย่างหนึ่งอย่างใด ก็จะเป็นเรื่องของเสียงพรรคการเมืองไป ไม่ใช่เสียงของประชาชนที่เขาได้ศึกษาได้ฟังคนอื่นพูด ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งจะได้ประชามติตามความต้องการของประชาชน แต่เมื่อถึงคราวที่พรรคการเมืองจะต้องมีบทบาท อย่างการเลือกตั้ง นักการเมืองก็จะมาแสดงนโยบายของตัวเอง เพราะฉะนั้นเป็นคนละประเด็นกัน ตนเห็นว่า ที่คสช.ยังไม่เปิดโอกาสในเรื่องของประชามติก็เพราะเหตุนี้ ตอนนี้เรามองว่าเขาเป็นนักการเมือง แต่ถ้ามีการเคลื่อนไหวในลักษณะของกลุ่มการเมืองก็จะเข้าข่ายของการรวมตัวกันเพื่อปลุกปั่นยุยง ส่วนที่พรรคการเมืองต้องการเวลาในการปฏิรูปองค์กรตัวเองนั้น เรื่องนี้ตนคิดว่าสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)ดำเนินการอยู่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับการมาออกเสียงการทำประชามติ แต่ถ้าถึงวาระที่ต้องปรับปรุงพรรคการเมืองก็ต้องฟังเสียงพรรคการเมือง

Advertisement

เมื่อถามว่า ประชาชนยังไม่เข้าใจคำถามพ่วงประชามติ จะทำอย่างไร นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่เข้าใจต้องถาม เรามีวิทยากรออกไปชี้แจง ซึ่งจะอธิบายให้เข้าใจอย่างชัดเจน แต่เท่าที่ตนลงพื้นที่ก็เข้าใจ ซึ่งบางคนก็เห็นด้วย บางคนก็ไม่เห็นด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image