สถาบันกัลยาณ์ฯ ขยายการบริการ หลังผู้ป่วยจิตเวชล้น ‘ยาเสพติด-ไบโพลาร์-ซึมเศร้า’

ภาพจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า จากการศึกษาของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ พบว่า ประเทศไทยมีผู้ต้องขังประมาณ 320,308 คน ซึ่งมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และพบว่า ผู้ต้องขังร้อยละ 36.2 มีปัญหาสุขภาพจิตรวมถึงโรคทางจิต จำแนกเป็นโรคจากสารเสพติด ร้อยละ 21.9 บุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคมร้อยละ 19.1 โรคไบโพลาร์ ร้อยละ 9.1 โรคซึมเศร้าร้อยละ 8.4 โรควิตกกังวลร้อยละ 7.8 โรคจิตร้อยละ 7.7 และเสี่ยงต่อฆ่าตัวตายร้อยละ 7.2 ในรายที่มีโรคทางจิตรุนแรงจะมีมากกว่าประชากรทั่วไปถึง 3 เท่า แต่การเข้าถึงบริการสุขภาพจิตยังเป็นปัญหามาก ทั้งทรัพยากรนักวิชาชีพด้านสุขภาพจิตที่ไม่เพียงพอ ขาดงบประมาณและความรู้ในการจัดการ ทำให้ผู้ต้องขังที่มีความเจ็บป่วยทางจิตอาจก่อคดีซ้ำ ทำให้ครอบครัว และสังคมไม่ปลอดภัย ด้วยเหตุนี้จึงต้องดำเนินการให้การบำบัดดูแล ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ได้ให้บริการผู้ป่วยจิตเวชอย่างต่อเนื่อง โดยทำงานทั้งเชิงรับและเชิงรุก

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ได้ให้บริการผู้ป่วยจิตเวชต่างๆ ทั้งผู้ป่วยนิติจิตเวช ผู้ป่วยสารเสพติด ครอบคลุมทุกช่วงอายุทั้งแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ให้บริการ ผู้ป่วยนอกเฉลี่ยสูงถึง 41,000 รายต่อปี และผู้ป่วยในเฉลี่ย 3,600 รายต่อปี ทำให้สถาบันฯประสบปัญหา จำนวนเตียงผู้ป่วยในไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 185 เตียงเท่านั้น ในขณะที่ความต้องการของประชากรใน 8 จังหวัดที่รับผิดชอบอยู่ที่ 600 เตียง เพื่อรองรับนโยบายไม่ปฏิเสธผู้ป่วยทุกราย แม้ว่าโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในเครือข่ายได้ดำเนินงานตามนโยบายรับผู้ป่วยจิตเวชวิกฤตภายใน 48 ชั่วโมงแล้วก็ตาม แต่ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงมีการปรับปรุง ตึกนิติรักษ์ ซึ่งเป็นตึกผู้ป่วยทั่วไปให้สามารถรองรับผู้ป่วยใน ที่ส่งต่อมาจากเครือข่ายได้เพิ่มขึ้น

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังแก้ปัญหาด้วยการให้บริการเชิงรุกด้านจิตเวชชุมชนในเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งครอบคลุม 8 จังหวัดในภาคกลางตอนล่าง และ 7 เขตทางตะวันตกของกรุงเทพฯ รวมทั้งการดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศ เช่น โครงการวิกฤติสุขภาพจิต(Crisis Mental Health) และงานนิติสุขภาพจิต (Forensic Mental Health) ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพจิตผู้ต้องขังจิตเวช ในเรือนจำ เป็นต้น เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image