มติสนช. รับหลักการกม.จัดซื้อจัดจ้าง เปิดช่องปชช.ร่วมตรวจสอบ-โทษสูงคุกถึง10ปี

มติ สนช. รับหลักการกม.จัดซื้อจัดจ้าง บังคับใช้ทุกหน่วยงานภาครัฐ – เปิดช่องปชช.ร่วมตรวจสอบ

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริการพัสดุภาครัฐ พ.ศ…ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ปัญหาการทุจริตเกิดจากหน่วยงานของรัฐมีระเบียบเป็นของตนเอง บางครั้งการอนุมัติไม่เป็นไปตามระเบียบ ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานกลาง ไม่มีระบบศูนย์กลางจัดซื้อจัดจ้าง ขาดการตรวจสอบ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐมีกรอบการ ปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดเกณฑ์มาตราฐานกลางเพื่อให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งนำไปใช้ปฏิบัติ และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม รวม ทั้งเพื่อให้เป็นหลักธรรมาภิบาล มีการส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วย ซึ่งร่างพ.ร.บ.นี้จะใช้บังคับกับหน่วย งานของรัฐทุกแห่ง องค์การมหาชน องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยธุรการของศาล มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หน่วยงานสังกัดรัฐสภาหรือในกำกับของรัฐสภา หน่วยงานอิสระของรัฐ และหน่วยงานอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้

ทั้งนี้ สำหรับ เนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการ 5 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง และบริหารพัสดุภาครัฐ คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง และบริหารพัสดุภาครัฐ คณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง และบริหารพัสดุภาครัฐต่อคณะรัฐมนตรี ตีความและวินิจฉัยปัญหาข้อหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้มีการผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมเป็นผู้ยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานของ รัฐได้ ต้องเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมบัญชีกลาง ส่วนโทษสำหรับเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยว กับการจัดซื้อจัดจ้าง และบริหารพัสดุ ที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหาร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 4 หมื่นบาทถึง 4 แสนบาท

ผู้สื่อข่าวรายงาน สมาชิกได้อภิปรายสนับสนุนโดยเห็นว่า เป็นร่างที่รวบรวมระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐมาอยู่รวมกัน เพื่อให้มีมาตราฐานเดียวกัน จัดให้มีราคากลาง เปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรับทราบเพื่อให้เกิดการตรวจสอบ โปร่งใส ป้องกันการทุจริต ขณะที่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ สนช. มีข้อท้วงติงว่า เป็นเรื่องที่ต้องมีความระมัดระวัง และต้องปรับให้เข้ากับหน่วยงานของรัฐแต่ละแห่งเพราะแต่ละแห่งก็มีความแตกต่าง ซึ่งอาจมีปัญหาตามมา โดยเฉพาะภาครัฐที่จะเข้าแข่งขันกับภาคเอกชน เช่น การบินไทย ปตท. กรุงไทย จะไม่สามารถเข้าแข่งขันด้านพาณิชย์กับเอกชนได้ เช่น ธุรกิจน้ำมัน ด้านโทรคมนาคม ร้านสะดวกซื้อ ทั้งนี้รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐที่อยู่ต่างประเทศด้วย ที่จะมีระเบียบแตกต่าง แม้จะมีบางเรื่องที่เป็นข้อยกเว้นก็อยากให้มีความชัดเจน

Advertisement

ที่สุดที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการวาระแรกด้วยคะแนนเสียง 166 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 23 คน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image