รองปลัดฯคมนาคมชี้ แบบรถไฟ 3.5 เสร็จภายเดือนนี้ อดีตส.ส.ปชป.-นักวิชาการรุมต้าน!

รองปลัดฯคมนาคมชี้ แบบรถไฟ 3.5 เสร็จภายในเดือนนี้ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการต้าน ลงทุนไม่คุ้มค่า

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 1 กรกฎาคม ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เปิดเผยว่า ความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือไทย-จีน ในขณะนี้เส้นทางแรก กรุงเทพ-นครราชสีมา อยู่ระหว่างการทำผลการศึกษา ซึ่งจะส่งให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณา หากมีความเห็นชอบก็นำไปสู่การพิจารณาในลำดับต่อไป และสำหรับเส้นทางที่ 2 กรุงเทพ-เชียงใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำผลการศึกษาของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเสนอผลการศึกษาได้ภายในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม ในส่วนเส้นทางที่ 3 กรุงเทพ-ระยอง และเส้นทางที่ 4 กรุงเทพ-หัวหิน อยู่ระหว่างการศึกษาผลการศึกษา และรอให้เอกชนเข้ามาลงทุน

“สำหรับความคืบหน้าเฟสแรก เส้นทางกลางดง-ปางอโศก ที่มีระยะทาง 3.5 กิโลเมตร คาดว่าจะเร่งการดำเนินการการออกแบบรายละเอียดทั้งหมด และนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ภายในสิ้นเดือนนี้ และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในเดือนกันยายนตามแผน” นายพีระพลกล่าว

นายสามารถ ราชพลลสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญการขนส่งและจราจร และอดีตผู้ว่าราชการ กทม. เปิดเผยว่า การก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะสั้นนี้ไม่คุ้มค่าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลว่า 1. ควรจะชะลอการก่อสร้าง 3.5 กิโลเมตรนี้ไว้ก่อน ควรจะรอความพร้อมในระยะทาง 250 กิโลเมตรก่อนก็ได้ ทั้งๆ ที่ในความคุ้มค่าแล้วจะต้องสร้างในระยะทางมากกว่านี้ก็ตาม รวมถึงปัจจัยจากการสร้างรถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์ที่อาจจะทำให้ประชาชนตัดสินใจเลือกเดินทางอื่นมากกว่า 2. เทคนิคการก่อสร้างควรจะใช้กล่องคานคอนกรีต 30 เมตร มากกว่าคานคอนกรีต 3-4 เมตรในปัจจุบัน เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างได้รวดเร็วขึ้น 3.ควรจะพัฒนาเมืองและการใช้ที่ดินไปควบคู่กับการสร้างระบบขนส่งสาธารณะ เพราะโครงการที่ผ่านมา อาทิ แอร์พอร์ตลิงค์ เป็นโครงการแบบสแตนด์อะโลน ไม่ได้เชื่อมการระบบการเดินทางอื่นๆ และ 4.ต้องมีมาตรการทางกฎหมายในการจัดเก็บภาษี ในลักษณะ Value Capture เพื่อป้องกันการเก็งกำไรในพื้นที่ รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับการเวนคืน การจัดรูปที่ดิน เพื่อพัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์ทั้งทางคมนาคม และผู้อาศัยใกล้เคียง

Advertisement

นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การลงทุนรถไฟความเร็วสูง จะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการลงทุนรถไฟความเร็วสูง แต่ในขณะนี้ยังมีปัญหาว่า โครงการดังกล่าวขาดความชัดเจนและรายละเอียดของโครงการ ปัญหาประการต่อมาคือ เทคโนโลยีของโครงการรถไฟความเร็วสูงควรเป็นระบบเดียวกัน เพื่อการบำรุงรักษาระบบในระยะยาว การวางแผนเส้นทางรถไฟ ทั้งรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงไม่ควรจะทับซ้อนกัน และประการสุดท้าย ควรจะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโครงการนี้โดยเฉพาะ เพื่อกำหนดรูปแบบการลงทุน เทคโนโลยีใช้งาน และแหล่งเงินทุน ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นหน่วยงานในลักษณะรัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชน

นายสุเมธกล่าวว่า นอกจากนี้แล้ว ควรจะคำนึงจำนวนผู้โดยสารว่ามีปริมาณเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงการบริหารจัดการราคาที่จะทำให้รถไฟความเร็วสูงระยะสั้นนี้แข่งกับการเดินทางรูปแบบอื่น และการสร้างงานในเชิงพาณิชย์และเศรษฐกิจได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image