บิ๊กตู่-คสช.กล่อม’โลก’ ภารกิจยิ่งใหญ่ มิสชั่น อิมพอสซิเบิล

การส่ง นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พร้อมคณะไปยังนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อชี้แจงสถานการณ์ในไทยให้กับยูเอ็นทราบ

เป็นเรื่องของความพยายาม “ดับไฟ”

“ไฟ” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ประเมินว่ามีสาเหตุมาจาก “ความไม่เข้าใจ”

เมื่อต่างชาติไม่เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริงของไทย จึงเป็นหน้าที่ของไทยต้องไปชี้แจงให้เข้าใจ เพื่อ “ดับไฟ” ก่อนจะลุกลามบานปลายหนัก

Advertisement

ดังนั้น เมื่อสัปดาห์ก่อน พล.อ.ประยุทธ์จึงยกหูโทรศัพท์ไปหานายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่ออธิบายสถานการณ์ไทยให้ฟัง

แล้วสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ได้บินลัดฟ้าไปเพื่อเข้าพบและชี้แจง

แก้ไขที่ต้นเหตุ เพื่อให้เกิดผลดีในบั้นปลาย

Advertisement

 

สถานการณ์ประเทศไทยที่ คสช.ตอกย้ำให้ต่างชาติประจักษ์คือ รัฐบาลต้องรักษากฎหมาย

ส่วนกลุ่มบุคคลที่เคลื่อนไหวเรื่องประชามติอยู่ในขณะนี้ทำผิดกฎหมาย จึงต้องดำเนินการ

การกล่าวหา 19 นปช. ที่แถลงข่าวเปิดศูนย์ปราบทุจริตประชามติก็เป็นการกล่าวหาตามกฎหมาย

นั่นคือขัดต่อคำสั่ง ประกาศ คสช. เรื่องการชุมนุมเกิน 5 คน

การจับกุมนักศึกษาที่ออกมารณรงค์เกี่ยวกับประชามติก็ปฏิบัติตามกฎหมาย

กระทำการขัดต่อคำสั่ง ประกาศ คสช. เรื่องชุมนุมเกิน 5 คน

และอาจเข้าข่ายกระทำผิด ขัดต่อกฎหมายประชามติอีกด้วย

รัฐบาลยืนยันทำตามกฎหมาย

แม้แต่กรณี นายวัฒนา เมืองสุข บินไปพบ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า บินออกไปได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่า เป็นเพราะศาลอนุญาตให้บินไปต่างประเทศได้

ทุกอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ไม่เกี่ยวข้อง ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ระบุว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย

หากมีความเคลื่อนไหวที่ผิด เจ้าหน้าที่ก็ต้องจับ

ล่าสุด เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ตัดสินว่า ม.61 วรรคสอง ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นร้องมานั้น ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 แต่อย่างใด

ดูเหมือนกระบวนการจัดการให้ประชามติเป็นระเบียบเรียบร้อยก็ทำงานได้ง่ายขึ้น

แต่ผลกระทบที่ต่างชาติมองกลับมา…อาจเป็นปัญหา

 

ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมาความคิดเห็นและความเคลื่อนไหวตามกฎหมายที่ คสช.ดำเนินการอยู่นั้น ต่างชาติมักส่งสัญญาณ “เห็นต่าง” กลับมาให้ทราบอยู่เนืองๆ

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์โทรศัพท์ไปหานายบัน คี มุน รุ่งขึ้นยูเอ็นออกแถลงการณ์ สนับสนุนให้ไทยเดินตามโรดแมป คืนประชาธิปไตยแก่ประชาชน

พร้อมทั้งขอให้ไทยเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นในการทำประชามติ

แนะนำให้ห้วงเวลาก่อนทำประชามติ เป็นห้วงเวลาเปิดเสรีให้สามารถคิดสามารถพูดได้

คิดและพูดที่จะรับก็ได้ คิดและพูดที่จะไม่รับก็ได้

นั่นหมายความว่า การรณรงค์ก่อนการลงประชามตินั้นทำได้

คำสั่งและประกาศ คสช. เรื่องห้ามชุมนุมเกิน 5 คนก็เป็นคำสั่งที่คณะปฏิวัติออกมา

พ.ร.บ.ประชามติที่สามารถเอาผิดกลุ่มรณรงค์ประชามติก็ออกมาจาก สนช. ซึ่ง คสช.แต่งตั้ง

ดังนั้น “กฎหมาย” ในความหมายของ คสช. กับ “กฎหมาย” ในความหมายของนานาชาติ ในกรณีนี้อาจแตกต่าง

ท่าทีของ คสช.และรัฐบาล กับท่าทีของต่างประเทศในกรณีเดียวกันจึงไม่เหมือนกัน

ไทยกับต่างชาติมองต่างกัน

 

การมองเห็นที่แตกต่างระหว่างไทยกับต่างชาติ มีความสำคัญ

เพราะประเทศไทยมิอาจยืนอยู่ได้โดยลำพังในโลก

ปรากฏการณ์ เบร็กซิท ที่อังกฤษประชามติออกจากสหภาพยุโรป ส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

ที่ผ่านมา การฝ่าฝืนมาตรฐานของโลก ทำให้ไทยอยู่อย่างลำบากมากขึ้น

กรณีมาตรฐานการบิน ไอเคโอ กรณีมาตรฐานการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ เทียร์ 3 และกรณีมาตรฐานอื่นๆ ของโลกนั้นเป็นตัวอย่างให้เห็น

ล่าสุด ไทยได้รับข่าวดี เมื่อสหรัฐอเมริกาปลดไทยพ้นจากเทียร์ 3 โดยปรับให้ขึ้นไปอยู่เทียร์ 2

แค่นั้นก็ทำให้ประมงไทยและธุรกิจส่งออกตีปีก เพราะการปลดไทยพ้นเทียร์ 3 ย่อมหมายถึงโอกาสการค้าในโลก

โอกาสในการค้า ย่อมหมายถึงรายได้ของประเทศ

และหมายรวมถึงเศรษฐกิจไทย

 

ขณะเดียวกัน การดำรงอยู่ในโลกยังจำเป็นต้องมีมิตร

ปรากฏการณ์กรณีโหวตเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในยูเอ็นเอสซีล่าสุด สะท้อนภาพไทยในโลกได้เพิ่มเติม

เมื่อไทยแข่งขันกับคาซัคสถาน ปรากฏว่า ผลการลงคะแนน…ไทยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ 138 ต่อ 55 เสียง

แม้คาซัคสถานจะมีสถานการณ์ในประเทศย่ำแย่ การละเมิดสิทธิเสรีภาพหนักกว่าไทย แต่เพราะเหตุใดไทยจึงพ่ายแพ้

เหตุใดมิตรของไทยจึงหันไปโหวตให้คาซัคสถาน

เป็นการบ้านที่กระทรวงต่างประเทศต้องตอบและแก้ไข

 

จากปรากฏการณ์ของโลกที่กระทบกับไทย ทำให้คำแนะนำจากนานาชาติในเรื่องประชามติมีความสำคัญ

คำแนะนำจากสหประชาชาติและองค์กรสากลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงมีมาต่อเนื่อง

แม้เสียงจากต่างประเทศจะไม่มีผลทางกฎหมายต่อไทย แต่ความเคลื่อนไหวของต่างชาติในเรื่องนี้ย่อมมีพลัง

การประชามติแม้จะมีรูปแบบคือเปิดทางให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ

แต่กระบวนการก่อนการใช้สิทธิก็เป็นปัจจัยที่ต่างชาติจับตามอง

เช่นเดียวกับ “กฎหมาย” แม้จะมีความสำคัญ แต่กระบวนการออกกฎหมายก็สำคัญไม่น้อย

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาการของสหรัฐอเมริกา อาการจากสหภาพยุโรป หรือความเคลื่อนไหวของสหประชาชาติ

ทุกความเคลื่อนไหวย่อมมีความหมายต่อไทย

ดังนั้น คสช.และรัฐบาล คงต้องตั้งเป้าหมายสำหรับการออกไป “กล่อมโลก” ต้องดูว่าที่สุดแล้วไทยต้องการอะไร

ไทยต้องการให้โลกปรับตัวเข้าหาเรา…

หรือต้องการให้ไทยปรับตัวเข้าหาโลก…

เป้าหมายเช่นว่านำไปสู่วิธีการปฏิบัติ และทำให้คาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะออกมา

คาดการณ์ได้ว่า ในที่สุดแล้วโอกาสสำเร็จกับล้มเหลว อะไรมีมากกว่ากัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image