อดีตเลขาฯ สกอ.-อธิการบดี-นักวิชาการ หนุนใช้ ม.44 จัดการเฉพาะมหา’ลัยที่ไร้ธรรมาภิบาล

นายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยกรณีที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย ซึ่งคาดว่าจะมีรายชื่อมหาวิทยาลัยที่อยู่ในคำสั่งล็อตแรกไม่เกิน 4 แห่ง ว่า หากดูจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง อาจมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรา 44 เข้ามาแก้ไข เพราะโดยหลักการแล้วมหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระในการบริหาร เนื่องจากมี พ.ร.บ.ของตัวเอง ทำให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่สามารถเข้าไปจัดการได้หากเกิดปัญหาขึ้น แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยใช้อำนาจหน้าที่ที่มีตาม พ.ร.บ.ไม่ถูกหลักการ อาทิ เมื่อฝ่ายบริหารมีปัญหา สภามหาวิทยาลัยกลับนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ดูแล ทำให้การบริหารระส่ำระสาย แตกออกเป็น 2 ฝ่าย หรือฝ่ายบริหาร และสภามหาวิทยาลัย ใช้ระบบสภาตั้งอธิการบดี และอธิการบดีตั้งสภา เป็นทีมฮั้วกันเข้ามาสร้างปัญหาทุจริตในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นปัญหาธรรมาภิบาลที่ทำให้เสียหายมาก

“ดังนั้น รัฐบาลควรใช้มาตรา 44 จัดการเป็นกรณีๆ ไป แต่อย่าลืมว่าเมื่อใช้มาตรา 44 สะสางแล้ว ในอนาคตหากไม่มีมาตรา 44 จะจัดการอย่างไรให้ระบบการบริหารมหาวิทยาลัยกลับมาเข้มแข็งเช่นเดิม ทั้งนี้ ทราบว่ามีความพยายามที่จะยกร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. … แต่มีมหาวิทยาลัยบางแห่งคัดค้าน เพราะในร่าง พ.ร.บ.อาจมีบทบัญญัติให้ สกอ.เข้าไปจัดการปัญหาในมหาวิทยาลัยได้ อย่างไรก็ตาม ต้องมาดูเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาว่าจะมีหลักประกัน หรือหลักถ่วงดุลเรื่องความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยอย่างไร เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีส่วนในการรับผิดชอบต่อสังคม หรือมีระบบที่ไปจัดการเรื่องธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยได้” นายภาวิชกล่าว

นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และในคณะอนุกรรมาธิการอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา ได้หารือเรื่องนี้ เห็นว่าหากจะใช้มาตรา 44 เพื่อเข้าไปแก้ไขเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาธรรมาภิบาล ก็เห็นด้วย แต่หากจะใช้ในกฎหมายเข้าไปกำกับดูแลมหาวิทยาลัยในภาพรวมนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะมหาวิทายลัยส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาธรรมาภิบาล และหากใช้กฎหมายเข้ามากำกับดูแล จะกระทบกับการพัฒนาการจัดการศึกษาในอนาคต

นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า เดิมรัฐมนตรีว่าการ ศธ.จะขอใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้ามาแก้ไขปัญหามหาวิทยาลัยทั้งระบบ โดยให้อำนาจ กกอ.กำกับดูแลมหาวิทยาลัยทั้งระบบได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย โดยเสนอให้ใช้อำนาจดังกล่าวดูแลเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีปัญหา ซึ่งมีอยู่เพียง 4-5 แห่ง จากมหาวิทยาลัยทั้งหมด 170 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าน้อยมาก อีกทั้ง ยังมีกลไกที่กำกับดูแลมหาวิทยาลัยในภาพรวมได้โดยไม่ต้องใช้มาตรา 44 อาทิ หลักสูตร หากเห็นว่ามหาวิทยาลัยใดมีปัญหา สกอ.ก็เข้าไปจัดการได้ ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่ารัฐมนตรีว่าการ ศธ.เข้าไปดูแลได้ในกรณีที่เกิดปัญหา

Advertisement

นางนงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.) กล่าวว่า ทราบจากข่าวจะใช้มาตรา 44 กับมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลเท่านั้น ส่วนมากปัญหาเรื่องนี้จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดี และนายกสภา รวมถึง ปัญหาเรื่องทุจริต ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถให้หน่วยงานภายนอก อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้ามาตรวจสอบได้ ดังนั้น หากมหาวิทยาลัยใดมีปัญหาแต่ใช้กฎหมายปกติจัดการได้ ก็ควรใช้กฎหมายปกติ ส่วนมหาวิทยาลัยใดมีปัญหาใหญ่ และใช้กฎหมายปกติแก้ไขไม่ได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ก็ควรใช้ ส่วน มอบ.นั้นมั่นใจว่าไม่มีปัญหาในเรื่องธรรมาภิบาล เพราะปัญหาที่เคยเกิดขึ้นได้ยุติหมดแล้ว

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากใช้มาตรา 44 กับมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาจริงๆ จะเหมาะสม แต่ถ้านำไปใช้กับทุกมหาวิทยาลัยจะขัดแย้งกับวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย แต่มาตรา 44 จะหยุดปัญหานี้ได้แค่ชั่วคราว ภาพรวมในอนาคตจะเกิดขึ้นอีกหลายมหาวิทยาลัย ดังนั้น ควรใช้ร่าง พ.ร.บ.การอุมศึกษา พ.ศ. … เข้ามาเสริม และร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวควรเกิดในรัฐบาลชุดนี้ ทั้งนี้ มองว่าคณะกรรมการ กกอ.และ สกอ.ยังขาดความเข้าใจตรงกันในการแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาล เชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะการกระจายอำนาจให้สภา และการรายงานปัญหาในมหาวิทยาลัย เป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ดังนั้น สกอ.ต้องเพิ่มบทบาทอำนาจหน้าที่ เชื่อมความสัมพันธ์ โดยลงไปตรวจสอบให้มากกว่านี้ อาทิ เรื่องการบริหารงาน นโยบายการรับนิสิตนักศึกษา จำนวนอาจารย์ การจัดการหลักสูตรพิเศษ การเพิ่มค่าหน่วยกิต เป็นต้น นอกจากนี้ ปัญหาธรรมาภิบาลส่วนหนึ่งมาจากมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ จะมองการพึ่งตนเองเป็นหลัก โดยเน้นหารายได้ เพิ่มจำนวนยอดนักศึกษา โดยอำนาจในการจัดสรรผลประโยชน์ จะกระจุกอยู่กับคนบางกลุ่ม และมีการบริหารการเงินกันเอง

“สรุประบบไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในบางมหาวิทยาลัย จะเป็นเชื้อให้มหาวิทยาลัยอื่นทำตาม ผมคิดว่าปัญหาธรรมาภิบาลมีมากกว่า 3 มหาวิทยาลัย แต่เราไม่สามารถเจาะเข้าไปดูได้ว่ามีมหาวิทยาลัยใดบ้าง เพราะเราไม่มีกลไกลตรวจสอบ” นายสมพงษ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image