‘บิ๊กตู่’ขู่คนจ้องล้มประชามติ อย่าลองของ ขอดูพฤติกรรม ก่อนปลดล็อกพรรคการเมือง (คลิป)

“บิ๊กตู่” ขอดูพฤติกรรมพรรคการเมืองหลังประชามติ จะปลดล็อกจัดกิจกรรมได้หรือไม่ แจงศูนย์ รปภ.ประชามติเป็นของเดิมตั้งแต่ 22 พ.ค. ขู่พวกจ้องป่วน อย่าลองของ วอนสื่อ ปชส.ให้ ปชช.รู้วันประชามติ ซัด “นักการเมือง” กลัว รธน.เพราะห้ามคนโกงกลับมา ปิดตาย คำขอผ่อนปรนคำสั่ง คสช.

เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 5 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอให้ปลดล็อกพรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้หลังจากมีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ว่า “เดี๋ยวค่อยว่ากัน ทุกอย่างผมบอกแล้วว่าจะรับไว้ทั้งหมดทุกเรื่อง ส่วนจะทำเมื่อไรเดี๋ยวผมจะตัดสินใจอยู่ อย่างไรก็ตามฝ่ายที่เสนอขอผมมาเช่นนี้ก็ต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจให้ผมบ้าง” เมื่อถามย้ำว่าแต่ข้อเสนอดังกล่าวเป็นในส่วนของ สปท.เอง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แล้ว สปท.คือใคร จัดตั้งมาจากไหน ผมจัดเองทุกพวกหรือ ไม่ว่าจะพวกใครก็อยู่ในนั้นทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของนักการเมืองที่จะมีการหารือกันก็มีการยกเลิกแล้วทั้งหมด พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในเมื่อเขายกเลิกไปแล้วสื่อจะมาถามอีกทำไม จะให้เขาทำใหม่หรืออย่างไร วันนี้ คสช.ก็ยังไม่ให้หารือ ไม่ให้มีการประชุมพรรคอะไรทั้งสิ้น เมื่อถามย้ำว่า หลังวันที่ 7 สิงหาคม เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีการผ่อนปรน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าความประพฤติดีก็ต้องดูก่อน วันนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างหรือยัง ที่ดีก็มีมาก ที่ไม่เปลี่ยนก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงเหมือนเดิม วันนี้อย่าให้ตนแก้ปัญหาเพียงคนเดียว ขอให้แก้ที่ตัวเองกันด้วย

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้แผนการสร้างความปรองดองของรัฐบาลและ คสช. ยังคงมีอยู่หรือไม่ เพราะช่วงปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะถูกเบรกไว้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “เราเคยไปเปิดเวทีเรียกมาก็ยังไม่ฟังกันเลย ทุกคนก็ยังยืนยันอยู่ที่เดิมหมด มันก็ยาก ไม่ใช่ผมเป็นคนไม่ปรองดอง แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องทำกันต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้” เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่ายังไม่มีแผนชัดเจนใช่หรือไม่ จะปรองดองกันอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ผมขอถามพวกคุณว่า รักกฎหมาย รักกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ และขอถามว่า ทุกคนมีความเชื่อมั่นกับกฎหมายที่มีอยู่หรือไม่ ไม่เชื่อกันเพราะผมบังคับใช้กฎหมายไม่ยุติธรรมหรืออย่างไร พวกคุณไม่เชื่อผมก็เป็นเรื่องของคุณ”

เมื่อถามว่า ฝั่งที่ต้าน คสช.มองว่าการดำเนินงานของ คสช.นั้น 2 มาตรฐาน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปฏิเสธทันทีว่า “ไม่เอาแล้ว ขี้เกียจตอบ” เมื่อถามว่า ที่นายกรัฐมนตรีระบุบางคนดีขึ้น แต่บางคนยังเหมือนเดิมนั้นหมายถึงใคร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “มันคนละพรรค ถามกันจนได้ ผมไม่ได้รังเกียจใครเลย เพียงแต่ก็เห็นอยู่ว่าใครทำบ้าง ก็รู้อยู่ แล้วก็พัวพันถึงเหตุการณ์ปี 2551, 2553 แล้วก็ยังปล่อยให้เขาทำอยู่ได้ เรื่องแบบนี้ถ้าคิดว่าอยู่แล้วมีความสุขแบบนั้นก็เอา มีข่าวเขียนทุกวัน 51, 53 ระเบิดกันโครมๆ ทุกคนเป็นคนกำหนดชะตากรรมของบ้านเมืองเอง มีสิทธิคนละ 1 เสียง ผมก็มี 1 เสียงเช่นกัน ผมก็ไปเลือกของผม ลงประชามติผมก็ต้องไปลง ผมไม่เคยบิดพลิ้ว ถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน แต่มันเป็นเรื่องของผมว่าผมจะเลือกใคร เป็นเรื่องของผมที่จะลงมติรับหรือไม่รับ เขาไม่ได้ให้ไปดูในคูหา เดี๋ยวผิดกฎหมาย เมื่อถามย้ำว่าพรรคไหนที่มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้อนถามว่า “ไม่รู้หรืออย่างไร ไปหาเอาเอง ไม่ต้องมาถามให้เป็นเรื่องเลย ให้ไปถามเรื่องความก้าวหน้าของบ้านเมืองบ้าง ส่วนที่มาถามกับผมมันเป็นเรื่องความขัดแย้งทั้งสิ้น”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวชี้แจงถึงการตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยทั่วประเทศ เพื่อดูแลการลงประชามติ ว่า ไม่ได้เป็นการตั้งใหม่ แต่ทาง คสช.มีศูนย์ในการรักษาความสงบอยู่แล้ว เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชนทุกจังหวัด กอ.รมน.จังหวัดก็มี โดยกองทัพแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ หากมีการกระทำผิดกฎหมายก็นำสู่กระบวนการยุติธรรม ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ดูแลการเลือกตั้ง และการทำประชามติอยู่แล้ว โดยมีศูนย์ติดตามทำมาตลอด แต่ทั้งหมดนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 ส่วนด้วยกันคือ คสช., มหาดไทย และ กกต. โดย กกต.มีหน้าที่อำนวยการในคูหาเลือกตั้ง ส่วนมหาดไทยจะอยู่ใกล้คูหา เพราะใกล้ชิดประชาชน ก็จะจัดเจ้าหน้าที่ไปช่วยในการลงประชามติ ส่วนทหาร ตำรวจ พลเรือนจะอยู่รอบนอก ในคูหาไม่เกี่ยว ไม่ใช่เขตทหาร หรือเขตใครทั้งสิ้น กกต.จะเป็นผู้รับผิดชอบ และตนก็ไปเกี่ยวข้องไม่ได้ ถ้าใครไปทำให้เกิดความวุ่นวาย ก็มีกฎหมายอยู่แล้ว หากทำผิดกฎหมายประชามติ ก็นำแจ้ง กกต. เพื่อพิสูจน์ว่าผิดหรือถูก ถ้าเกิดความวุ่นวายตีกัน คสช.จะดู

“ศูนย์นี้มีมาตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 ตั้งโดยคำสั่ง คสช. คำสั่งกฎอัยการศึกมีมานานแล้ว ดูแลทุกเรื่องที่เป็นเรื่องความสงบปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน และทำหน้าที่มาทุกอัน ไม่ได้แยกว่าส่วนนี้ทำเลือกตั้ง ส่วนนี้ทำประชามติ แต่ดูทุกเรื่องทุกวัน หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมก็นำส่งไป ก็จบแค่นั้น คสช.จะไปเกี่ยวอะไรได้ ขณะที่ส่วนของ กอ.รมน.ก็มีมาก่อนหน้านี้ ส่วนฝ่ายทหารมี กอ.รมน.จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็น ผอ.รมน.จังหวัด ดูแลความสงบเรียบร้อยในจังหวัดของเขา จากนั้นก็ขึ้นกับ กอ.รมน.ภาค โดยมีแม่ทัพภาคดูแลอยู่ จากนั้นก็เข้าสู่ กอ.รมน.ใหญ่ มีนายกฯเป็น ผอ.รมน.ใหญ่ ซึ่งมันมีอยู่แล้วจะไปตั้งอะไรเยอะแยะ ไม่ว่าจะโกง ทะเลาะกัน หรืออะไรต่างๆ หน่วยงานพวกนี้มีหน้าที่ดูแลอยู่แล้ว ถ้าใครเห็นว่าจะมีการโกงก็หาพยานหลักฐานไปแจ้งศูนย์ที่มีอยู่เพื่อส่งไปสู่กระบวนการยุติธรรม” นายกฯกล่าว

เมื่อถามว่าศูนย์ที่มีอยู่จะสร้างความกดดันต่อประชาชนในช่วงทำประชามติหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า จะกดดันเรื่องอะไร ก็ไปสร้างความเข้าใจผิดๆ ตนบอกเหรอว่าต้องรับหรือไม่รับ คุณจะรับหรือไม่รับก็เรื่องของคุณ ไม่ใช่เรื่องของตน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ตนไม่ได้เป็นคนร่างเอง แต่มีหน้าที่ดูแลให้เกิดความปลอดภัยต่อทุกคน

เมื่อถามว่าเวลานี้มีทั้ง คสช., มหาดไทย, กกต.ร่วมดูแลสถานการณ์ มั่นใจหรือไม่จะไม่มีใครล้มการทำประชามติได้ นายกฯกล่าวว่า ต้องไปถามคนล้ม อย่ามาถามตน เพราะไม่ต้องการให้ล้มอยู่แล้ว แต่ตนไม่มั่นใจคนเหล่านั้นที่จะล้ม ก็อย่าลองของ แค่นั้นเอง กฎหมายมีอยู่ ตนจะบังคับใช้กฎหมาย ทำไมจะต้องกังวลไม่กังวล แล้วถามว่าเขากลัวกันไหม ก็เห็นมีคนเดือดร้อนอยู่ไม่กี่คน ก็ไปเชื่อไปตามบิดเบือนเขาอยู่ได้

“ผมกดดันคุณหรือเปล่า ผมสั่งคุณว่าให้ไปผ่านหรือไม่ผ่านให้ผมหรือเปล่า คุณก็ไปเขียนวิเคราะห์ ถ้าไม่ผ่านแสดงว่าอยากอยู่ต่อ ปั๊ดโธ่ เขียนกันอยู่นั่นแหละ ต้องมองประเทศชาติว่าจะทำยังไงกันต่อ ผมพร้อมทุกอย่างอยู่แล้ว โรดแมปก็มีของผมอยู่ แล้วใครล่ะจะล้มโรดแมป ผมเองไม่รู้จะตอบยังไง” นายกฯกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ผลโพลชี้ว่าประชาชนจำนวนมากยังไม่ทราบวันประชามติที่แน่นอน นายกฯกล่าวว่า พูดมาตลอด ผมพูดทุกวันว่าหน้าที่ของประชาชนคือการลงประชามติ แต่ประชาชนจำนวนมาก 60-70% เขาสนใจแต่ปากท้องเขา เขาหาเงินอยู่ เศรษฐกิจก็ยังแย่อยู่ เขาก็ต้องหาเลี้ยงปากท้องเขา เลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ก็แล้วแต่เขา ความผิดของผมหรือ ที่เขาไม่สนใจ จะทำอย่างไรเมื่อเขาไม่สนใจ ผมก็พูด ครู ก. ข. ค. ก็มีพูด แต่เขาไม่เข้าใจอีกจะให้ทำอย่างไร เป็นหน้าที่สื่อมวลชนที่จะต้องทำความเข้าใจกับเขา ไม่ใช่อะไรก็โยนมาผมหมดทุกเรื่อง

เมื่อถามว่าตรงนี้เป็นเพราะว่าฝ่ายที่รับกับไม่รับไม่สามารถออกมารณรงค์ได้อย่างเต็มที่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ก็กฎหมายว่าอย่างไร ก็มีการอธิบายแล้วว่าตรงไหนดีไม่ดี ถ้าเห็นว่าไม่น่าเชื่อ ก็ไม่ต้องไปรับ ก็มีอยู่สิ่งเดียวที่นักการเมืองทุจริตเข้ามาไม่ได้ มีเรื่องเดียวเท่านั้นเอง นั่นคือประเด็น ถ้าอยากให้คนที่ทำความผิด ศาลตัดสินแล้วยังเข้ามาได้อีก ก็ตามใจ ก็ไปว่าเอารัฐธรรมนูญฉบับต่อไป ถ้าต้องทำใหม่

เมื่อถามว่าที่ผ่านมีการดำเนินการบางกรณีที่ไม่ผิดกฎหมายประชามติแต่ไปผิดคำสั่ง คสช. จะมีผ่อนปรนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็ไปดูว่าวัตถุประสงค์การรณรงค์คืออะไร ล้มกับไม่ล้ม แล้วมันผิดกฎหมายประชามติหรือเปล่า ถ้า กกต.บอกไม่ผิด ก็ไปรับผิดชอบกันเอาเอง ถ้าเกิดวุ่นวาย กกต.ก็ต้องรับไปแล้วกัน ผมจะคอยดูอยู่ข้างนอก เป็นเรื่องของ กกต.ที่จะบอกว่าไม่ผิดประกาศ กกต. แต่ผิดคำสั่ง คสช. ทำไมถึงทำเงียบกันไม่ได้หรือ กลัวอะไรนักหนา ไม่ลงประชามติก็จบแล้ว จะลงอะไรก็เรื่องของแต่ละคนไป

“มากลัวอะไรผม ผมกดดันอะไร กดดันนักการเมืองใช่หรือไม่ เขาต้องการการเลือกปีนี้ เดี๋ยวนี้ ผมถามว่าแล้วที่เขาทำความเสียหายมา เขารับผิดชอบหรือยัง”

เมื่อถามว่ามีโอกาสจะผ่อนคลายคำสั่ง คสช.หรือไม่ นายกฯตอบสวนทันทีว่า “ไม่มี ยังไม่มี เขามีใครเปลี่ยนแปลงให้ผมหรือไม่ ชื่อเดิมๆ มีใครเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือไม่ มีมั้ย ตอบมาสักคน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image