ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มอบ ป.เอก “ทองลุน สีสุลิด” นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว

เมื่อตอนบ่ายวันที่ 6 ก.ค. นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชาชนลาว ได้เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เพื่อรับปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดการ) ที่สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคอีสานมีมติมอบให้

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีว่า ในนามสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กระผมมีความยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับ ฯพณฯ ดร.ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมด้วยคณะอันประกอบด้วยรัฐมนตรี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำประเทศไทย และผู้บริหารระดับสูงจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เนื่องในโอกาสที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และได้เดินทางมายังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เพื่อรับมอบปริญญา บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์(การจัดการ) ที่สภามหาวิทยาลัยมีมติเป็นเอกฉันท์มอบให้แด่ท่านในวันนี้
นับเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และนำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่คณะผู้บริหาร คณาจารย์ พนักงานเจ้าหน้าที่และเหล่านักศึกษาของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง

ทองลุน

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน

Advertisement

ผมได้รับเกียรติอย่างสูงที่ได้รู้จักท่านนายกรัฐมนตรี ทองลุน สีสุลิด มานานเกือบ 30 ปี ตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีของไทย ฯพณฯ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ในช่วงปี ค.ศ.1988 – 1991 และท่านนายกรัฐมนตรีทองลุนฯ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ ผมยังประทับใจในความคิดริเริ่ม การกล้าตัดสินใจ และความสามารถในการบริหารจัดการต่าง ๆ ของท่าน ที่นำไปสู่ความเข้าใจอันดีงาม สันติสุข และความร่วมมือระหว่างประเทศ และประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง แม้ท่านจะไม่เคยแสดงตนต่อสาธารณะ แต่ผมก็ชื่นชมอยู่ในใจเสมอว่าท่านนายกรัฐมนตรีทองลุนฯ มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในกัมพูชา และกระบวนการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งเมียนมาร์ ไทย สปป.ลาว เวียดนาม และกัมพูชา อย่างมีนัยยะสำคัญในขณะนั้น

ผมได้ติดตามบุคลิกและการทำงานของท่านนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด มาตลอด ด้วยความชื่นชมในคุณความดี ความรู้ความสามารถในด้านการกำหนดนโยบายสาธารณะ ความสามารถด้านการบริหารจัดการบ้านเมือง ความเป็นนักการทูตฝีมือเยี่ยม และความสม่ำเสมอในมิตรไมตรีอันอบอุ่น อันเป็นที่น่าสรรเสริญยิ่ง

ช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ท่านก็ได้ให้เกียรติผมและภริยา ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์  เสถียรไทย และแม้ว่าผมจะไม่มีตำแหน่งใด ๆ ในรัฐบาล แต่ท่านก็ได้กรุณาแวะมาพบปะเยี่ยมเยียนในฐานะมิตรสหายเก่าแก่ที่บ้านพักของผม ที่จังหวัดเชียงราย และในฐานะประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย (APRC) ผมได้มีโอกาส
เข้าเยี่ยมคารวะท่าน ทั้งที่กรุงเวียงจันทน์และที่กรุงเทพมหานคร เพื่อหารือเรื่องการสร้างสันติภาพและความร่วมมือในเอเชีย ซึ่งท่านก็ได้กรุณาให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ทุกครั้ง

Advertisement

ทองลุน02

ในวันนี้ ท่านได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผมจึงมีความยินดีอย่างยิ่ง และมีความมั่นใจอย่างสูงสุดว่า ท่านนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด จะนำพา สปป.ลาวให้มีความเจริญก้าวหน้า และประชาชนชาวลาวให้มีความสุขสถาพรและในฐานะที่ท่านดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ ผมจึงมีความมั่นใจว่าด้วยบุคลิกส่วนตัวและความรู้ความสามารถของท่าน ที่ทุก
คนและผมได้ประจักษ์มาตลอดเกือบ 30 ปีนั้น จะนำพาให้ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและประชากรกว่า 600 ล้านคน มีสันติสุข เจริญรุ่งเรือง และเป็นภูมิภาคของอิสรภาพ เสรีภาพ และสันติภาพอันอุดม เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศทั้งในและนอกอาเซียนสืบไป

เมื่อผมได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานเมื่อเดือนมกราคม 2558 ผมยินดีที่ได้รับทราบว่า ทั้งศูนย์กลางของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน คือที่จังหวัดนครราชสีมา และที่วิทยาเขตในจังหวัดสุรินทร์ สกลนคร และขอนแก่นนั้น ได้มีโครงการความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อ สปป.ลาว หลายโครงการ สภามหาวิทยาลัยฯ ชุดที่ผมเป็นนายกสภาฯ นี้ได้ย้ำเป็นนโยบายเสมอว่า มหาวิทยาลัยฯ จะต้องให้ความสำคัญในความร่วมมือกับทุกองคาพยพของประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ สปป.ลาว

ทองลุน03

การที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านเทคโนโลยี เน้นผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ มีความใกล้ชิดกับชุมชนในภาคอีสาน และการเป็นมหาวิทยาลัยฯ ที่มีคณาจารย์กว่า 1,000 ท่าน พนักงานเจ้าหน้าที่อีกประมาณ 1,000 คน และนักศึกษาเกือบ30,000 คน และมีสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานทั้ง 4 จังหวัด รวมจังหวัดที่ 5 คือทุ่งกุลาร้องไห้ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ชุมชนมอบที่ดินให้แก่มหาวิทยาลัยฯ เกือบ 2,000 ไร่ เพื่อทำการศึกษาวิจัยนั้น ย่อมทำให้มหาวิทยาลัยฯ มีศักยภาพที่จะให้ความร่วมมือกับ สปป.ลาวไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ ข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรม และนักศึกษา สปป.ลาว การจัดโครงการอบรมระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว การนำผลงานวิจัยไปใช้ในพื้นที่เกษตรและอุตสาหกรรมของ สปป.ลาว โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการเกษตรและวิศวกรรมศาสตร์ไปประยุกต์ รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับงานของศูนย์ลาวศึกษา วิทยาลัยระบบราง ศูนย์ซ่อมอากาศยาน สถาบันชุณหะวัณเพื่อพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืนที่รับผิดชอบโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (SMEs Startup) จำนวน 3,000 รายจากรัฐบาลไทย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมที่จะดำเนินการต่อไปภายใต้การสนับสนุนด้านนโยบายของ
สภามหาวิทยาลัย และการดำเนินงานภายใต้การนำของท่านอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง และผู้บริหาร คณาจารย์ทุกท่าน

ผมมีความเชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยจะสามารถเป็นประโยชน์ในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ของ สปป.ลาวภายใต้นโยบายและการนำของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ทองลุน สีสุลิด เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนต่อไป

ทองลุ่น04

ส่วนคำกล่าวสดุดีเกียรติคุณโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ระบุว่าดร. ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชาชนลาว เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2488 ที่บ้านนาซอน แขวงหัวพัน
ในด้านการศึกษาจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ณ วิทยาลัยสร้างครู ศูนย์กลางแนวลาวรักษาชาติ แขวงหัวพัน เมื่อปี พ.ศ. 2512 จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านภาษาศาสตร์และวรรณคดี จากสถาบันครุศาสตร์เกอร์เซน (GERZEN Pedagogy Institute) นครเซนส์ปีเตอร์สเบิร์ก สหภาพโซเวียต เมื่อปี พ.ศ. 2521และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ด้านประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากสถาบันสังคมวิทยา (Academy of Social Science) สหภาพโซเวียต เมื่อปี พ.ศ. 2528 ซึ่งส่งผลให้ ดร.ทองลุนมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะทางด้านภาษารัสเซีย ภาษาเวียดนาม และภาษาอังกฤษ เป็นอย่างดี

ในระหว่างที่ยังศึกษาอยู่ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ดร.ทองลุน ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ที่แผนกการศึกษา ศูนย์กลางแนวลาวรักชาติแขวงหัวพัน ในปี พ.ศ.2510 และได้เข้าประจำการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับสูง ณ สำนักงานแนวลาวรักชาติ ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ในปี พ.ศ.2512

เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทจากสหภาพโซเวียต ดร.ทองลุน ได้นำความรู้และทักษะด้านภาษาศาสตร์และวรรณคดีกลับมาพัฒนาประเทศ โดยได้เข้ารับตำแหน่งอาจารย์และหัวหน้าสาขาวิชาภาษารัสเซีย ณ มหาวิทยาลัยเวียงจันทน์ และด้วยผลงาน ความรู้ความสามารถอันโดดเด่นทางด้านภาษาต่างประเทศ และประสบการณ์การศึกษาและทำงานในต่างประเทศ ดร.ทองลุนจึงได้รับการแต่ง
ตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายพูมี วงวิจิต) และดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิเทศสัมพันธ์ กระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ.2522 และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอธิบดีกรมรวบรวมข้อมูล สำนักงานนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ด้วยวัยเพียง 40 ปี

ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ดร.ทองลุน ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2530 และได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจนถึงปี พ.ศ. 2535 ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมในปี พ.ศ. 2536 รวมทั้งได้รับความไว้วางให้คำรงตำแหน่งคณะกรรมการประจำสมาชิกสภาแห่งชาติ ชุดที่ 4 และประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ในเวลาต่อมา

ในระหว่างปี พ.ศ. 2544-2549 ดร.ทองลุน ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งด้านการบริหารประเทศที่สำคัญหลายตำแหน่ง ได้แก่ ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการการวางแผนและการลงทุน ประธานคณะกรรมการคุ้มครองการลงทุน และประธานคณะกรรมการแห่งชาติลาวด้านพลังงาน และสมาชิกในสภาแห่งชาติลาว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างดียิ่ง

ดร.ทองลุนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 ในขณะที่ ดร.ทองลุน ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั้น ได้ปรากฏผลงานการส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวกับนานาชาติเป็นที่ประจักษ์ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวกับประเทศไทยในทุกระดับ รวมทั้งได้ส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวกับนานาประเทศ จนส่งผลให้เศรษฐกิจของลาวมีการเติบโตก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและมั่นคง

ดร.ทองลุน ได้รับการแต่งตั้งจากสภาแห่งชาติลาวให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559 โดยเป็นผู้นำประเทศที่มีวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นในการผลักดันการพัฒนาประเทศให้มีความเป็นสากล มีความสามารถในการบริหารจัดการงานราชการในด้านต่าง ๆ และมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการนำพาความเข้มแข็งสู่ประชาคมอาเซียน และพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนและมีสันติภาพ กอปรกับเป็นผู้นำประเทศที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่น่ายกย่องและควรยึดถือเป็นแบบอย่างอันดีสำหรับผู้บริหาร

ด้วยเหตุนี้ สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ในการประชุม ครั้งที่ 7/2559 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2559 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติปริญญา บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดการ) แด่ ฯพณฯ ดร.ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อเป็นเกียรติประวัติ และเป็นการเชิดชูคุณงามความดีให้เป็นที่ประจักษ์สืบไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image