พลเมืองเน็ต-แอมเนสตี้ บุกสภาฯยื่น4หมื่นชื่อ ชะลอพ.ร.บ.คอมฯ-หยุด Single Gateway

“พลเมืองเน็ต-แอมเนสตี้” บุกสภาฯ ยื่น 40,000 รายชื่อ ขอสนช. ชะลอพิจารณาร่างพ.ร.บ.คอม ชี้ มีปัญหาจำกัดสิทธิ์ – ทำให้ข้อมูลส่วนตัว ปชช.ไม่ปลอดภัย

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 กรกฎาคม ที่รัฐสภา ตัวแทนเครือข่ายพลเมือง นำโดยนายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต และนางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ทำกิจกรรมบริเวณหน้ารัฐสภา โดยยืนถือป้ายที่มีข้อความอาทิ “Stop Single Gateway!”, “อย่ามา สอด(แนม)”, “ม.14 หมิ่นประมาท ไม่ควรเป็นโทษอาญา” พร้อมแสดงสัญลักษณ์คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากนั้นเข้ายื่น 40,000 รายชื่อ ที่ร่วมกันรณรงค์ออนไลน์ผ่าน change.org “หยุด Single Gateway หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล” ต่อ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 โดยเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มีปัญหาในแง่การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งจะรบกวนการทำงานของระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ปลอดภัย

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ…. หรือร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นหนึ่งใน “ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล” ที่องค์กรภาคประชาชน 6 องค์กร และประชาชนมากกว่า 22,000 คน เคยเข้าชื่อเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณา และรัฐบาลรับปากจะแก้ไขให้ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งปี พร้อมกับกระแสข่าวที่กระทรวงไอซีทีเสนอแนวคิด “Single Gateway” เพื่อให้ควบคุมข้อมูลจากต่างประเทศได้สะดวกขึ้น โดยร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ดังกล่าวถูกปรับปรุงแล้วส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 21 เมษายน คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบในวันเดียวกัน พร้อมทั้งส่งต่อให้ สนช.พิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยมีมติเอกฉันท์รับหลักการ และส่งต่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา

“ดังนั้น ทางเครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้ สนช.ได้ทบทวนและแก้ไขร่างกฎหมาย 3 มาตราที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยพิจาณาแก้ไขร่างมาตรา 14 ให้มีความรัดกุมชัดเจน แก้ไขร่างมาตรา 15 และ 20 ให้การออกมาตรการใดๆ ที่จะกระทบสิทธิเสรีภาพโดยทั่วไปของประชาชนจะต้องผ่านกระบวนการการพิจารณาของรัฐสภาเท่านั้น และพิจารณาตัดมาตรา 20 (4) ออกจากร่างนี้” นายอาทิตย์ กล่าว

Advertisement

ขณะที่ นางปิยนุช กล่าวว่า มีความกังวลอย่างยิ่งต่อเนื้อหาในบางมาตรา ที่อาจปิดกั้นสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกทางอิเล็กทรอนิกส์และสิทธิในความเป็นส่วนตัวของประชาชน ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมและการคุ้มครองตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีสิทธิที่จะมีเสรีภาพและสิทธิความเป็นส่วนตัวควรได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเป็นประเทศภาคีมาตั้งแต่ปี 2539 หน้าที่ของทางการไทยจึงเป็นการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่การพยายามปิดกั้นอย่างที่เป็นอยู่

ด้าน นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้มารับหนังสือจากนายพรเพชร ให้มารับหนังสือ ซึ่งก็คงจะนำไปหารือต่อประธาน สนช. และคงต้องนำเรื่องสู่เข้าที่ประชุมวิปสนช. ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งนี้จะนำข้อมูลที่ได้ไปแจกให้สมาชิกเพื่อประกอบการอภิปรายในวาระที่ 2 และ 3 พร้อมทั้งอยากให้กลุ่มพลเมืองเน็ตเข้าไปชี้แจงกับคณะกรรมาธิการที่พิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อที่จะได้เข้าใจยิ่งขึ้น

7

Advertisement

9

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image