สามารถ ชำแหละ รถไฟเร็วสูงกทม.-โคราช ขาดทุนยับแน่ วอนชงบิ๊กตู่เลิกด่วน!

วันนี้ (8 กรกฎาคม) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ หัวข้อ ผงะ! ผลการศึกษารถไฟความเร็วสูงโคราช ระบุว่า จากกรณีที่รัฐบาลจะสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252 กิโลเมตร โดยจะเริ่มสร้างในระยะ 3.5 กิโลเมตรก่อน ซึ่งแสดงถึงความไม่พร้อม โดยเฉพาะเมื่อวิเคราะห์จากตัวเลขผู้ใช้ ที่จะมีคู่แข่งทั้งจากรถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ เชื่อว่ารถไฟความเร็วสูงจะขาดทุนอย่างมากแน่นอน จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีทราบข้อมูลดังกล่าวและยกเลิกโครงการ

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักถึงแนวคิดแปลกประหลาดของกระทรวงคมนาคมที่มีแผนจะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะแรกเพียงแค่ 3.5 กิโลเมตรเท่านั้น จากระยะทางทั้งหมด 252 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมของกระทรวงคมนาคม เพราะถ้ามีความพร้อมจริงก็คงไม่ก่อสร้างเป็นระยะทางสั้นๆ แค่นี้ ที่น่าห่วงก็คือ ก่อสร้างเสร็จแล้วก็ไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ แถมยังจะต้องเสียค่าบำรุงรักษาอีก ที่สำคัญ หากไม่สามารถก่อสร้างต่อได้ก็จะเสียของ ดีไม่ดีจะกลายเป็นโฮปเวลล์ 2

หลายคนประสานเป็นเสียงเดียวกันว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีโอกาสขาดทุนสูง เพราะไม่เชื่อว่าจะมีผู้โดยสารมากพอ เนื่องจากมีคู่แข่งที่น่ากลัวอันประกอบด้วยรถไฟทางคู่ ขนาดรางกว้าง 1 เมตร และมอเตอร์เวย์ ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างในแนวเส้นทางเดียวกับรถไฟความเร็วสูง เพื่อคลายข้อสงสัยดังกล่าวผมจึงขอนำผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา มาเล่าให้ฟังดังนี้

กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาความเป็นได้ภายใต้ชื่อ “โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา” ซึ่งมีผลการศึกษาออกมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 หรือเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญดังนี้

Advertisement

1. ค่าก่อสร้าง (รวมงานทุกระบบ และค่าเวนคืน) 192,002 ล้านบาท ปัจจุบันได้ปรับลดลงเหลือประมาณ 180,000 ล้านบาท

2. อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 80 บาทต่อคนต่อเที่ยว บวกกิโลเมตรละ 1.80 บาท ดังนั้น ค่าโดยสารจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252 กิโลเมตร จะเท่ากับ 533 บาทต่อคนต่อเที่ยว (80+1.8×252) หากเดินทางไม่ถึงนครราชสีมาก็เสียค่าโดยสารลดน้อยลงตามระยะทาง การคิดอัตราค่าโดยสารเช่นนี้ สนข. ยืนยันว่าจะทำให้มีรายได้มากที่สุด กล่าวคือ หากเพิ่มค่าโดยสารขึ้นก็จะทำให้มีผู้โดยสารลดลง ส่งผลให้มีรายได้ลดตามลงด้วย ในทางกลับกัน หากลดค่าโดยสารลงก็จะทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น แต่รายได้จะลดลง

3. จำนวนผู้โดยสารในปีแรกที่เปิดให้บริการคือปี พ.ศ.2567 สนข.คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 14,700 คนต่อวัน หรือ 5.3 ล้านคนต่อปี และคำนวณรายได้จากค่าโดยสารได้ 2,243 ล้านบาท โดยมีสมมติฐานว่าผู้โดยสารบางส่วนลงที่สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี หรือสถานีปากช่อง ไม่ได้เดินทางถึงสถานีนครราชสีมาทุกคน

Advertisement

4. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา ค่าใช้จ่ายพลังงาน ค่าจ้างพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ) รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปีแรกที่เปิดให้บริการคิดเป็น 3,778 ล้านบาท

5. หากต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย 2% ต่อปี จากจำนวนเงินกู้หรือค่าก่อสร้าง 180,000 ล้านบาท จะต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย 3,600 ล้านบาทต่อปี

6. ดังนั้น การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะทำให้รัฐบาลต้องแบกภาระการขาดทุนปีละ 5,135 ล้านบาท (รายได้ 2,243 ล้านบาท – ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 3,778 ล้านบาท – ค่าดอกเบี้ย 3,600 ล้านบาท) ซึ่งเงินจำนวนนี้ก็เป็นเงินจากภาษีของเราทุกคน

ผมไม่ทราบว่านายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รายงานผลการศึกษาที่สำคัญนี้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับทราบหรือไม่ หากท่านนายกฯ ประยุทธ์ ได้ประจักษ์ถึงตัวเลขการขาดทุนเช่นนี้ ท่านอาจจะยกเลิกโครงการนี้ก็ได้ จริงมั้ยครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image