ไม่จบ! เครือข่ายสุขภาพฯ เชื่อล้ม ‘ประทีป’ นั่งเลขาฯสปสช. เหตุต้องการตัดแขนขา ‘บัตรทอง’

จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิดหลังกรณี “นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ” ผู้สมัครเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ชวดตำแหน่ง เหตุเพราะคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) ไม่รับรองตำแหน่งนั้น จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มติบอร์ดมีปัญหา ถึงขนาดนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และประธานบอร์ดฯ ต้องมาชี้แจงสร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ สปสช. รวมทั้งนพ.ประทีป ด้วยนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม เครือข่ายพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน โดยนพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ “ล้มกระดานการเลือกเลขาธิการ สปสช.คือการบันไดก้าวแรกของการล้มบัตรทอง” โดยระบุว่า การล้มการเลือกเลขาธิการ สปสช.ในวันที่ 4 กรกฎาคม แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในทุกทางที่จะยึด สปสช.อยู่ในการควบคุมกำกับของสายอำนาจนิยมของกระทรวงสาธารณสุขให้จงได้ ด้วยการยึดตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.ก่อน ให้ได้คนที่สั่งได้ ซึ่งเป็นบันไดก้าวแรกที่สำคัญที่สุด เมื่อการสรรหาผิดแผนที่รัฐมนตรีวางไว้ เหลือชื่อ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เพียงชื่อเดียวที่ผ่านการสรรหาและมีคุณสมบัติครบ จึงต้องล้มกระดาน เพราะหากยึดกุมตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.ไม่ได้ บันไดขั้นต่อไปก็จะเดินหน้าได้ยากยิ่ง

สำหรับบันไดขั้นต่อไปนั้นที่สำคัญมากก็คือ การแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2545 ซึ่งประธานกรรมาธิการสาธารณสุขของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ เป็นหัวขบวน และได้เปิดเผยสาระการแก้ไขมาชัดเจน ซึ่งจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพนั้นกลายเป็นระบบอนาถา สุขภาพจะไม่ใช่สิทธิสมกับชื่อบัตรทองอีกต่อไป กล่าวคือ 1. จะให้แยกเงินเดือนออกจากงบบัตรทอง การรวมเงินเดือนตลอด 15 ปีตามพ.ร.บ.ฯทำให้เงินเดือนบุคลากรเป็นต้นทุนขององค์กร ได้เกิดการกระจายบุคลากรลงสู่ชนบทอย่างไม่เคยมีมาก่อน การจะแยกเงินเดือนกลับไปตั้งที่ สธ.จะทำให้คนย้ายกลับไปกระจุกที่โรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก็จะขาดบุคลากรอีกครั้ง มีบัตรทองแต่ไม่มีบุคลากรจะดูแลก็เท่ากับการล้มบัตรทองนั่นเอง

2. การจะเปลี่ยนสัดส่วนคณะกรรมการบอร์ด โดยจะเขียนใหม่ให้มีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขถึง 7 คนในบอร์ดและให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธานคนที่ 1 ซึ่งเท่ากับการยึดบอร์ดนั่นเอง เมื่อยึดได้ทั้งเลขาธิการ ยึดได้ทั้งบอร์ด ระบบหลักประกันสุขภาพก็จะมาอยู่ในมือของสายอำนาจนิยมและการแพทย์พาณิชย์นิยมอย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อยึดกุมแล้วก็เปลี่ยนสาระภายใน มีเพียงเปลือกนอกที่ยังเรียกบัตรทอง แต่เนื้อหาภายในนั้นเปลี่ยนไปจากการเป็นรัฐสวัสดิการเพื่อคนไทย นี่ก็คือการล้มบัตรทองนั่นเอง ดังนั้น แม้จะไม่ได้ล้มบัตรทองแบบเลิกไป แต่คือการล้มด้วยการเปลี่ยนไส้ในตัดแขนตัดขาให้ง่อยเปลี้ยอ่อนแรงนั่นเอง

Advertisement

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการ สปสช. สัดส่วนผู้แทนองค์กรเอกชน กล่าวว่า ที่ต้องคัดค้านการลงมติ เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการประชุมของสปสช.เพื่อคัดเลือกเลขาธิการนั้น มีบัตรลงคะแนน 1 ใบ ทำสัญลักษณ์เครื่องหมายถูกแทนเครื่องหมายกากบาท ทำให้มีการตีความว่า บัตรดังกล่าวเป็นบัตรเสียหรือไม่ และเป็นเหตุให้อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้
1. การดำเนินการลงคะแนนใช้ระบบการลงคะแนนลับ ขณะที่ลงคะแนน มีการฉาย LCD ให้ใช้เครื่องหมายกากบาท (X) บนจอตลอดเวลาและเขียนชัดเจนในบัตรลงคะแนน สะท้อนว่าคนที่ใช้สัญลักษณ์ “ขีดถูก” ไม่สอดคล้องกับกติกา จะเป็นบัตรที่ดีได้อย่างไร นักกฎหมาย สปสช. ที่จัดการลงคะแนนก็บอกกับพวกเราชัดเจนว่าเป็นบัตรเสีย แต่ไม่กล้าพูดในที่ประชุม 2. เมื่อมีการถกประเด็นนี้ ประธานได้ถามหาเจ้าของบัตร ไม่มีผู้ใดยอมแสดงตัว จนกระทั่งประธานสั่งให้มีการลงมติรับรองเจตนารมณ์ของบัตรดังกล่าว ที่ประชุมใช้เวลาถกประเด็นนี้นานเกือบ 1 ชั่วโมงจึงมีกรรมการท่านหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า “ถ้าผมพูดว่า ผมเป็นเจ้าของบัตร ที่ประชุมจะเชื่อหรือไม่ว่า ผมไม่รับรอง” ซึ่งภายหลังการประชุมกลับมีกรรมการอีกคนอ้างว่าตัวเองเป็นเจ้าของบัตร 3. คำถามคือ การลงมติยืนยันเจตนารมณ์ของบุคคลอื่น ในการใช้สัญลักษณ์ “ขีดถูก”ทำได้หรือไม่ เพราะกรรมการที่ไปรับรองว่าบัตรนั้นเป็นบัตรดี เท่ากับเป็นการรับรองการตัดสินใจของบุคคลอื่น ซึ่งทำไม่ได้

“4. ที่ประชุมยังใช้เสียงข้างมากด้วยการโหวต ไม่ให้บันทึกเสียงข้างน้อยในสรุปมติที่ประชุม แต่ให้ไปใส่ไว้ในรายงานการประชุมเท่านั้น 5. ในประเด็นที่มีข้ออ้างว่า หากที่ประชุมคัดเลือกผู้สมัครแล้วได้คะแนน 14:13 จะไม่สามารถทำงานได้เพราะเสียงต่างกันเพียงหนึ่งคะแนนเท่านั้น ในอดีตการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช. สมัย นพ.สงวน นิตยารัมพงศ์ สมัยที่ 2 ก็ได้รับเลือกภายใต้คะแนนที่ประธานต้องชี้ขาด ยังสามารถบริหารสำนักงานได้เป็นอย่างดี 6. กรรมการหลายคนพยายามเสนอให้ประธานลงคะแนนตัดสินใจ หรือให้ดำเนินการลงคะแนนลับอีกรอบ เพื่อแก้ปัญหาบัตรเสีย แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ประธานเพียงแต่บอกว่า เสียงข้างมาก(ซึ่งรวมบัตรเจ้าปัญหาดังกล่าว)ไม่รับรองแล้ว ประธานไม่จำเป็นต้องลงคะแนนชี้ขาด” น.ส.สารี กล่าวและว่า ตนและนางสุนทรี เซ่งกิ่ง และน.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการสปสช. ได้รวบรวมประเด็นเหล่านี้ และส่งผ่านยังโซเชียลเพื่อหวังชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้ต้องการสร้างความแตกแยก แต่แค่รู้สึกว่า ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง
การออกมาชี้แจงครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการปกป้องตัวบุคคล แต่ต้องการให้กระบวนการคัดเลือกเลขาธิการเป็นไปอย่างถูกต้อง และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image