กกต. พอใจยอดขอใช้สิทธินอกเขตพุ่ง ยันไม่มีรธน.ปลอม แค่เอกสารเห็นแย้ง

แฟ้มภาพ

กกต.พอใจยอดปชช.ขอใช้สิทธิประชามตินอกเขตจังหวัด หลังตัวเลขสูงกว่าปี50 – เผยให้องค์กรสังเกตการณ์ตปท.เข้าหน่วยออกเสียง อ้างไม่มีส่วนได้เสีย – ยันไม่มีรธน.ปลอม ชี้ เอกสารเห็นแย้งไม่หยาบคาย – ปลุกระดม แค่เสี่ยงหมิ่นประมาท ระบุ ปธ.กกต.มอบผู้บริหารแจงศาลปกครอง 11 ก.ค.นี้

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 8 กรกฎาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงถึงจำนวนผู้ขอลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด ว่า กกต.ได้ปิดการลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัดไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ปรากฏว่า มียอดผู้ขอใช้สิทธิจำนวน 325,229 คน แบ่งเป็นยื่นผ่านสำนักทะเบียนอำเภอ/ท้องถิ่น จำนวน 167,252 คน ยื่นผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จำนวน 157,977 คน โดยตัวเลขดังกล่าวนับเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นมาจากการออกเสียงประชามติเมื่อปี 2550 จำนวน 82,767 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 35 โดยผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ทางเว็บไซต์ khonthai.com ของกระทรวงมหาดไทย หรือตรวจสอบจากแอพพลิเคชั่นดาวเหนือ รวมทั้งตรวจสอบได้จากประกาศบัญชีรายชื่อหน้าหน่วยออกเสียงตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคมเป็นต้นไป

นายสมชัย กล่าวต่อว่า ส่วนการขอเข้ามาสังเกตการณ์วันออกเสียงประชามติขององค์กรต่างประเทศนั้น แม้กกต.ไม่ได้เชิญ แต่ยินดีต้อนรับทุกประเทศ โดยขณะนี้มีติดต่อเข้ามา จำนวน 3 ประเทศ คือ ติมอร์-เลสเต ภูฏาน และเนปาล และมีองค์กรระหว่างประเทศ 2 องค์กร ได้แก่ เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (อันเฟรล) และ มูลนิธิเอเชีย (เดอะ เอเชีย ฟาวเดชั่น) ซึ่งเบื้องต้นจะมีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติจำนวน 28 คน หากประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศใด ต้องการที่จะเข้าร่วมสังเกตการณ์ขอให้ติดต่อมายังกกต.อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนวันออกเสียงประชามติ

“ตัว พ.ร.บ.ประชามติไม่ได้กำหนดให้องค์กรสังเกตการณ์ในประเทศเข้าไปในหน่วย แต่ผู้ร่วมสังเกตการณ์ขององค์ระหว่างประเทศสามารถเข้าไปในหน่วยออกเสียงได้ เนื่องจากเป็นวิธีปฏิบัติที่ทำมาต่อเนื่อง และถือว่าไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการออกเสียงครั้งนี้ อีกทั้งยังมีจำนวนไม่กี่คน แต่ถ้าเป็นองค์กรในประเทศนั้นจะมีคนจำนวนมากอาจเป็นหมื่นคนที่จะเข้าไปในหน่วยออกเสียงจนทำให้เกิดความวุ่นวายได้” กรรมการกกต.กล่าว

Advertisement

นายสมชัย กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่เอกสารความเห็นแย้งสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ เล่มที่ 2 ว่า ตนเห็นว่าเป็นเพียงเอกสารความเห็นแย้งที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งทำขึ้นมา ไม่ถือว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญปลอมหากใช้คำนี้อาจทำให้เข้าใจผิดเพราะไม่ได้มีรัฐธรรมนูญปลอมแต่อย่างใด เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบของสำนักงานกกต. เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบของฝ่ายสืบสวน แต่เท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้น เห็นว่า ไม่มีคำหยาบคายหรือปลุกระดม ส่วนจะมีข้อความใดที่เป็นเท็จหรือไม่ ต้องให้ทางกรธ.พิจารณาชี้ประเด็นว่าหน้าไหน บรรทัดใดเป็นเท็จ หากกรธ.ทำหนังสือมายังกกต.ก็จะดำเนินการต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ตนอ่านแล้วก็มีความวิตกเหมือนกันเพราะเห็นว่ามีบางข้อความที่อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทบุคคลหรือหน่วยงานของรัฐบางหน่วย ก็เป็นเรื่องของบุคคลหรือหน่วยงานนั้นหากเห็นว่าหมิ่นประมาทก็ไปแจ้งความดำเนินคดีเอง

นายสมชัยกล่าวอีกว่า นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. ได้มอบหมายให้ผู้บริหารด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ และผู้บริหารสำนักกฎหมาย สำนักงานกกต. ไปชี้แจงต่อศาลปกครอง ในวันที่ 11 กรกฎาคม เวลา 09.00 น.กรณีที่กลุ่มโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ยื่นขอให้เพิกถอนประกาศกกต.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 รวมทั้งขอให้ระงับการออกอากาศของรายการ 7 สิงหาประชามติร่วมใจ ทั้งนี้ ขอชี้แจงว่า ขณะนี้ศาลปกครองยังไม่ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา แต่การเรียกไปไต่สวนในครั้งนี้ก็เพื่อพิจารณาว่ารับจะหรือไม่รับเรื่องดังกล่าว ดังนั้นขั้นตอนนี้จึงยังไม่มีความจำเป็นที่กรรมการกกต. ต้องไปชี้แจงด้วยตัวเอง แต่หลังจากวันที่ 11 กรกฎาคมนั้น การพิจารณาของศาลปกครองก็อาจจะมีได้ 3 แนวทาง คือ 1.ศาลปกครองไม่รับคำร้อง เรื่องนี้ก็จะจบ 2.รับและไต่สวนแล้วเห็นว่าประกาศกกต.ดังกล่าวไม่ผิด และ3.ไต่สวนแล้วเห็นว่าประกาศกกต.นี้ผิดและขอให้กกต. เพิกถอนประกาศดังกล่าว รวมทั้งระงับรายการ 7 สิงหาฯ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลออกมาแนวทางใด กกต.ก็พร้อมที่จะน้อมรับคำตัดสินของศาลปกครอง หากเห็นว่าผิดกกต.ยินดีที่จะยกเลิกประกาศและรายการดังกล่าว แต่ขอถามว่าทางกลุ่มไอลอว์จะน้อมรับคำตัดสินหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image