คนชั้นกลางไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ด้วยเหตุใดไม่ทราบ ผมอ่านบทความเรื่อง “สังคมตายด้าน” ของคุณใบตองแห้งในข่าวสดแล้ว ผ่าไปคิดเรื่องคนชั้นกลางไทย มันจะเกี่ยวกันอย่างไร ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

คนชั้นกลางหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเกิดขึ้นในสังคมไหนๆ ก็มักจะเติบใหญ่ ทั้งปริมาณและคุณภาพ คือมีจำนวนคนชั้นกลางเพิ่มขึ้น และมีฐานะทางเศรษฐกิจ-สังคมสูงขึ้น มันก็มีสะดุดบ้างเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เช่นเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำใน ค.ศ.1929 และต้นทศวรรษ 1930 คนชั้นกลางอเมริกันตกงานจนพากันหิวโหย เพราะแทบไม่มีอะไรกิน แต่ต่อมาก็พ้นวิกฤต สั่งสมความมั่งคั่งและจำนวนขึ้นไปอีก จนถึงทศวรรษ 1950 ก็บรรลุความฝันอันสูงสุดของคนชั้นกลางอเมริกัน

ผมอยากเปรียบเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งของไทยใน ค.ศ.1997 ที่คนชั้นกลางตกงานจำนวนมาก ต้องลงมาขายแซนด์วิชข้างถนน หรือเอาของส่วนตัวมาวางขายในเปิดท้ายขายของ แต่ไม่กี่ปีต่อมา วิกฤตนั้นก็คลายลง คนชั้นกลางไทยกลับมามีมาตรฐานการครองชีพที่ดีอย่างเดิมได้อีก

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา แม้ว่าจำนวนของคนชั้นกลางอเมริกันยังเพิ่มสูงขึ้น แต่มาตรฐานการครองชีพกลับต่ำลงเรื่อยๆ และจนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่มีสัญญาณว่าจะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ นี่ไม่เหมือนวิกฤตเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเสียแล้ว เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว แต่ส่อว่าหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานเลยแล้ว ชะตากรรมของคนชั้นกลางก็จะไม่มีวันหวนกลับมารุ่งโรจน์อย่างเก่าอีก

Advertisement

ปรากฏการณ์เช่นนี้ยังไม่เกิดกับคนชั้นกลางไทย หรือถึงเกิดแล้วก็ยังมองเห็นได้ไม่ชัด คนชั้นกลางไทยยังสามารถฝันด้วยความฝันเก่าในแบบฉบับของคนชั้นกลางต่อไปได้ ฉะนั้นหากคนชั้นกลางไทยจะหันกลับไปมองชีวิตของตนเองหรือตระกูลของตนเอง ก็จะพบว่า มันมีแต่ขึ้นๆ ไปเรื่อย จากรุ่นทวด, ปู่, พ่อ มาแล้ว และด้วยเหตุดังนั้นจึงพึงคาดหวังได้ว่า รุ่นลูกและหลานก็จะยิ่งขึ้นๆ ไปอีก

นี่คือความฝันในแบบฉบับของคนชั้นกลาง ชีวิตย่อมดีขึ้น จากชั่วอายุคนหนึ่งไปสู่อีกชั่วอายุคนหนึ่ง ที่เหนื่อยยากแสนสาหัสมาก็เพื่อสร้างฐานให้ลูกหลานใช้เป็นจุดกระโดดให้สูงขึ้นไปกว่าตัวเอง

นี่เป็นคนกลุ่มแรกในประวัติศาสตร์ ที่คิดและเชื่ออย่างมั่นใจว่า ลูกของตนจะดีกว่าตน คิดเหมือนกันว่า ลูกจะดีเท่ากับตัว

Advertisement

แม้ความฝันนี้อาจพังสลายไปในสังคมอื่นๆ หลายสังคมแล้ว แต่ยังอยู่กับคนชั้นกลางไทยจนถึงทุกวันนี้ คนชั้นกลางไทยทุกคนยังมีไม้คานของก๋ง เลี่ยมทองหรือปะทองแขวนไว้ในห้องรับแขก หรือในใจของตนทั้งนั้น เป็นเครื่องเตือนใจว่าลูกหลานจะต้องไม่มีไม้คานบนบ่าอีกเลย

การลงทุนที่สำคัญของคนชั้นกลางไทยนับแต่เปิดประเทศคือการลงทุนด้านการศึกษาของลูก จึงจับจองตำแหน่งในกลุ่มวิชาชีพไว้ นับตั้งแต่เสมียนไปจนถึงแพทย์, ผู้พิพากษา, นายทหาร, ข้าราชการในกรมกองต่างๆ ฯลฯ ที่น่าสังเกตก็คือเข้าสู่วงการธุรกิจอุตสาหกรรมไม่มากนัก ในระยะแรกลูกเจ้าสัวรับงานของบิดามาทำต่อมากกว่าเสียเวลาในโรงเรียนนานๆ การศึกษากับการทำธุรกิจอุตสาหกรรมจึงแยกจากกัน

จุดพลิกผันหนึ่งที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์คนชั้นกลางไทยก็คือ เมื่อเจ้าสัว ซึ่งเป็นเถ้าแก่โรงสีบ้าง นายธนาคารบ้าง ประสบการขาดทุน เนื่องจากธุรกิจการค้าข้าวของตนไม่ครบวงจร เช่นไม่ได้ออกเงินกู้แก่ชาวนากว้างขวางนัก ไม่ได้เป็นผู้ส่งออกข้าวโดยตรง ฯลฯ ภาวะขาดทุนนี้เกิดขึ้นประมาณกลาง ร.5 เจ้าสัวเหล่านี้หันมาลงทุนกับการศึกษาของบุตรหลานแทน ที่ยังพอมีทุนเหลืออยู่มากบางคนถึงกับส่งลูกหลานไปศึกษาต่อในยุโรปและสหรัฐ ลูกหลานเจ้าสัวเหล่านี้กลับเข้ามาครอบครองตำแหน่งบริหารในระบบราชการ ซึ่งมีความมั่นคงกว่า แม้ไม่มั่งคั่งอู้ฟู่เท่าบรรพบุรุษ

กว่าการศึกษาของลูกหลานเจ้าสัวจะเชื่อมต่อกับระบบการผลิตของบรรพบุรุษก็หลังนโยบายพัฒนาของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไปแล้ว จึงทำให้เกิดการเชื่อมต่อกับทุนต่างชาติ ขยับการผลิตขึ้นมาสู่เทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้น (รวมภาคบริการ เช่น ธนาคารและโรงแรมด้วย) จึงทำให้เกิดการจ้างงานคนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่ผ่านการศึกษาเข้ามาสู่กิจการของตนได้ เปิดตลาดงานของคนชั้นกลางให้กว้างขวางขึ้นกว่าราชการ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องการย้ำในที่นี้ก็คือ แม้คนชั้นกลางไทยไม่รวยอู้ฟู่อย่างรวดเร็วเหมือนคนชั้นกลางหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป แต่ก็มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นตลอดมา ภายใต้ระบอบการเมืองทุกชนิด คือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตย สลับด้วยเผด็จการทหาร

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ โดยไม่เกี่ยวกับระบบการเมืองประเภทใดทั้งสิ้น คนชั้นกลางไทยสามารถปรับปรุงสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมตนเองให้สูงขึ้นได้ตลอดมา

นี่อาจเป็นเหตุผลที่คนชั้นกลางไทยไม่มีสำนึกผูกพันกับระบบการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีระบบคุณค่าทางการเมืองใดๆ ที่เขาเห็นว่าต้องต่อสู้รักษาไว้ หรือต่อสู้ให้ได้มา ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ตัวการเมืองเองนั่นแหละที่อาจใช้เป็นทางไต่เต้าสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมได้ ไม่ว่าจะมีระบบคุณค่าทางการเมืองอย่างไรก็ตาม

แต่ผมคิดว่าสถานการณ์ของคนชั้นกลางไทยได้เปลี่ยนไปแล้วในบัดนี้ ตกมาถึงชั่วอายุคนที่สาม (จะเป็นชั่วอายุคนที่สองหรือสี่ก็ได้ อย่าติดกับเลขสามเกินไป) เมื่อครอบครัวสร้างฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมได้มั่นคงขึ้นแล้ว ภารกิจการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ใช่ภารกิจของบุคคลในหมู่คนชั้นกลางไทยอีกต่อไป

ด้วยเหตุดังนั้น เราจึงพบคนหนุ่มสาวจากครอบครัวคนชั้นกลางที่เข้ามามีบทบาททางสังคม, การเมืองและวัฒนธรรมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พวกเขาแฝงตัวอยู่ในเสื้อสีการเมืองทุกสี, ในวงดนตรีไทยเดิมและวงดนตรีอินดี้, ในวิถีชีวิตฮิปสเตอร์ และในวิถีชีวิตไทยประเพณี

สังคมไทยกำลังเปลี่ยนผ่าน ไม่เฉพาะแต่คนชั้นกลางระดับล่างหรือคนชนบทซึ่งกลายเป็นเมืองที่มีบทบาทเปลี่ยนไปเท่านั้น แม้ในคนระดับชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปก็เปลี่ยน ผมเชื่อว่าหากหันไปศึกษาคนชั้นล่างในภาคการผลิตอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรม ก็จะพบความเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยเหมือนกัน

การเมืองที่มุ่งจะกำกับการเปลี่ยนผ่านจึงเป็นไปไม่ได้ ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านนั้นเป็นไปได้โดยสงบ หรือมีความรุนแรงน้อยที่สุดเท่านั้น และเงื่อนไขดังกล่าว ไม่มีอะไรดีไปกว่าประชาธิปไตย ทั้งทางการเมือง, เศรษฐกิจ, และสังคมเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image