‘ออมสิน’ยอมไม่หักประกันกู้ปลดหนี้ รีไฟแนนซ์ไม่เกิน7แสนบ.20ปี-ดอกเบี้ย4% เริ่มปลายก.ค.นี้

นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินมาตรการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามข้อเสนอของธนาคารออมสิน ที่ใช้เงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ซึ่งทายาทจะได้รับในอนาคตเมื่อสมาชิกเสียชีวิตมาค้ำประกัน การอนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมให้แก่ผู้กู้ที่เป็นข้าราชการครูฯ หรือรีไฟแนนซ์หนี้ ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารออมสินได้หารือร่วมกับผู้อำนวยการกองทุน ช.พ.ค.และได้ข้อสรุปร่วมกัน โดยภาพรวมหลักเกณฑ์การกู้จะเป็นไปตามที่ธนาคารออมสินเสนอมา อาทิ คุณสมบัติของผู้กู้ในระยะแรก จะต้องเป็นผู้ที่มีวินัยทางการเงินดี ไม่เคยติดค้างชำระเงินกู้ อายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี แต่ต้องไม่เกิน 75 ปี กรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 700,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 อายุสัญญาเงินกู้ 20 ปี แต่ในการนำร่องปล่อยกู้ระยะแรก จะเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่จะไม่ต้องทำประกันชีวิตเพื่อประกันวงเงินกู้ ซึ่งธนาคารออมสินยอมรับตามข้อตกลงที่ ศธ.เสนอ ซึ่งตนจะรายงานเรื่องดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.รับทราบ ก่อนลงนามในบันทึกข้อตกลง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ปลายเดือนกรกฎาคมนี้

“สาเหตุที่ไม่ให้ทำประกันเงินกู้ เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.กังวลว่าเงินที่จะไปตัดยอดหนี้เดิมจะหายไป เพราะต้องเสียเงินค่าทำประกันชีวิต ซึ่งมาตรการลดภาระหนี้ครูครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ที่มีวินัยทางการเงินดี เพราะหากครูเข้าร่วมในมาตรการนี้แล้วยังมีเงินเหลือใช้ ผมก็อยากให้ใช้เงินส่วนต่างที่เหลือจากการลดดอกเบี้ยไปโปะเงินต้น เพื่อที่หนี้จะได้ลดเร็วขึ้น แต่หากไม่มีเงินเหลือใช้พอ ก็นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้” นายพินิจศักดิ์กล่าว

นายพินิจศักดิ์กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ สกสค.มีข้อเสนอให้ธนาคารออมสินหักเงินจากผู้กู้ที่ผิดนัดชำระเงินกู้ และธนาคารออมสินได้หักเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษโครงการ ช.พ.ค.เพื่อชำระแทนผู้ที่ค้างชำระติดต่อกัน 3 งวดไปแล้ว คืนให้ สกสค.นั้น ธนาคารออมสินได้ตอบกลับมาว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เบื้องต้นธนาคารออมสินจะทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ที่ธนาคารออมสินหักเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ไปแล้ว ให้ติดต่อมายัง สกสค.หรือธนาคารออมสิน เพื่อจัดการปัญหาหนี้สินที่ค้างอยู่ และเข้ารับการพิจารณาเข้าร่วมมาตรการรีไฟแนนซ์หนี้กับธนาคารออมสินในระยะต่อไป ซึ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 60,000 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image