สยบลือ! ส.ป.ก.ตรวจแล้ว ที่ดินจ่อทวงคืนไร้ชื่อ ทักษิณ-สุเทพ-เอกชนเกษตรรายใหญ่

วันนี้ (13 ก.ค.) นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.โดยมิชอบด้วยกฎหมายว่า ขณะนี้ส.ป.ก.ได้ทำการตรวจสอบรายชื่อผู้ครอบครองที่ดินส.ป.ก.ที่กำลังอยู่ในระหว่างการทวงคืน พบว่า ไม่มีรายชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้งคนในตระกูลชินวัตร และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ถือครองที่ดินส.ป.ก.แต่อย่างใด ส่วนรายชื่อที่เป็นนิติบุคคล อาทิ บริษัทเอกชนด้านการเกษตรรายใหญ่ของประเทศ บริษัทผู้ผลิตปาล์มรายใหญ่ในภาคใต้ และกลุ่มผู้ประกอบการต่างชาติ ก็ไม่พบการถือครองเช่นกัน

“จากการตรวจสอบของส.ป.ก. พบว่า ไม่มีรายชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร และคนในตระกูล ถือครองที่ดินส.ป.ก.แต่อย่างใด ซึ่งผมก็เชื่อเช่นนั้น เพราะเศรษฐีระดับนี้ไม่น่าจะมาซื้อที่ดินในป่า ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จากการตรวจสอบก็พบว่าไม่มีรายชื่อเช่นเดียวกัน แต่ในส่วนของญาติพี่น้องคนในตระกูลเทือกสุบรรณน่าจะมีการถือครองอยู่บ้าง เพราะถือเป็นคนในพื้นที่ใกล้เคียงกับเขตส.ป.ก. นอกจากนี้จากการตรวจสอบพื้นที่ในภาคเหนือ บริเวณที่นิยมทำไร่ข้าวโพด ก็ไม่พบรายชื่อของบริษัทด้านการเกษตรรายใหญ่ของประเทศเข้าไปถือครอบครองแต่อย่างใด เพราะคาดว่าการทำไร่ข้าวโพดของเกษตรกรภาคเหนือน่าจะทำในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง มากกว่าที่นายทุนจะเข้าไปถือครองที่ดินเองแล้วจ้างเกษตรกรทำไร่ เช่นเดียวกับบริษัทผู้ผลิตปาล์มรายใหญ่ในภาคใต้ ส่วนกลุ่มทุนต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน ที่นิยมมาทำธุรกิจล้งผลไม้ในไทยนั้น ก็ไม่พบเช่นกัน เพราะลักษณะของชาวจีนที่มาทำธุรกิจในไทยจะนิยมแต่งงานกับสาวไทย เพื่อให้สาวไทยถือครองกรรมสิทธิ์แทน ทำให้การตรวจสอบครั้งนี้ไม่พบว่า มีชื่อของชาวต่างชาติถือครองอยู่ ” นายสรรเสริญ กล่า

นายสรรเสริญ กล่าวว่า นอกจากนี้ส.ป.ก.ยังตรวจพบพื้นที่ส.ป.ก.ที่มีการครอบครองผิดกฎหมายเพิ่มอีก 3 แปลง แบ่งเป็น สวนส้ม ในจ.เชียงใหม่ 2 แปลง และพื้นที่ที่เศรษฐกิจในจ.เชียงรายครอบครองอีก 1 แปลง ซึ่งส.ป.ก.จะได้มีการบังคับใช้มาตรา (ม.) 44 ตามประกาศของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยให้ผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวนำเอกสารสิทธิ์มาแสดงให้แก่เจ้าหน้าที่ตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนพื้นที่ตามวงเล็บ 2 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ ส.ป.ก.ได้เคยจัดสรรเกษตรกรไปแล้ว แต่เกษตรนำไปขายต่อ เนื้อที่ตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป จากข้อมูลพบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีทั้งหมด 26,000 ไร่ แต่จากการตรวจสอบของส.ป.ก.จังหวัดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ยังมีความล่าช้า เนื่องจากส.ป.ก.จังหวัดจะตามหาผู้ซื้อที่ดินรายใหม่ก่อนถึงจะสามารถพิสูจน์ที่ดินได้ ทำให้สามารถตรวจสอบพื้นที่ได้เพียง 12,000 ไร่เท่านั้น โดยเมื่อม.44ได้ประกาศใช้ ตนในฐานะเลขาธิการส.ป.ก.ก็จะใช้อำนาจพิเศษเพื่อให้ผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบได้ทันที ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้หลังจากวันที่ 21 กรกฎาคมเป็นต้นไป และจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดตามกรอบระยะเวลาที่ได้กำหนดภายใน 129 วัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image