‘อียู’ เรียกร้องรัฐบาลไทยเปิดให้มีการอภิปรายการลงประชามติอย่างเปิดกว้าง

คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยเผยแพร่บทความแสดงความคิดเห็น เรื่อง ‘ข้อเรียกร้องให้มีการอภิปรายการลงประชามติได้อย่างเปิดกว้าง’ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีการอภิปรายการลงประชามติอย่างเปิดกว้าง

แถลงการณ์ระบุว่าบทความดังกล่าวได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย อันได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สาธารณรัฐสโลวัก สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร พร้อมทั้งเอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยบทความมีใจความระบุว่า

ข้อเรียกร้องให้มีการอภิปรายการลงประชามติได้อย่างเปิดกว้าง

ราชอาณาจักรไทยมีความหมายพิเศษในใจประชาชนของประเทศที่พวกเราเป็นผู้แทนมาเป็นเวลาหลายชั่วคน ชาวไทยรักอิสระเป็นอย่างยิ่งพร้อมทั้งกล้าเริ่มสิ่งใหม่ๆ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาค รวมทั้งการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และนั่นคือเหตุผลที่รัฐบาลของพวกเราปรารถนาที่จะเห็นประเทศไทยผ่านพ้นระยะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปัจจุบันไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน เศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรือง และวิสัยทัศน์ที่เป็นเอกภาพต่ออนาคตของประเทศในเร็ววัน

Advertisement

รายงานการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิกสหประชาชาติครั้งล่าสุด (Universal Periodic Review หรือ UPR) เป็นการมอบโอกาสที่มีค่าสำหรับการหารือถึงประเด็นท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยกำลังเผชิญ เราหวังว่ารัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญแก่ข้อมูลที่ได้รับและจะดำเนินการตามพันธกรณีที่มีต่อนานาชาติภายใต้กรอบ UPR เพื่อปรับปรุงแก้ไขตามข้อห่วงกังวลที่ประชาคมระหว่างประเทศหยิบยกขึ้นมา

ช่วงเวลาหลังการรับฟังข้อเสนอแนะตามกระบวนการ UPR รัฐบาลไทยได้ดำเนินการคืบหน้าหลายประการในการเปิดพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งรวมถึงการยกเลิกคำสั่งห้ามเดินทางต่อบุคคลต่างๆ การอนุญาตให้มีการเดินขบวนอย่างสันติเนื่องในวันครบรอบการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม และการอนุญาตให้จัดอภิปรายทางวิชาการเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการดำเนินการหลายประการที่น่ากังวล เช่น การจับกุมนักเคลื่อนไหว การปิดสื่อของฝ่ายค้าน และการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

ขณะนี้เหลือเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนก่อนวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เราเชื่อว่าการอภิปรายอย่างเปิดกว้างถึงประโยชน์ของร่างรัฐธรรมนูญในช่วงเวลาที่เหลืออยู่นี้เป็นสิ่งสำคัญต่อการบรรลุซึ่งเป้าหมายที่รัฐบาลประกาศไว้ในการสร้างประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพและความมั่นคงกว่าเดิม ในขณะที่เราจะประณามความพยายามใดๆ ที่จะใช้กระบวนการลงประชามติเพื่อยั่วยุให้เกิดความรุนแรง เราก็มีความกังวลว่า การห้ามการแสดงความคิดเห็นในที่ชุมชนอย่างสันติจะเป็นการยับยั้งการอภิปรายและเพิ่มความตึงเครียด

Advertisement

การอภิปรายในที่ชุมชนอย่างมีสำนึกรับผิดชอบและตรงไปตรงมาไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพ เมื่อไม่นานมานี้สหประชาชาติได้กล่าวว่า “การเคารพสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” และย้ำว่า “การร่วมพูดคุยอย่างเปิดกว้างและรับฟังทุกฝ่ายเป็นสิ่งจำเป็นในการส่งเสริมประชาธิปไตยและสนับสนุนการสร้างความปรองดองของชาติ” รัฐบาลของพวกเรามีความเห็นเช่นเดียวกับสหประชาชาติที่เน้นถึงความสำคัญของหลักการเหล่านี้ว่าเป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่ฉันทามติที่จะรวมคนไทยทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียวกันในอนาคต

การที่ประชาชนมีฉันทามติอย่างเสรีถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการสร้างเสถียรภาพระยะยาว ซึ่งสำคัญต่อการปกครองที่ยั่งยืนและพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้เจริญเติบโต นักลงทุนย่อมแสวงหาเสถียรภาพ สภาวะที่คาดการณ์ได้ ธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรม

ในฐานะมิตรและประเทศคู่ความร่วมมือ พวกเราปรารถนาที่จะเห็นราชอาณาจักรไทยมีความเสรี ความเข้มแข็งและเอกภาพในการเดินหน้าผ่านทั้งสิ่งท้าทายและโอกาสแห่งศตวรรษที่ 21 นี่คือเหตุผลที่พวกเราห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อกระบวนการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปัจจุบันของไทย พวกเราขอให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้ประชาชนไทยได้มีโอกาสพูดคุยอย่างเปิดกว้าง สร้างความเชื่อมโยงในสิ่งที่มีคล้ายกัน และบรรลุฉันทามติที่จำเป็นต่อการสร้างอนาคตที่เข้มแข็ง และบทความนี้ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยดังต่อไปนี้

ออสเตรีย เบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สาธารณรัฐสโลวัก สเปน สวีเดน สหราชอาณาจกัร พร้อมทั้งเอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image