“อธิบายการเมืองไทยให้ฝรั่งใน 15 นาที” โดย เกษียร เตชะพีระ

"อธิบายการเมืองไทยให้ฝรั่งใน 15 นาที" โดย เกษียร เตชะพีระ

“อธิบายการเมืองไทยให้ฝรั่งใน 15 นาที”

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณ “เหน่ง” เพื่อนนักเรียนไทยรุ่นน้องร่วมสำนักครูเบน แอนเดอร์สัน ซึ่งรู้จักกันตั้งแต่สมัยผมไปเรียนต่อปริญญาเอกที่อเมริกาแล้ว เขาย้ายไปทำงานวิชาการมีครอบครัวตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นั่นเลย ได้แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนพร้อมชักชวนให้ผมกับพรรคพวกไปพบปะสังสันทน์พูดคุยกับเพื่อนฝรั่งของเขาเพื่อช่วยแนะนำให้รู้จักเข้าใจเรื่องราวความเป็นไปด้านต่างๆ ในบ้านเมืองของเราปัจจุบันในฐานที่ห่างเหินไปนาน

คำขอร้องคือ “ในเวลา 5-10 นาที อยากให้พี่เษียรช่วยวาดภาพกว้างๆ ให้หน่อยว่าเกิดอะไรขึ้นในการเมืองไทยรอบทศวรรษที่ผ่านมาจากมุมมองเปรียบเทียบเชิงประวัติศาสตร์?”

ฟังคำขอแล้วก็ได้กลิ่นอายกระบวนท่ามองปัญหาแบบฉบับของสำนักครูเบนที่เราสังกัดตุๆ

ด้วยความรักใคร่นับถือกันและมันเลี้ยงก๋วยเตี๋ยวฟรีด้วยมื้อหนึ่ง ผมก็ทำตามคำขอของคุณเหน่งแหละครับ เพียงแต่ว่าการพูดภาษาซึ่งไม่ใช่ของแม่แบบหายใจหายคอไม่ทันเพื่ออธิบายการเมืองไทยอันยุ่งเหยิงซับซ้อนในเวลาจำกัด ก็ย่อมมีติดขัดอืดอาดบ้างเป็นธรรมดา เบ็ดเสร็จสะระตะแล้วจึงเกินโควต้าที่กำหนดให้ไปหน่อยเป็น 15 นาที

Advertisement

แต่ก็ไม่เห็นเหน่งบ่นอะไร น่าจะคุ้มค่าก๋วยเตี๋ยวแล้ว

ผมพยายามอธิบายการเมืองไทยฉบับรวบรัดให้ฝรั่งฟังใน 15 นาทีโดยอาศัยแนวคิดหลัก 3 อย่างคือ

1) การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตย (Transition to non-democracy)

2) การเปลี่ยนย้ายอำนาจ (Power shift)

3) กลุ่มอาการลงแดง (Withdrawal symptoms)

ข้อเสนอหลักทั้งหมดของผมคือ การเมืองไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ในช่วงการพยายามผลักดันให้เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตยหลายระลอกที่จนแล้วจนรอดยังไม่สำเร็จ ซึ่งเกิดขึ้นในบริบทของการเปลี่ยนย้ายอำนาจใหญ่ครั้งที่สามในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ อันทำให้คนชั้นกลางและชนชั้นนำเดิมในกรุงเทพฯ และหัวเมืองรู้สึกหวั่นไหวไม่มั่นคงและแสดงกลุ่มอาการลงแดงทางการเมืองวัฒนธรรมครั้งที่สองออกมา – จบ

ฟังแล้วก็คงงงๆ นะครับ ผมขออนุญาตอธิบายขยายความต่อ

ในหมู่นักรัฐศาสตร์ทั้งไทยและเทศ วิธีปกติทั่วไปในการทำความเข้าใจความปั่นป่วนวุ่นวายและขัดแย้งในการเมืองไทยรอบสิบปีที่ผ่านมานับแต่รัฐประหารปี พ.ศ.2549 โดย คปค. คือมองมันว่าเป็นความพยายามต่อเนื่องเป็นชุดที่จะผลักดันให้การเมืองไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ประสบความเพลี่ยงพล้ำถดถอยซ้ำแล้วซ้ำอีก

อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรัฐประหารที่เกิดขึ้นอีกครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2557 โดย คสช. ทำให้ต้องตั้งคำถามว่าเอาเข้าจริงโครงการที่พยายามดำเนินกันอยู่นี้มีธาตุแท้และเป้าหมายใดกันแน่

ใช่เป็นการพยายามเปลี่ยนผ่านกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ล่ะหรือ?

ส่วนตัวผมเองคิดเห็นว่ามันสมเหตุสมผลกว่าที่จะลองมองกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยรอบทศวรรษที่ผ่านมากลับกันว่าเป็นชุดการพยายามหลายระลอกที่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้นในอันที่จะผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองที่มั่นคงและยั่งยืนในระบอบไม่ประชาธิปไตยให้บรรลุ

หากกลับตาลปัตรมุมมองเยี่ยงนี้แล้ว มันก็ทำให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างกระจ่างชัดเจนและความปั่นป่วนสับสนวุ่นวายทั้งหมดก็จะเข้าร่องเข้ารอย ยกตัวอย่างเช่น :

– ข้อเสนอของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล@พันธมิตรฯ ให้มีรัฐสภาแต่งตั้ง 70% เลือกตั้ง 30% เมื่อปี พ.ศ.2550

– ข้อเสนอของ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ@กปปส. ให้มีสภาประชาชนแต่งตั้งทั้ง 100% เมื่อปี พ.ศ.2557

– รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับภายใต้การอำนวยการของ คสช. โดยทีมของ คุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และทีมของ คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ พร้อมกับข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญของ คสช. ด้วย

ข้อเสนอทั้งหลายทั้งปวงข้างต้นมีฐานคติเหมือนกันซึ่งในที่สุดแล้วจะนำไปสู่การก่อตั้งระบอบไม่ประชาธิปไตยแบบหนึ่งขึ้นมา

ในระบอบที่ว่านี้จะมีการเลือกตั้งเป็นกระสายคล้ายระบอบประชาธิปไตยทั้งหลายอยู่ ทว่า สถาบันเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งทั้งหลาย (อาทิ สภาผู้แทนราษฎร, รัฐบาล, พรรคการเมือง) จะตกอยู่ใต้การกำกับควบคุมกดทับโดยเหล่าสถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (อาทิ ฝ่ายตุลาการ, วุฒิสภา, องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ, กองทัพ, ระบบราชการ, ตัวแทนเอ็นจีโอ)

ความแตกต่างหลักในหมู่ข้อเสนอและร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ เหล่านี้อยู่ตรงที่ว่าแต่ละข้อเสนอแต่ละฉบับเลือกที่จะมอบหมายอำนาจไปให้กับสถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอันใดโดยเฉพาะเจาะจง อาจกล่าวคร่าวๆ ได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับของคุณบวรศักดิ์เลือกให้ความสำคัญกับบรรดาคนดีตัวแทนเอ็นจีโอ, ร่างฉบับคุณมีชัยปัจจุบันเลือกให้ความสำคัญกับฝ่ายตุลาการ ขณะที่ข้อเสนอของ คสช. เน้นย้ำอำนาจของวุฒิสภาจากการแต่งตั้งและกองทัพ

สรุปคือเมืองไทยจะได้ระบอบอำนาจนิยมของรัฐราชการชนิดหนึ่งซึ่งภายใต้ระบอบดังกล่าวนี้ยากยิ่งที่จะมีการนำระดับชาติอันเข้มแข็งที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนผงาดขึ้นมาเป็นทางเลือกนอกเหนือจากรัฐราชการ

คําถามคือทำไมจึงต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตยด้วยเล่า?

เพื่อเข้าใจเรื่องนี้ เราจำต้องจัดวางกระบวนการดังกล่าวเข้าไว้ในบริบทเปรียบเทียบเชิงประวัติศาสตร์ที่กว้างออกไปของการเปลี่ยนย้ายอำนาจใหญ่ครั้งต่างๆ ในการเมืองไทยสมัยใหม่ แบบแผนพื้นฐานของการเปลี่ยนย้ายอำนาจที่ว่านี้มีลักษณะเรียบง่ายตรงไปตรงมา กล่าวคือ :

[มีการเปิดประเทศเสรี -> เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง -> สังคมเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสังคมหรือชนชั้นใหม่ปรากฏตัวขึ้นมาหรือขยายจำนวนอย่างรวดเร็ว -> กลุ่มสังคมหรือชนชั้นใหม่เข้าประชันขันแข่งแย่งชิงอำนาจทางการเมืองกับชนชั้นนำเก่าและพันธมิตร -> เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครอง]

ที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนย้ายอำนาจใหญ่ทำนองนี้เกิดขึ้นแล้ว 3 ครั้งในประวัติการเมืองไทยสมัยใหม่ ได้แก่ :

1) ช่วง พ.ศ.2475-2490 ระบอบรัฐธรรมนูญเข้าแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และชนชั้นนำแห่งระบบราชการแบบใหม่เข้าแทนที่กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิ์และขุนนางเก่า โดยผ่านการยึดและควบคุมอำนาจ

2) ช่วง พ.ศ.2516-2535 ระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งเข้าแทนที่ระบอบอำนาจนิยมของรัฐราชการ และชนชั้นกระฎุมพีชาวเมืองเข้าแทนที่ชนชั้นนำแห่งระบบราชการ โดยผ่านการลุกฮือของมวลชน

3) ช่วง พ.ศ.2544-ปัจจุบัน ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้อำนาจของชนชั้นนำแห่งระบบราชการกับกระฎุมพี ชาวเมืองกำลังถูกท้าทายโดยพันธมิตรระหว่างชนชั้นนำธุรกิจกลุ่มใหม่กับชนชั้นกลางระดับล่าง

โดยผ่านการเลือกตั้งและการประท้วงบนท้องถนน

เพราะฉะนั้น ทางเดียวที่จะหยุดยั้งชนชั้นกลางระดับล่างที่เป็นผู้ลงคะแนนเสียงข้างมากของทั้งประเทศไม่ให้เข้าควบคุมอำนาจการปกครองผ่านการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยปกติได้ ก็มีแต่ต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตยเท่านั้นเอง

สุดท้ายสำหรับประเด็นกลุ่มอาการลงแดงครั้งที่สอง (2nd Withdrawal symptoms) ในการเมืองวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน

ผมชี้ชวนให้เหน่งกับเพื่อนฝรั่งของเขานึกถึงภาพฝูงชนสมาชิกคนชั้นกลางและชั้นสูงที่แต่งตัวดีมีฐานะหิ้วกระเป๋าถือใส่ชุดแบรนด์เนมแพงหูฉี่ ซึ่งบางครั้งก็มีชายห่มจีวรนำขบวนมายืนชุมนุมประท้วงส่งเสียงร้องเอะอะมะเทิ่งอยู่หน้าสถานทูตต่างชาติในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้จับกุมหรือขับไล่เอกอัครราชทูตออกไปในฐานะไม่ให้เกียรติประเทศเจ้าบ้านหรือหมิ่นสถาบันสำคัญที่พึงเคารพนับถือแล้วแต่กรณี

ผมเห็นว่านี่คือสัญญาณของกลุ่มอาการลงแดงในการเมืองวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน

หนแรกที่มีการสำแดงอาการทำนองนี้ออกมาเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนย้ายอำนาจใหญ่ครั้งที่สองระหว่าง พ.ศ.2516-2519 และมันได้กลายมาเป็นชื่อบทความโด่งดังของครูเบน แอนเดอร์สัน ที่อธิบายการเมืองไทย

และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ในมุมมองเปรียบเทียบเชิงประวัติศาสตร์ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี ค.ศ.1977/พ.ศ.2520 (Ben Anderson, “Withdrawal Symptoms : Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup”, Bulletin of Concerned Asian Scholars, 9:3 (July/September 1977), 13-30, http://criticalasianstudies.org/assets/files/bcas/v09n03.pdf)

ในบทความขนาดยาวชิ้นนี้ ครูเบนชี้ว่าพฤติการณ์ทางการเมืองที่แผกเพี้ยน สุดโต่ง รุนแรงของคนชั้นกลางชาวเมืองของไทยในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 นั้นเกิดจากวิตกจริตถึงขั้นฝันร้ายของพวกเขาว่าทหาร ฐานทัพ เงินช่วยเหลือและการลงทุนหลายหมื่นล้านบาทของอเมริกันซึ่งเคยเป็นฐานรองรับผลักดันให้พวกเขาได้เลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจสังคมอู้ฟู่ขึ้นมาภายใต้รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส จนพวกเขาพากันเสพติดมันอย่างงมงายนั้น กำลังถูกถ่ายถอนออกไปจากเมืองไทยและอินโดจีน

พวกเขาจึงพากันชดเชยความรู้สึกมั่นคงมั่งคั่งของตัวที่ลดน้อยถอยลงกะทันหันด้วยการอุทิศกายใจกอดรัดสถาบันหลักต่างๆ ของชาติอย่างแนบแน่น และยอมรับสนับสนุนการกวาดล้างปราบปรามอะไรก็ตามแต่ที่พวกเขาถูกโฆษณาชวนเชื่อปลุกปั่นให้เห็นเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งที่เขารักหวงแหนยิ่งชีวิต

นี่เองเป็นที่มาทางสังคมและวัฒนธรรมของการสังหารหมู่ผู้ชุมนุมนักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์และรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

ผมคิดว่าตอนนี้เรากำลังรู้เห็นเป็นพยานกลุ่มอาการลงแดงรอบสองในหมู่คนชั้นกลางชาวเมืองของไทย ในสภาพความขัดแย้งเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างพลิกผันรุนแรงรวดเร็วหลายระลอกรอบสิบปีที่ผ่านมา

เสาหลักอันเป็นที่พึ่งพิงแห่งความรู้สึกมั่นคงมั่งคั่งของพวกเขาที่เสพติดมานมนานกำลังถูกสั่นคลอนอย่างหนักและทำท่าจะถูกถ่ายถอนไปอีกครั้ง

ฉะนี้เองพวกเขาจึงพล่านเพี้ยน แสดงพฤติกรรมทางการเมืองที่ปฏิกิริยาย้อนยุคทวนโลกทวนเข็มนาฬิกาออกมาโดยไม่แคร์ ทั้งที่มันขัดฝืนกระแสโลก ขัดฝืนกระแสความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม ขัดฝืนประวัติศาสตร์ที่เป็นมา ดุลกำลังที่เป็นอยู่และแนวโน้มที่เป็นไปได้ อย่างไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเอาเลย

อดีตที่พวกเขาจินตนาการหวนหานั้นเอากลับคืนมาไม่ได้ อนาคตที่พวกเขามโนไปเองนั้นก็ไม่มี เหลือแต่ปัจจุบันที่พวกเขากำลังกร่อนทำลายมันลงทุกวันอย่างหน้ามืดตามัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image