เสวนา“ป้อมมหากาฬ”สุดคึก อาจารย์ 3 มหา’ลัยค้านรื้อชุมชน ยันอยู่ร่วมโบราณสถานได้ ซัดแนวคิด “ไล่คน” สุดล้าหลัง

สืบเนื่องกรณี ไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อสร้างสวนสาธารณะโดย กทม. ตามแผนแม่บทเมื่อ 50 ปีก่อน ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน 24 ปี วันที่ 4 กรกฎาคม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณป้อมมหากาฬ ว่า กทม.ยืนยันตามมติเดิม โดยตั้งเป้าว่าภายในต้นเดือนสิงหาคมนี้จะรื้อถอนให้ได้ประมาณ 10 หลัง โดยระบุว่า ไม่เคยเห็นว่ามีโบราณสถานแห่งใดที่มีชุมชนอยู่ร่วมด้วยมาก่อน ซึ่งกรณีเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงแต่ไม่ได้อยู่ภายในพื้นที่โบราณสถานนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 14.00 น. ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพ ฯ มีการจัดเสวนาเรื่อง “รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ คือการทำลายประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ” โดยในช่วงแรกเป็นการแสดงละครชาตรี จากคณะครูกัญญา นางเลิ้ง โดยแสดงเรื่อง สังข์ทอง ตัวแทนคณะละครกล่าวว่า ชุมชนนางเลิ้งมีความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนป้อมมหากาฬ ยินดีที่ได้มาช่วยงานในวันนี้ และยอมรับว่า ไม่แน่ใจในอนาคตของชุมชนของตนว่าจะต้องประสบปัญหาเช่นเดียวกับชุมชนป้อมมหากาฬหรือไม่

ละครชาตรี คณะครูกัญญานางเลิ้ง
ละครชาตรี คณะครูกัญญานางเลิ้ง

เวลาประมาณ 15.00 น. เข้าสู่การเสวนา ซึ่งมีวิทยากร ได้แก่ ผศ. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร และ ผศ. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง โดยมีนางสาวอินทิรา วิทยสมบูรณ์ นักกิจกรรมทางสังคมซึ่งเคลื่อนไหวร่วมกับชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ผศ. พิพัฒน์ กล่าวในหัวข้อ “ไม่รื้อชุมชนก็ศึกษาโบราณคดีได้ ข้อคิดจากอเมริกา” โดยระบุว่า ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้ มีตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น ชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งในเมืองเทาส์ ในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการดำเนินการทางโบราณคดีแนวใหม่ กล่าวคือ เป็นโบราณคดีชุมชนที่ให้อำนาจชาวบ้านในการจัดการโดยชุมชนเพื่อชุมชน โดยเลือกขุดค้นที่บ้านของนางตาโฟยา ทายาทของครอบครัวที่ต้นตระกูลอาศัยในพื้นที่มานาน 350 ปี พบทั้งโบราณวัตถุเก่าแก่ราวพันปี ไปจนถึง “ขยะสมัยใหม่” เช่น กระเบื้องยาง และเศษแก้ว ซึ่งนักโบราณคดีหัวหน้าคณะทำงานไม่ทิ้งขว้างไป แต่กลับเก็บไว้แล้วให้นางตาโฟยาอธิบายว่าขยะดังกล่าวคืออะไร ปรากฏว่าจากวัตถุดังกล่าว สามารถโยงใยบอกเล่าเรื่องราวย้อนไปเรื่อยๆได้เกือบ 100 ปี สะท้อนให้เห็นว่า หากพบแต่วัตถุโดยไม่มีคนอธิบายก็เปล่าประโยชน์ การศึกษาในลักษณะนี้ เรียกว่า “โบราณคดีในครัวเรือน” เพราะนักโบราณคดี ไม่ได้ศึกษาเฉพาะโบราณสถาน แต่สนใจวิถีชีวิตทุกแง่มุมของคน

ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

“โบราณคดีชุมชน คือการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการศึกษาชุมชนของตัวเอง ไม่ใช่ให้อำนาจของการตัดสินใจศึกษาและอนุรักษ์ตกไปอยู่ในมือของผู้มีอำนาจ ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่แรกสร้างกรุงเทพฯ ต่อให้จะอ้างว่ามีคนย้ายเข้าย้ายออก เป็นคนมาอยู่ใหม่บ้าง แต่มันก็สะท้อนถึงการใช้พื้นที่ซ้อนทับ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเมืองเก่าทั่วโลก ถ้าจะอ้างว่าควรรื้อชุมชนออกเพราะเป็นคนรุ่นใหม่มาอยู่ แสดงว่าขาดความเข้าใจต่อพลวัตรความเปลี่ยนแปลงของเมือง นับเป็นความคิดที่ล้าสมัยเมื่อเทียบกับการจัดการเมืองทั้งหลายในโลก หากรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ จะเป็นความสูญเสียโบราณคดีที่มีชีวิต ทางออกตนมองว่า ชุมชนต้องมีกระบวนการจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่การถูกรื้อถอน ควรจัดทำข้อมูลความรู้ ทำป้ายข้อมูล ชุมชนต้องปรับตัวไปพร้อมความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกเช่นกัน ในเชิงการท่องเที่ยวชุมชนนี้เหมาะมาก เพราะใกล้สถานที่สำคัญมากมาย ทั้งวัด วัง คูคลอง ทำไมต้องรื้อ ทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นเมือง” ผศ.พิพัฒน์กล่าว

Advertisement

ผศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวในหัวข้อ “ชานพระนคร พื้นที่สามัญชน เขตกันชนราชธานี ไม่เคยร้างในบางกอก” โดยระบุว่า ชานพระนครกรุงเทพ เป็นพื้นที่กันชนระหว่างเขตเมืองซึ่งมีกำแพงล้อมรอบกับย่านนอกเมือง กิจกรรมแลกเปลี่ยนซื้อขายสรรพสินค้าและย่านการผลิตบางอย่างก็อยู่ในชุมชนชานพระนคร แต่ชุมชนลักษณะนี้หลายแห่งหายไปเนื่องจากการรื้อกำแพงกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา แต่ยังมีบางส่วนที่ยังถูกเก็บรักษาไว้จึงกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งก็คือ ชุมชนป้อมมหากาฬนั่นเอง โดยกิจกรรมทางสังคมที่กเดขึ้นในปัจจุบันขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯยังคงเป้นเมืองที่มีอดีตเป็นเงาเคลื่อนไหว ดังนั้น หากป้อมและกำแพงเมืองยังถูกยอมรับได้ว่า ถูกรักษาไว้เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชุมชนชานพระนครที่อยู่คู่กันก็ควรต้องคงไว้เพื่อเป็นมรดกที่มีชีวิตของกรุงเทพฯ ที่สืบมาด้วยเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น หากย้อนไปในสมัยทวารวดี เมื่อกว่าพันปีมาแล้ว พบว่ามีเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดิน โดยมีชุมชนอยู่อาศัย ซึ่งมีพัฒนาการต่อมา เมื่อเป็นเมืองก็มีกำแพงและคูเมือง ที่มีผู้คนตั้งรกราก เช่นเดียวกับชุมชนป้อมมหากาฬ

ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

“ความสำคัญของชุมชนป้อมมหากาฬ คือการเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายของการตั้งถิ่นฐานที่มาเป็นพันปี ไม่มีที่ไหนสมบูรณ์เท่าที่นี่อีกแล้ว มีบ้านเก่าที่ก่อสร้างมายาวนาน เห็นได้ชัดว่าพื้นที่ชานพระนครมีหลักฐานในเอกสารเก่าว่าตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ต้นกรุงถึงรัชกาลที่ 5 การจะบอกว่าชุมชนอยู่กับโบราณสถานไม่ได้ เป็นแนวคิดเก่ามาก ปัจจุบันในประเทศต่างๆมีการให้ความสำคัญทั้งมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และไม่ได้” ผศ.ดร.ประภัสสร์กล่าว พร้อมเปิดเผยแผนที่โบราณซึ่งเป็นหลักฐานการมีอยู่ของชุมชนป้อมมหากาฬมาแต่เดิม และภาพถ่ายเก่าอีกจำนวนหนึ่ง

ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ กล่าวในหัวข้อ “ป้อมล้อมเมือง ชุมชนล้อมกำแพง” ว่า การไล่ชุมชนป้อมมหากาฬ นอกจากเป็นเรื่องน่าอดสูของประวัติศาสตร์กรุงเทพแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่าการอ้างเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์แท้จริงเป็นเพียงฉาบหน้าขายของ เพราะป้อมมหากาฬและชุมชนชานพระนครซึ่งอยู่อาศัยในบริเวณนี้ เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์กรุงเทพ เนื่องจากเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างกำแพงพระนครและป้อมปืนใหญ่ เพื่อป้องกันข้าศึก ปัจจุบันเหลือเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ ป้อมพระสุเมรุและป้อมมหากาฬ ซึ่งในกรณีป้อมมหากาฬนั้น เป็นจุดบรรจบของคลองมหานาคกับคูรอบพระนคร จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ใหญ่ ทำให้เป็นป้อมขนาดใหญ่ซึ่งมีชุมชนเป็นแนวยาวตลอดตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ จนถึงคูคลองวัดเทพธิดารามตลอดช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ คนในชุมชนมีทั้งที่มีการสืบเชื้อสายมาหลายชั่วอายุคน และที่ย้ายเข้ามาใหม่ จึงมีทั้งอาคารเก่าและใหม่ที่บอกเล่าเรื่องราวพัฒนาการของชุมชนตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ในฐานะประวัติศาสตร์กรุงเทพฯที่มีชีวิต

Advertisement

“ถ้าคิดว่าโบราณสถานอยู่กับชุมชนไม่ได้ คนทั้งกรุงเทพ ต้องย้ายออกหมด เพราะโบราณสถานมีเต็มกรุงเทพ แม้แต่ที่ตั้งของกระทรวงทบวงกรมหลายแห่ง ก็เป็นอาคารโบราณสถาน ดังนั้น กทม. ต้องวางแผนเพื่อให้โบราณสถานและชุมชนอยู่ร่วมกันได้จึงจะถูก” ผศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง
ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง

ต่อมา เวลาประมาณ 16.30 น. มีการนำชมรอบชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งมีบ้านไม้โบราณหลายหลัง ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศในงานคึกคัก มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก มีการเปิดเพลงชุด “กรุงเทพ” ซึ่งนายสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นผู้แต่ง เนื่องจากมีเนื้อหาเล่าถึงประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ มีการแจกเอกสารข้อมูลจากวิทยากรทั้ง 3 ราย รวมถึงแผ่นพับจากทีมงาน “มหากาฬโมเดล” กลุ่มอาสาสมัครซึ่งสนับสนุนดำเนินการให้ชุมชนเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต นอกจากนี้ มีนักวิชาการร่วมฟังหลายราย อาทิ นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร นายอานันท์ นาคคง ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทย ผศ.ดร. อภิลักษณ์ มหาผลกูล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดล เป็นต้น

นางเตือนใจ กล่าวว่าจะนำข้อมูลจากการเสวนาครั้งนี้ไปมอบแก่กทม.และตั้งวงเจรจา เพื่อหาทางออก และให้ชุมชนแห่งนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติต่อไป ส่วนตัวมองว่า ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่จะไล่รื้อชุมชน ตนคาดหวังว่าชุมชนแห่งนี้ จะอยู่ร่วมกับกทม.เช่นเดิม

อินทิรา วิทยสมบูรณ์ นักกิจกรรมเพื่อสังคม และเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร
อินทิรา วิทยสมบูรณ์ นักกิจกรรมเพื่อสังคม และเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
วิทยากร 3 ท่าน หารือประเด็นก่อนเริ่มเสวนา
วิทยากร 3 ท่าน หารือประเด็นก่อนเริ่มเสวนา

 

ธวัชชัย มหาวรคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ
ธวัชชัย มหาวรคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ
โต๊ะลงทะเบียนและรับเอกสารประกอบการเสวนา
โต๊ะลงทะเบียนและรับเอกสารประกอบการเสวนา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image