สุจิตต์ วงษ์เทศ : นาคไม่ใช่คน พุทธปะทะผี แล้วต่อรอง ในพิธีบวชนาค

ชายเผ่านาคกำลังเฉลิมฉลองรับหัวศัตรูที่ล่าได้ในหมู่บ้าน Tanhai นากาแลนด์ (ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2479 โดย Christoph von Furer-Haimendorf จากหนังสือ Expedition Naga : Diaries from the Hills in Northeast India 1921-1937, 2002-2006. Peter van Ham and Jamie Saul. Bangkok : River Books, 2008.)

บวชนาคไม่มีในพุทธบัญญัติ จึงไม่มีในอินเดียและลังกา ต้นทางพุทธศาสนาของไทยและอุษาคเนย์โบราณ
พุทธบัญญัติในอินเดียและลังกา มีพิธีบวชคนเป็นพระสงฆ์ ไม่บวชนาค
พุทธปะทะผี แล้วต่อรองกันในพิธีบวช มีนิทานเป็นที่รู้กันอีกเรื่องว่าพญานาคปลอมเป็นคนไปขอบวชเป็นพระสงฆ์
เป็นพยานว่าการเผยแผ่พุทธศาสนาไม่ราบรื่นในสุวรรณภูมิ ไม่ว่าไทยหรือตรงไหน?
นาค เป็นคำดูถูกเหยียดหยามที่ชาวอารยัน (ตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน) มีต่อคนพื้นเมืองที่ไม่เป็นอารยัน ทั้งคนอุษาคเนย์และคนอื่นๆ ในเขตชมพูทวีป (อินเดีย) เช่น ชนเผ่านาค

“นาค” อุษาคเนย์

นาค เป็นคำใช้เรียกคนผู้ชายที่จะขออุปสมบท คือบวชเป็นพระภิกษุ แต่ไม่เคยพบหลักฐานว่าถ้าคนผู้หญิงขออุปสมบทเป็นภิกษุณีจะมีคำเรียกว่าอะไร?
ประเพณีไทยแต่โบราณนานมาแล้วไม่เรียกพิธีอุปสมบทว่าบวชคนให้เป็นพระ แต่เรียกบวชนาค (ให้เป็นพระ)
ในพระวินัยของพระพุทธเจ้าไม่มีเรื่องบวชนาค (ให้เป็นพระ) ฉะนั้นพิธีบวชนาคจึงไม่มีในชมพูทวีป (คืออินเดียโบราณ) แต่เป็นประเพณีพื้นเมืองของภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยเฉพาะบริเวณผืนแผ่นดินที่เป็นพม่า (มอญ) เขมร ลาว และไทย
ปัจจุบันที่ลังกามีบวชนาค แต่เขาอธิบายไม่ได้ว่าคืออะไร? มาจากไหน? ชี้ให้เห็นว่าพิธีบวชนาคในลังการับไปจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อคราวพระอุบาลี (จากวัดธรรมาราม อยุธยา) รับนิมนต์ไปประดิษฐาน “สยามวงศ์” ที่ลังกาทวีป เมื่อ พ.ศ. 2295
แต่ครั้นไต่ถามความจริงจากผู้คนในอุษาคเนย์แท้ๆ ก็อธิบายไม่ได้ว่าพิธีบวชนาคคืออะไร? มาจากไหน? แล้วพากันโยนกลับไปที่อินเดีย ทั้งๆ ที่ในอินเดียไม่เคยมีบวชนาค

นาค-เป็นอะไร? มาจากไหน?

นาค (Naga) อยู่ในภาษาตระกูลอินโด-ยุโรป มีรากเดิมมาจากคำว่านอค (Nog) แปลว่าเปลือย, แก้ผ้า แล้วภาษาอังกฤษรับมาใช้ว่า Naked เป็นอันรู้แล้วว่านาคไม่ใช่คำไทย-ลาว และไม่ใช่คำมอญ-เขมร แต่ทั้งตระกูลไทย-ลาว กับมอญ-เขมร รับมาใช้ในความหมายว่างู เพราะงูเป็นสัตว์เปลือยไม่มีขนปกปิด แล้วสร้างจินตนาการเพิ่มเติมต่อมาว่าหัวหน้างูทั้งหลายคือพญานาค มีถิ่นที่อยู่ใต้ดินเรียกบาดาล
เมื่อนาค มาจากนอค หมายถึงเปลือยหรือแก้ผ้า ต่อมาจึงเป็นคำของพวกมีวัฒนธรรมสูงกว่าที่รู้จักทอผ้านุ่งห่มแล้ว ใช้เรียกพวกมีวัฒนธรรมต่ำกว่า คือยังไม่รู้จักทอผ้านุ่งห่ม ยังเป็นคนเปลือย หรือคนแก้ผ้า อย่างดีก็เอาใบไม้มามัดผูกเป็นเครื่องนุ่งห่ม
ดังนิทานกำเนิดรัฐฟูนันในอุษาคเนย์ที่ตระกูลพราหมณ์ (โกณฑัญญะ) มาทางทะเล แล้วปราบปรามชนเผ่าพื้นเมืองที่มีหัวหน้าเป็นผู้หญิง เอกสารจีนเรียกนางลิวเย่ แปลว่านางใบมะพร้าวคือไม่นุ่งผ้า แต่เอาใบมะพร้าวมาห่อหุ้มร่างกายเท่านั้น

นางลิวเย่ ก็คือนางนาค หมายถึงนางเปลือย นางแก้ผ้า ตามทัศนะของคนภายนอก คือพวกพราหมณ์จากชมพูทวีป
แต่ในอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับวัฒนธรรม ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ อธิบายว่านาคหมายถึงพวกมีวัฒนธรรมต่ำกว่าชมพูทวีป (มีรายละเอียดในข้อเขียนเรื่องบวชนาค เข้าพรรษา พิมพ์ในมติชน สุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15-21 กรกฎาคม 2559 หน้า 62)
จนที่สุดเรียกคนพื้นเมืองหมดทั้งหญิงและชายอย่างดูถูกและเหยียดหยามว่านาคทั้งนั้นไม่มีละเว้น มีตำนานและนิทานพื้นเมืองพูดถึงบ่อยๆ เช่น อุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม ระบุว่าคนพื้นเมืองบริเวณสองฝั่งโขงที่ยังไม่รู้จักศาสนาจากชมพูทวีปล้วนเป็นนาค
นอกจากมีร่องรอยอยู่ในตำนานและนิทานพื้นเมืองแล้ว คำว่านาค ที่หมายถึงคนพื้นเมือง คนป่า คนดอยคนดง ยังเหลืออยู่กับชนเผ่ากลุ่มหนึ่งในอินเดียทุกวันนี้เรียกตัวเอง (ด้วยคำของคนอื่น) ว่าเผ่านาค มีดินแดนของตัวเองเรียกรัฐนาค (Nagaland)

Advertisement
หญิงสูงศักดิ์ชนเผ่านาค เกล้าผมในพิธีกรรมขึ้นฤดูกาลใหม่ ที่หมู่บ้าน Longkhai ในนากาแลนด์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
หญิงสูงศักดิ์ชนเผ่านาค เกล้าผมในพิธีกรรมขึ้นฤดูกาลใหม่ ที่หมู่บ้าน Longkhai ในนากาแลนด์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

พญานาคปลอมเป็นคน

มีนิทานพุทธเป็นที่รู้กว้างขวางเรื่องหนึ่ง ความว่าพญานาคปลอมเป็นคนไปขอบวช แต่ภายหลังจับได้ว่าไม่ใช่คน เลยห้ามพญานาคบวช
จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายไว้ในหนังสือความเป็นมาของคำสยามฯ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2519) ดังนี้
“ในการบวชเป็นภิกษุของพุทธศาสนา, มีการห้ามมิให้พวกนาคบวช.
เล่ากันว่า นาค นั้นคือพญางูใหญ่ หรือพญานาค, และว่าพญานาคเคยปลอมตัวเข้ามาบวชด้วย. แต่ภายหลังถูกจับได้จึงถูกขับให้ลาสิกขา, พญานาคจึงขอร้องต่อพระพุทธเจ้าว่าต่อไปภายหน้าแม้นาคจะบวชไม่ได้ก็ขอให้ผู้ที่กำลังเตรียมตัวเพื่อจะบวชนั้นมีชื่อเรียกว่า นาค, ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของประเพณีเรียกว่า ทำขวัญนาค, ขานนาค, บวชนาค มาในทุกวันนี้.
จากการนี้จึงได้มีการตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ที่จะมาบวชนั้น มิใช่พญานาคหากเป็นคนแน่นอน, ในการบวชจึงมีระเบียบว่าพระคู่สวดสององค์จะต้องพาผู้บวชออกไปสอบสวนนอกประตูพระอุโบสถ ในคำสอบสวนนั้นมีคำถามหนึ่งถามว่า ‘มนุสฺโส สิ?’ (เจ้าเป็นคนหรือเปล่า).
เรื่องปรัมปราที่ว่าพญานาคปลอมมาบวชนั้นตัดทิ้งไปได้.
ทำไม, พระคู่สวดแต่โบราณนั้นดูไม่ออกเจียวหรือ ว่าคนที่มาขอบวชและยืนอยู่ตรงหน้าตนนั้นเป็นคนหรือเปล่า? และยังไม่ยอมเชื่ออีกหรือว่าผู้มาขอบวชนั้นพูดจาภาษาบาลีกันได้รู้เรื่องขนาดนี้แล้วยังอาจจะไม่ใช่คน?”

นาคไม่ใช่คน

จิตร ภูมิศักดิ์ ชี้ว่านิทานห้ามพญานาคบวช สะท้อนการเหยียดพวกไม่อารยัน ไม่ใช่คน ดังนี้
“ปัญหามิใช่อยู่ที่ว่าพระคู่สวดไม่รู้ หรือดูไม่ออกว่าสิ่งที่ยืนอยู่เบื้องหน้าตนนั้นเป็นตัวแมงกะแท้หรือเป็นคน, หากความเป็นจริงอยู่ที่ว่าสังคมอินเดียยุคนั้นมีการเหยียดหยามคนบางเผ่าที่ระดับสังคมล้าหลังให้เป็นผี เป็นลิงค่างบ่างชะนี เป็นสัตว์ เป็นยักษ์, ไม่ยอมรับว่าเป็นคนหรือเป็นมนุษย์.
ในยุคพุทธกาลนั้น สังคมอินเดียทั่วไปจะต้องไม่ยอมรับชนเผ่านาคาหรือนาคว่าเป็นคน, คงถือเป็นลิงค่างหรือแมงกะแท้ป่าเถื่อน, แม้จะพูดภาษากันรู้เรื่องก็ยังหายอมรับว่าเป็นคนไม่, ฉะนั้นจึงไม่ยอมรับให้เข้าบวชในพุทธศาสนา.
ในสมัยพุทธกาล พุทธศาสนาเผยแพร่อยู่ในบริเวณภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย, นับแต่เนปาลลงไป. ในยุคนั้นชนเผ่านาคคงจะยังไม่ถูกขับไล่จนไปตันอยู่ที่ทิวเขานาคติดพรมแดนพะม่าทั้งหมด คงจะมีกระจายอยู่ในแถบตะวันออกของอินเดียทั่วไป วงการของพุทธศาสนาจึงรู้จักดีและกีดกันพวกนี้ออกนอกความเป็นคน.

อันที่จริงพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นสกุลศากยะแห่งนครรัฐกระเป๋ากบิลพัศดุ์ในเขตเนปาลนั้น ก็มิใช่ชาวอารยัน, หากเป็นชนเผ่ามองโกล, พวกศากยะที่ยังมีอยู่บัดนี้ก็ยังมีใบหน้าและรูปร่างไม่ทิ้งเค้ามองโกลมากนัก, แต่พวกสกุลศากยะคงจะถือตัวว่าเป็นผู้เจริญอย่างเดียวกับอารยัน จึงได้เหยียดหยามพวกนาคลงเป็นอมนุษย์. ประเพณีอันนี้ของสังคมในขณะนั้นจึงได้มีอิทธิพลเข้ามาในพุทธศาสนาด้วย.
ในข้อนี้ถ้าหากจะมองพุทธศาสนาแบบงมงาย คือถือว่าไม่มีอิทธิพลของสังคมในยุคนั้นวางปูเป็นพื้นฐานอยู่เลย ก็อาจจะไม่สามารถเข้าใจได้. แต่ถ้ามองพุทธศาสนาเป็นปรัชญาของยุคที่อินเดียกำลังก้าวหน้ามาสู่ยุคศักดินา เป็นปรัชญาที่เกิดขึ้นคัดค้านปรัชญาของศาสนาพราหมณ์ อันเป็นหัวใจของชนชั้นปกครองอารยันแห่งยุคสังคมทาส, พุทธปรัชญาเกิดขึ้นคัดค้านปรัชญาของศาสนาพราหมณ์ แต่คัดค้านบนพื้นฐานของสังคมในยุคนั้นและก้าวไปไกลที่สุดเท่าที่สภาพสังคมยุคนั้นจะอำนวยให้ไปได้, ส่วนหนึ่งก้าวล้ำยุคไปข้างหน้า และก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ยังคงรับรองความสำนึกขั้นพื้นฐานของสังคมยุคนั้นอยู่, ถ้ามองอย่างนี้จึงจะเข้าใจได้ว่าทำไมวงการพุทธศาสนาจึงไม่ยอมรับว่านาคคือคน. และทำไมจึงต้องถามก่อนบวชเสมอว่า เจ้าเป็นคนหรือเปล่า? (มนุสฺโส สิ).
สาเหตุอยู่ที่ว่าในความสำนึกพื้นฐานของสังคมอินเดียยุคนั้นไม่ยอมรับเอา homo species ว่าเป็นคน-มนุสฺโสทั้งหมดนั่นเอง!
และก็เพราะเหตุนี้ จึงได้มีชนบางเผ่าแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ขึ้นโดยประกาศชื่อเผ่าพันธุ์ทางชีววิทยาของตน ออกมาว่า นี่เว้ย ‘คน’!
และบางเผ่าก็ประกาศลักษณะที่มีการจัดตั้งทางสังคมของตนออกมาด้วยว่า นี่เว้ย คนเมือง!”

Advertisement

ชนเผ่านาคในอินเดีย

คนอินเดียถือตนเป็นอารยัน แต่คนชายขอบอินเดียไม่เป็นอารยัน ย่อมไม่ใช่คน เช่น ชนเผ่านาค
จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายเรื่องชนเผ่านาคในอินเดียไว้ในหนังสือความเป็นมาของ คำสยามฯ ดังนี้
“พวกนาคเป็นชนชาติส่วนน้อยทางตะวันออกสุดของอินเดีย ติดพรมแดนพะม่า อยู่ ณ บริเวณเทือกเขานาค (Naga Hills), เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอัสสัม, แต่พวกนาคได้ร่วมกันต่อสู้มานานปีจนปี พ.ศ. 2507 ได้มีการยินยอมจากรัฐบาลกลางแห่งสหภาพอินเดียให้จัดตั้งเป็นรัฐนาค (Nagaland) ขึ้น.
ชนเผ่านาคเป็นชนชาติตระกูลภาษาธิเบต-พะม่า. เป็นชนชาติที่ล้าหลังตลอดมาในอดีต และลือชื่อในประเพณีล่าหัวมนุษย์เช่นเดียวกับพวก ‘ว้าฮ้าย’ (ละว้าร้าย) ในภาคเหนือของพะม่า. แต่นั่นก็เป็นเรื่องในอดีต. ขณะนี้ชนรัฐนาคเจริญก้าวหน้าไปมากแล้ว.
ชาวอารยันยุคโบราณ, สมัยที่ยังไม่เกิดรัฐประชาชาติ, เหยียดหยามดูถูกพวกนาคมาก ถือเป็นมิลักขะพวกหนึ่ง และคำเรียกชื่อชนชาตินี้ก็กล่าวกันว่ามาจากภาษาอัสสัม ซึ่งเขียน (nāga) แต่ออกเสียงอ่านเป็น นอค (nōga) แปลว่า เปลือย. แก้ผ้า. บ้างก็ว่ามาจากภาษาฮินดูสตานีว่า นัค (nag) แปลว่าคนชาวเขา.
แต่อย่างไรก็ดี มีนักศึกษาบางคนค้นพบว่า คำว่า นอก (nok) นั้นมีใช้อยู่ในภาษาของชาวนาคตะวันออกบางเผ่า แปลว่า ‘คน’ (ในความหมายว่า people ไม่ใช่ human being). และยังมีผู้อื่นอีกที่ได้ค้นพบว่าคำที่เขาเรียกตนเองว่านาค (นคค) แปลว่า คนแข็งแรง. ชนเผ่านาคนั้นเป็นชาตินักสู้ ไม่กลัวเสือ และยกย่องความแข็งแรงของร่างกายเป็นอย่างยิ่ง”

“พุทธ” กับ “ผี” ประนีประนอมเป็น “บวชนาค”

นิทานปรัมปราเรื่องพญานาคที่เป็นงู เป็นสัตว์เลื้อยคลาน ปลอมไปบวช เป็นเรื่องที่ผูกขึ้นมาภายหลังเมื่อคำว่านาคเลื่อนความหมายกลายเป็นงูใหญ่ไปแล้ว
นาค แปลว่าคนพื้นเมือง แต่การที่ยังเรียกพิธีบวชคนพื้นเมืองเป็นพระภิกษุว่าบวชนาค ย่อมสะท้อนให้เห็นลักษณะประนีประนอมทางพิธีกรรม คือพุทธยอมให้ผี เพราะคนพื้นเมืองไม่ยอมเลิกนับถือผีไปเป็นพุทธอย่างชมพูทวีป
พิธีบวชนาคยุคแรกเริ่มเดิมทีมีร่องรอยเหลืออยู่ในพม่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ (เล่าไว้ในหนังสือเที่ยวเมืองพม่า) ว่านาคยังไม่ปลงผมโกนหัว เอานาคขึ้นม้าไปแห่เสียก่อน ต่อเมื่อจะเข้าโบสถ์ขออุปสมบทจึงค่อยโกนหัว ซึ่งต่างจากคนไทยทุกวันนี้ที่ให้นาคโกนหัวก่อนแล้วค่อยแห่นาค
เหตุที่นาคยังไม่ต้องโกนหัว เพราะนาคคือคนเรานี่แหละ ไม่ได้มีฐานะพิเศษเป็นอย่างอื่น เข้าใจว่าคนไทย-ลาวแต่ก่อนก็เป็นอย่างพม่า เพราะเคยเห็นพวกเขมรเป็นนาค ต้องใส่หัวเป็นรูปพญานาคด้วยซ้ำไป แสดงว่ายังไม่ต้องโกนหัว
อย่างนี้คือสิ่งที่เป็นจริงตามประเพณีเดิมแท้มาแต่แรก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image