มรภ.โคราชส่อเปิดหลักสูตรครูเถื่อน! ‘สกอ.-คุรุสภา’เผยมหา’ลัยไม่ได้แจ้งขอ ‘บิ๊กหนุ่ย’จี้ม.จ่ายค่าเทียบโอน

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่กลุ่มบัณฑิตคณะครุศาสตร์ หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (หลักสูตร 5 ปี) โครงการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (กศ.ปช.) รุ่นที่ 15 มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)นครราชสีมา ประมาณ 300 คน ยื่นหนังสือเพื่อให้เยียวยากรณีที่จบการศึกษาแล้ว แต่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เนื่องจากคุรุสภาไม่รับรองหลักสูตร ว่า ตนทราบเรื่องแล้ว แต่เท่าที่ได้รับรายงานยังไม่ทราบว่าทำไมมหาวิทยาลัยจึงทำอย่างนั้น และไม่ทราบด้วยว่า ได้ส่งหลักสูตรให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับทราบหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือไม่ได้ให้คุรุสภารับรอง ซึ่ง มรภ.นครราชสีมาทำไม่ถูก เพราะฉะนั้น ต้องมาดูกันต่อไปว่า จะดูแลเด็กอย่างไร ในเมื่อเด็กได้เรียนจบครบตามหลักสูตรแล้ว

“เท่าที่ได้หารือกับนายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดศธ. ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา ทราบว่าจะต้องมีการเทียบโอนความรู้ของเด็กใหม่ ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 2,700 บาท ในความคิดผม มหาวิทยาลัยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้มองเห็นว่าการที่ขออนุมัติใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ทำให้ผมสามารถเข้าไปดูแลสถาบันอุดมศึกษาได้มากขึ้น ซึ่งกรณีนี้ก็ต้องดูว่ามรภ.นครราชสีมา จะรับผิดชอบอย่างไร และหากสภามรภ.นครราชสีมา ยังเกาหลังกันเองก็จะเข้าไปจัดการ เพราะการที่มหาวิทยาลัยเอาเด็กเป็นตัวประกันแบบนี้ทำไม่ถูกต้อง” พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว

น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า สกอ.จะลงไปตรวจสอบโดยเร็ว ตอนนี้บอกได้ว่ากรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง เพราะได้สร้างความเดือดร้อนให้กับเด็ก ทำให้เด็กเสียเงิน เสียสิทธิ เสียโอกาสและเสียเวลา ซึ่งหากเด็กต้องเรียนเพิ่มเพื่อมาเทียบ 9 มาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา มรภ.นครราชสีมาก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทั้งนี้ก่อนเด็กที่จะลงทะเบียนเรียนหลักสูตรใดก็ตาม ให้ตรวจสอบ 2 เรื่อง คือ 1.หลักสูตรนั้น สกอ.ได้รับทราบแล้วหรือยัง และ 2.กรณีที่สาขาวิชาใดมีสภาวิชาชีพควบคุมอยู่ ก็ต้องได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพนั้นก่อน ซึ่ง สกอ.ได้ย้ำเตือนมาตลอดแต่ก็ยังมีปัญหาทุกปี

นายชัยยศ กล่าวว่า ทางออกของคุรุสภาในกรณีนี้ คือ เปิดเทียบโอนความรู้ 9 มาตรฐานวิชาชีพ เพื่อรับรองความรู้ของเด็กเป็นรายคน ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่เป็นการเทียบเพื่อให้ได้ใบอนุญาตฯ โดยอัตโนมัติ ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายเพราะเป็นการทำเฉพาะกิจ ก็ต้องถามว่าใครจะออกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เรื่องที่เกิดขึ้นผิดที่มหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี หรือคณบดี จะบอกว่าไม่รู้เรื่องไม่ได้เลย ดังนั้นทุกฝ่ายต้องจะร่วมกันรับผิดชอบ จะหนีความรับผิดชอบไปไม่ได้ ส่วนการใช้อำนาจม.44 เข้าไปจัดการเมื่อถึงเวลาจำเป็นจริง ๆ ก็คงต้องใช้ จะปล่อยให้มหาวิทยาลัยไปทำให้เด็กเดือดร้อน เพราะความไม่มีวินัยของมหาวิทยาลัย แล้วมาเทหน้าบ้านคุรุสภา ให้คุรุสภาต้องมาแก้ปัญหาไม่ได้อีกแล้ว อย่างไรก็ตามคิดว่า มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตร โดยที่คุรุสภาและสกอ.ไม่รับทราบ มีอีกหลายแห่ง แต่สกอ.และคุรุสภา จะไม่มีทางรู้ได้เลยถ้าไม่มีคนออกมาร้องเรียน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image