“ถังแดง”บทเรียนจากความตาย จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง”

“ถีบลงเขา เผาลงถังแดง”

วลีที่ได้ยินกันอย่างแพร่หลาย แต่ความทรงจำของสังคมในเรื่องนี้กลับเลือนราง

อาจเพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในบางพื้นที่ ในระยะเวลาหนึ่ง ไม่เป็นที่รับรู้ของสังคม ข่าวถูกเสนอขึ้นมาเมื่อเหตุการณ์จบไปหลายปีแล้ว และไม่มีการสืบสวนนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

แต่ยืนยันความโหดร้ายในวิธีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้เข้าปราบปรามกับประชาชนได้ดี

Advertisement

เหตุการณ์ “ถังแดง” เกิดช่วงสงครามเย็น เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าปราบปรามแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ช่วงทศวรรษ 2510

ในภาคใต้ก็นำโมเดลการปราบปรามอย่างรุนแรงมาใช้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียง ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเขตเคลื่อนไหวของ พคท.

ถีบลงเขา คือ การถีบลงมาจากเฮลิคอปเตอร์

Advertisement

เผาลงถังแดง คือ การนำคนใส่ถังน้ำมันพร้อมเชื้อเพลิง เผาทั้งที่เสียชีวิตและยังมีชีวิต ซึ่งวิธีนี้จะทิ้งร่องรอยไว้น้อยมาก

เหตุการณ์นี้รุนแรงขึ้นมาในช่วงปี 2514 จนถึงก่อน 14 ตุลาคม 2516 ก่อนที่รัฐจะเปลี่ยนไปใช้การปราบปรามวิธีการอื่นๆ เมื่อมีผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มากขึ้น

หนังสือเล่มล่าสุดที่พูดถึงเรื่องนี้ “ถังแดง : การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย” เพิ่งตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดัดแปลงจากวิทยานิพนธ์ของ จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม เมื่อครั้งศึกษาปริญญาโทที่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายหลังจากจบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป็นการศึกษาจากความทรงจำกรณี “ถังแดง” ในชุมชนลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง

ปัจจุบันจุฬารัตน์ทำงานเป็นที่ปรึกษา มูลนิธิเบิร์กฮอฟ (Berghof Foundation) องค์กรสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ งานวิจัยและการศึกษาสันติภาพ โดยเฉพาะกรณีสามจังหวัดชายแดนใต้

อีกทั้งยังทำงานให้ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ ที่ทำงานสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในภาคใต้

ตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ถังแดง จากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยระบุไว้ว่า 3,008 คน ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตในชุมชนลำสินธุ์ที่ชาวบ้านมีหลักฐานบันทึกไว้ราว 200 กว่าคน

ความตายของผู้คนจำนวนมากไม่เคยให้บทสรุปว่าความขัดแย้งจะลดลง ยิ่งเก็บเงียบยิ่งปะทุ แต่รัฐไม่เคยได้บทเรียน การเข้าปราบปรามประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากยังเกิดขึ้นต่อมาอีกหลายเหตุการณ์จนถึงเมื่อไม่กี่ปีมานี้

กระบวนการสันติวิธีเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง เกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันทั้งสังคม มิใช่มีเพียงประชาชนที่พยายามเข้าใจ แต่ฝ่ายผู้มีอำนาจไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ทำไมสนใจเรื่องนี้?

จริงๆ สนใจเรื่องปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ แต่อาจารย์หลายท่านบอกว่า ถ้าพูดภาษามลายูไม่ได้ก็ไม่แนะนำ เพราะต้องลงที่พื้นเก็บข้อมูล มีช่วงที่ ม.เที่ยงคืนคือ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ อ.เกษียร เตชะพีระ นำคนจากปัตตานีมาเรียนรู้บทเรียนจากกรณีถังแดง ประเด็นถังแดงเราไม่เคยรู้มาก่อน มีบทเรียนบางอย่างที่จะเชื่อมโยงกับสามจังหวัดภาคใต้ได้ เลยสนใจ และเราเป็นคนตรังพูดใต้ได้น่าจะสื่อสารกับชาวบ้านได้ง่าย

ลงพื้นที่ราว 2 ปี ช่วงปี 2550-2551 มีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ อ.ไชยันต์ รัชชกูล กับ อ.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล และ อ.เกษียร เตชะพีระ เป็นกรรมการจากภายนอก เรียนจบเมื่อปี 2552 กว่าหนังสือจะพิมพ์ผ่านขั้นตอนหลายอย่าง จนตีพิมพ์ออกมาปีนี้

ทำไมช่วงนั้นความรุนแรงที่ภาคใต้ถึงเกิดขึ้นชัดกว่าที่อื่น?

ช่วงก่อน 2514-2530 เป็นช่วงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ภาคใต้ก็เป็นเขตงานหนึ่งในการเคลื่อนไหวของ พคท. เรียกว่า เขตภูบรรทัด มีพัทลุง ตรัง สตูล แต่วิธีการจับและปราบคนต่างกัน ชาวบ้านบอกว่ากรณีพัทลุงเป็นกรณีพิเศษ ทดลองว่าถ้าปราบแบบนี้จะเวิร์กไหม การใส่คนลงไปทั้งเป็นแล้วเผาต้องสตาร์ตรถยีเอ็มซีเพื่อกลบเสียงร้อง ทำได้ไม่นานเขาพบว่าไม่เวิร์ก เพราะการจับคนใส่ในถังแล้วเผา ใช้น้ำมันเยอะ ใช้เวลานาน เสียพลังงานเสียเงิน จากนั้นเลยเปลี่ยนมาเป็นการยิง

แต่สำหรับคนที่จับแล้วเผาเขาก็จะอธิบายว่าถังแดงไม่เหลือร่องรอย ทำให้ตามยาก จะกลายเป็นเถ้าแล้วเทลงไปในคลอง จะหาไม่เจอว่าหายไปไหน ส่วนการยิงหรือการถีบลงเขายังมีศพ มีกระดูก ตามเอกสารที่เจอในพื้นที่สันนิษฐานได้ว่าถังแดงเกิดตั้งแต่ 2514 ถึงก่อน 14 ตุลาคม 2516 ประมาณ 1-2 ปี พอ 14 ตุลา ประชาชนและเยาวชนเริ่มเข้าร่วม พคท.มากขึ้น การเผาจะไม่มีประสิทธิภาพในการปราบปรามคนจำนวนมาก ถังแดงจึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดช่วงสั้นๆ แต่ก็สร้างบาดแผลให้ผู้คนจนถึงปัจจุบัน

ช่วงนั้นเหตุการณ์เป็นที่รับรู้แค่ไหน?

เริ่มเป็นข่าวเมื่อกุมภาพันธ์ 2518 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยออกมาพูดที่สนามหลวงว่ามีการจับคนเผาลงถังแดง หลังจากนั้นไม่นานมีการยอมรับจากเจ้าหน้าที่ลงข่าวหนังสือพิมพ์ยอมรับว่ามีการเผาจริง แต่ไม่ได้เยอะขนาดที่นักศึกษาว่า เป็นข่าวช่วงสั้นๆ ไม่กี่เดือนจากนั้นก็หายไป ไม่มีการสอบสวน หายไปเลย

นักศึกษาเข้าป่าแล้วจึงรู้จากชาวบ้านที่เข้าป่าว่ามีเหตุการณ์นี้ ถังแดงไม่ได้มีหลักฐานปรากฏ ชาวบ้านมีการพูดกันว่าถูกจับไปแล้วไม่ปล่อย บางคนที่ถูกจับไปในค่ายออกมาก็เล่าว่ามีกลิ่นเหมือนกลิ่นเผาเนื้อแต่ไม่ใช่กลิ่นทั่วไป

ตัวเลขคนตายทั่วประเทศในช่วงนั้น คือ 3,008 คน แต่จริงๆ เกิดขึ้นไม่กี่จังหวัดในภาคใต้ กรณีที่ลำสินธุ์ พัทลุง เท่าที่รู้ มีชื่อของผู้เสียชีวิต 200 กว่าคนที่หาไม่เจอ ไม่รู้ว่าหายไป ถูกเผาหรืออุ้มหาย ไม่มีศพ

เหยื่อเป็นแนวร่วมอยู่แล้วหรือปราบปรามหนักแล้วจึงไปร่วมกับ พคท.?

เหยื่อส่วนใหญ่เป็นญาติของผู้ที่เชื่อว่า เป็นแนวร่วมกับ พคท. กรณีที่จับญาติเพื่อรีดให้สารภาพว่าผู้ต้องสงสัยไปไหน เขาหาคนที่เป็นคอมมิวนิสต์ไม่เจอเพราะไปอยู่ในป่า ก็จะไปจับพ่อแม่มา ตามคำบอกเล่าบอกว่ามีการซ้อมและบังคับให้บอกว่าลูกอยู่ไหน ถ้าไม่รับก็ถูกตีแล้วเผาในถัง บางคนจำเป็นต้องรับเพื่อให้มีชีวิตรอดออกมา

สมัยนั้นจะมีการตั้งด่านคล้ายในสามจังหวัดภาคใต้ คนถูกเจ้าหน้าที่รัฐริบบัตรประชาชนโดยเฉพาะเด็กผู้ชาย ถ้าอยากได้ต้องไปเอาในค่ายทหาร บังคับให้ไปรายงานตัวกลายๆ แต่เนื่องจากข่าวลือเยอะ เป็นช่วงการสู้รบ ไม่มีการไว้ใจในเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่แน่ใจว่าเข้าไปจะได้กลับมาไหม รัฐเองก็ไม่ไว้ใจว่าคนนี้จะเป็น พคท.หรือเปล่า บางคนไม่กล้าไปเอาบัตรเลยหนีเข้าป่าไปร่วมรบกับ พคท.

คนเข้าป่าจับอาวุธกับ พคท.เพราะอุดมการณ์ก็มี ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยเข้าป่าเพราะกลัวเจ้าหน้าที่รัฐก็มีเหมือนกัน มีคนบอกว่าส่วนใหญ่เป็นแบบหลัง ไม่กล้าอยู่บ้านก็เลยเข้าป่า ส่วนจะรับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ขนาดไหนก็แล้วแต่คน

จากการลงพื้นที่พบอะไรใหม่กว่าที่คิดไหม?

ที่น่าสนใจคือวิธีที่ชาวบ้านอยู่กับความทรงจำ ที่นี่มีอนุสรณ์สถานที่เอาอุปกรณ์สังหารขึ้นไปเป็นอนุสาวรีย์ ขณะที่ที่อื่นเป็นรูปคนรูปเคารพ ที่นี่เหมือนเอาสิ่งที่รัฐทำขึ้นมาแบให้เห็น แต่เขาจัดการได้ดี ทำให้รัฐไม่ตะขิดตะขวงใจกับสิ่งที่ปรากฏ ตอนที่เริ่มตั้งอนุสรณ์สถานก็มีเจ้าหน้าที่มาดู แต่คนที่ร่วมตั้งอนุสรณ์สถานบอกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่จะทิ่มแทงรัฐ แต่เป็นสถานที่ให้เกียรติกับผู้เสียชีวิต น่าสนใจว่าชาวบ้านสามารถเอาอุปกรณ์การฆ่าคนที่เราเชื่อว่าทำโดยรัฐตั้งอยู่ในชุมชนได้

และเนื่องจากตรงนั้นเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของ พคท. ชุมชนดูจะเป็นหนึ่งเดียว ทุกคนมีบทเรียนจากกรณีถังแดง แต่พบว่าในพื้นที่มีคนที่รู้สึกว่าเป็นเหยื่อของ พคท.ไม่เห็นด้วยกับอนุสรณ์สถานนี้ เพราะบางคนมีพ่อ พี่หรือสามีเคยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ กำนัน นายอำเภอ แต่ถูกคอมมิวนิสต์สังหาร เขารู้สึกเป็นส่วนน้อยของสังคม

กลับกันกับสมัยก่อนที่ พคท.เป็นเหยื่อ ตอนนี้กลายเป็นว่า คนที่เคยเป็นเหยื่อของ พคท.ถูกทำให้เงียบหายกลายเป็นส่วนน้อยของชุมชนไป เราเห็นความทรงจำหลายแบบในพื้นที่ ที่นี่จัดการกับความทรงจำของแต่ละคนต่างกัน ความทรงจำไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความต่างกัน แต่พวกเขาจัดการและอยู่กับความต่างได้อย่างไรเป็นสิ่งที่เราสนใจ

จุฬารัตน์
จุฬารัตน์

อนุสรณ์สถานมีความสำคัญ/สัมพันธ์กับชุมชนยังไง?

มีงานประจำปี เรียกว่างานรำลึกถังแดง ทำบุญไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิต มีการเสวนาทางการเมืองและดนตรี รวมอดีตคนที่เคยเคลื่อนไหวเข้าป่าโดยเฉพาะเขตภูบรรทัดให้มารวมกันปีละครั้ง เป็นงานรวมญาติ ทุกวันนี้ยังมีความสำคัญอยู่ ถังแดงกลายเป็นประวัติศาสตร์ชุมชน แต่ไปมาล่าสุดเมื่อหลายปีมานี้พบว่าร้างๆ ลงไป เพราะปัญหาการเมืองในกรุงเทพฯที่ลุกลามไปทั่ว การต่อสู้ของคนเสื้อแดงเสื้อเหลือง ทำลายสายสัมพันธ์บางอย่างในชุมชน ถังแดงเลยซาไป

ในพื้นที่มีการศึกษาเรียนรู้แค่ไหน?

ในชุมชนลำสินธุ์ มีกลุ่มที่เรียกว่า “เครือข่ายสินธุ์แพรทอง” จัดตั้งมาจากกลุ่มออมทรัพย์ แกนนำส่วนใหญ่เป็นอดีตสมาชิก พคท. ข้อเด่นคือวิธีที่ชาวบ้านอธิบายตัวเองจากฐานประวัติศาสตร์ หยิบเรื่องถังแดงขึ้นมาเป็นบทเรียน เป็นความทรงจำบาดแผลที่คนในชุมชนต้องจำไว้ และรู้ว่ารัฐไม่ได้น่าไว้ใจเสมอไป ทำยังไงก็ได้ที่ไม่ต้องพึ่งรัฐเพียงอย่างเดียวอยู่ด้วยตัวเองได้ เอาประวัติศาสตร์ถังแดงสร้างแรงบันดาลใจให้ต้องอยู่ด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณจากทางการมากนัก บทเรียนนี้ถูกสอนไปรุ่นลูกรุ่นหลาน ในงานรำลึกจะมีดนตรีมีวัยรุ่น โดยมีเพลงถังแดงอยู่ด้วย ความทรงจำไม่ได้ตายไปกับคนรุ่นเก่า ถูกเอามาหล่อเลี้ยงคนในชุมชนอยู่ตลอดผ่านการบอกเล่าการทำงานของแกนนำเครือข่าย

เหตุการณ์ถังแดงมีพื้นที่ในการเรียนการสอนประวัติศาสตร์แค่ไหน?

ไม่มีเลย อาจมีคนเคยได้ยินแต่บางคนไม่รู้จักเลย คิดว่าไม่มีการสอนด้วยซ้ำ เป็นประวัติศาสตร์ความรุนแรงเล็กมากเมื่อเทียบการต่อสู้ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา ชาวบ้านพื้นที่ใกล้เคียงอย่างที่ตรังก็จะรู้จักถังแดงเป็นความทรงจำเลือนราง เพราะเหตุการณ์เกิดสั้น เฉพาะจุด ไม่ได้ปรากฏในสื่อเยอะ ไม่มีข่าวเป็นเพียงคำบอกเล่า มีข่าวเมื่อเหตุการณ์จบไปแล้วหลายปี จึงไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่

การจัดการความทรงจำบาดแผลเป็นเรื่องเดียวกับการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษไหม?

กรณีนี้ไม่ใช่เหมือนมันจบไปแล้วสำหรับชาวบ้าน ที่เขาทำคือการรำลึกพูดถึงใช้เป็นบทเรียน ไม่ได้เป็นการเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เขารู้ว่าใครทำบางคนบอกได้ว่าใครอยู่เบื้องหลังตอนนั้น แต่สำหรับเขาอาจรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ที่จะฟื้นขึ้นมา ไม่ได้คิดในแง่การดำเนินคดี

การศึกษาเรื่องนี้มีผลต่อการสร้างกระบวนการสันติวิธีไหม?

คิดว่ามีส่วน ปัจจุบันการทำงานเรื่องสันติภาพจำเป็นต้องย้อนกลับไปดูอดีตเสมอ อ.เกษียรเคยบอกว่า เวลาจะก้าวเดินไปในอนาคต ขาอีกข้างต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ด้วย เราจำเป็นต้องเรียนรู้จากมัน นี่เป็นบทเรียนสำคัญว่า วิธีต่อสู้แบบเดิมไม่เวิร์ก การสู้ด้วยกำลังเผชิญหน้าแบบใช้กำลังเข้าฟาดฟันมันไม่จบ ความรู้สึกของผู้คนยังมีบาดแผลอยู่ และประวัติศาสตร์ไม่ได้มีชุดเดียว กรณีถังแดงไม่ได้บอกว่ามีแค่การตายเพราะถูกรัฐกระทำเพียงอย่างเดียว แต่มีความทรงจำอีกหลายแบบ มีสิ่งที่ พคท.ต้องรับผิดชอบเหมือนกัน รัฐก็ต้องรับผิดชอบ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความรุนแรงต้องรับผิดชอบทั้งหมด ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ ในกระบวนการสันติภาพจึงจำเป็นต้องมีทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ในนาม จะทำงานอย่างไรให้ฝ่ายที่ยืนอยู่คนละข้างพร้อมจะยอมรับ เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจประวัติศาสตร์ความทรงจำที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

ดูเหมือนคนที่มีการเรียนรู้จะเป็นฝ่ายชาวบ้านมากกว่าฝ่ายรัฐ?

รัฐก็คือรัฐ เขาคงคิดว่ามันจำเป็น รัฐอาจคิดว่าการตายของคนจำนวนหนึ่งเพื่อเสียสละให้คนส่วนใหญ่เป็นเรื่องจำเป็น ไม่รู้ว่าเขาเรียนรู้ไหม เราคิดว่ารัฐก็ไม่เคยเรียนรู้ ถ้าเรียนรู้คงไม่มีเหตุการณ์อื่นๆ อย่างกรณีพฤษภา 2535 กรณีราชประสงค์ 2553 กรณีภาคใต้

บทเรียนจากเรื่องนี้?

เราคิดว่าความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางความคิดเป็นเรื่องปกติ แต่รัฐเห็นว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องผิดปกติเป็นปัญหา อย่างกรณีภาคใต้ คนที่เชื่อในอุดมการณ์ที่ต่างจากรัฐกลายเป็นอันตรายกับรัฐ ถ้าลองคุยกับเขาอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด คนที่มีความคิดต่างช่วงคอมมิวนิสต์เฟื่องฟูก็เป็นอันตรายสำหรับรัฐตอนนั้น ปราบและเข่นฆ่าผู้คน การต่อสู้ทางอุดมการณ์จำเป็นต้องเอาออกมาไม่ใช่ปิดบังซ่อนเร้นเอาไว้ ไม่อย่างนั้นจะระเบิดแบบที่เห็น

สิ่งสำคัญคือทำยังไงไม่ให้ความขัดแย้งกลายเป็นความรุนแรง เมื่อเห็นว่าความขัดแย้งเป็นปัญหาจึงใช้ความรุนแรงจัดการปัญหาก็จะอันตรายสำหรับอนาคตด้วย

ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ตอนนี้ในสังคมไทยควรยอมรับว่ามีความขัดแย้ง จะจัดการยังไงให้ไปสู่จุดที่อยู่กันได้ ทนกันได้ เป็นเรื่องสำคัญ

กระบวนการสันติภาพ

ใช้ความเชื่อมั่นและไว้วางใจเพื่อเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง

ปัจจุบัน จุฬารัตน์ ทำงานสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ โดยเธอบอกว่ามาจากความสนใจเรื่องปัญหาความรุนแรงกับสันติวิธี อาจเพราะตอนเรียน ป.ตรีได้เป็นผู้ช่วย อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มีคนมาปรึกษาอาจารย์ พบว่ามีปัญหาเยอะมากในสังคมไทย มีการเรียกร้องของชาวบ้านจะนะเรื่องท่อก๊าซ ปัญหากรณีปากมูล ปัญหาเรื่องภาคใต้

“ทำไมความขัดแย้งเยอะจัง ไหนบอกว่าประเทศนี้เป็นประเทศรักสงบ ปัญหาเยอะไปหมด เราจะเปลี่ยนมันยังไง ทำยังไง เลยสนใจ”

ส่วนกรณีสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ทำงานเกี่ยวข้องอยู่ เธอมองว่า ตอนนี้กระบวนการพูดคุยชะงักไปหมด ด้วยปัจจัยหลายอย่าง กระบวนการสันติภาพใช้เวลาหลายสิบปี ตอนนี้เพิ่งเริ่มต้น ต้องให้เวลา มีปัญหาภายในทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการต่อสู้

“ประเทศไทยไม่เคยมีกระบวนการสันติภาพแบบที่เห็นในภาคใต้ นี่เป็นครั้งแรกและเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้อีกเยอะ ใช้เวลานาน แต่ละฝ่ายเองจำเป็นต้องเรียนรู้ รัฐเองอาจรีบไปหน่อย บอกว่าต้องจบภายในปีนั้นปีนี้ เป็นไปไม่ได้ เมื่อคนที่ต่อสู้ในพื้นที่รู้สึกไม่โอเคกับสิ่งที่เป็นอยู่ รัฐเองก็ยังไปล้อมตรวจค้นกวาดจับผู้คนอยู่ จะอยู่กันยังไง

“กระบวนการสันติภาพจำเป็นต้องสะท้อนและเอาความจริงทั้งหมดขึ้นมาเปิดเผย ด้านหนึ่งบอกว่าเป็นกระบวนการพูดคุย แต่อีกด้านใช้วิธีไล่จับผู้คน จึงไม่เวิร์กถ้ารัฐไม่จริงใจ แค่พูดว่าจริงใจอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องรัฐพิสูจน์ให้เห็นว่า จริงจังและจริงใจกับเรื่องนี้แค่ไหน ต้องสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ และมีเจตจำนงหรือเจตนารมณ์ทางการเมืองขนาดไหนในการจัดการปัญหาในภาคใต้ ไม่ใช่ใช้แต่คำว่า “เรากำลังมีกระบวนการพูดคุย” ตอนนี้เลยยังยากอยู่ ขบวนการต่อสู้เองอาจต้องเป็นเอกภาพมากกว่านี้ ตอนนี้ยังมีหลายกลุ่ม ทำให้รัฐใช้เป็นข้ออ้างว่าเราคุยแล้วแต่ฝั่งโน้นไม่พร้อม ต้องเรียนรู้กันไป คนในพื้นที่ก็เหมือนกัน ทุกฝ่ายต้องทำให้เห็นว่าจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้อย่างไร เพราะตอนนี้ไม่มีใครไว้ใจกัน”

เป็นอีกความเห็นของคนทำงานที่ต้องการเห็นกระบวนการสันติภาพทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งดีขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image