ยิ่งใกล้ 7 สิงหา ยิ่งระทึกผลประชามติ รับ-ไม่รับ ร่าง รธน.

ดูเหมือนว่า ยิ่งใกล้วัน 7 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ พร้อมคณะ ร่างขึ้นมา

ความเชื่อมั่นว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านฉลุยเริ่มเสื่อมถอย

มิใช่เสื่อมถอยเพราะกลุ่มคัดค้านเดิมอย่างพรรคเพื่อไทยที่แถลงออกมาตั้งแต่ไก่โห่ว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ไม่ใช่แกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์

Advertisement

เกยุราพันธุ์ นายภูมิธรรม เวชยชัย นายวัฒนา เมืองสุข ฯลฯ ที่ไม่รับร่างฯ

ไม่ใช่แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่ประกาศไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะโหวต

และไม่ใช่กลุ่มนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ซึ่งประกาศไม่รับร่างฯเช่นกัน

หากแต่สิ่งที่เริ่มสั่นไหวความมั่นคงของร่างรัฐธรรมนูญกลับเป็นคนที่ยืนอยู่ข้างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตั้งแต่ยึดอำนาจ

เป็นคนที่สนับสนุนรัฐบาล แต่ไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะ นายไพศาล พืชมงคล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่ทำงานกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแท้ๆ

แต่ออกมาโพสต์ผ่านออนไลน์..

ประกาศ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ด้วย

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะทำประชามติวันที่ 7 สิงหาคม เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช.มุ่งมั่นต้องการให้ผ่าน

หากผ่าน เท่ากับว่า ประชาชนในประเทศนี้รับรองรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้น

เท่ากับว่า ประชาชนให้การยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ แม้จะถูกโจมตีว่าประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม

ขณะเดียวกัน การผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ย่อมโดนเหมารวมไปว่า ประชาชนให้การรับรอง คสช.ด้วย

ทั้งนี้ เพราะ คสช.ยึดอำนาจ คสช.วางโรดแมป คสช.ตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ รวมทั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ

การยึดอำนาจและการใช้อำนาจของ คสช. ถูกมองว่าเป็นการใช้อำนาจที่ปฏิวัติมา

ไม่ใช่อำนาจประชาชน

แต่หากประชาชนให้การสนับสนุนรัฐบาลและ คสช.

โอกาสที่ คสช.จะหยิบยกเรื่องประชาชนสนับสนุนมาเป็นข้อได้เปรียบย่อมมีสูง

บางที หากการประชามติสนับสนุนมาก

เสียงประชาชนคนไทยอาจจะดังไปถึงต่างประเทศ ซึ่งกำลังแสดงความห่วงใยไทยอยู่ในขณะนี้

ความจริงแล้ว ต่างประเทศแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ในไทยมาตั้งแต่ต้น

ยิ่งสถานการณ์การทำประชามติ ต่างประเทศได้สลับกันออกมาตอกย้ำให้ไทยเปิดกว้างและให้โอกาสประชาชนมีส่วนร่วม

แต่ที่ผ่านมา เมื่อต่างชาติกดดัน รัฐบาลไทยชี้แจง เพราะเห็นว่าโลกไม่เข้าใจประเทศไทย

บรรดากองเชียร์ชาวไทยจะนิ่งเสีย เพราะต่างชาติไม่สามารถเข้ามายุ่งกับกิจการไทยได้

กองเชียร์บางคนถึงกับออกไปต่อกรต่างชาติด้วยตัวเอง

ออกไปต่อกรด้วยการแถลงข่าวชี้แจงแทน หรือตอบโต้แทนรัฐบาลไทย

ข้อเรียกร้องเรื่องการเปิดกว้าง และการมีส่วนร่วมที่ต่างชาตินำเสนอจึงไม่ได้รับการตอบสนอง

แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มที่เคยสนับสนุนรัฐบาลกลับมีทีท่าแปลกไป

แปลกไปจนกระทั่งกลุ่ม 16 องค์กร 117 พลเมืองมีข้อสรุป และเกิดข้อสงสัย

เมื่อ นายโคทม อารียา อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี พร้อมเครือข่ายประชาสังคม และนักวิชาการจากหลายสถาบัน

รวบรวมรายชื่อจากเครือข่ายต่างๆ รวมทั้งพรรคการเมือง เพื่อหาจุดร่วมเรียกร้องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

ทั้งหมดออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้อง 5 ข้อ

1.ให้เคารพสิทธิประชาชนในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ

2.ต้องเสนอทางเลือกที่ชัดเจนให้ประชาชน หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน

3.กรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ควรมีกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากฉันทามติ ผ่านกลไกที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการออกแบบ

4.หากหลักการตามข้อเรียกร้องข้อ 1-3 ข้างต้นเกิดขึ้นได้จริง ทุกฝ่ายควรยอมรับในผลของการลงประชามติ

และ 5.รัฐธรรมนูญที่ได้มานั้นควรมีหลักการสำคัญ อาทิ การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของประชาชนที่ไม่ถดถอยไปจากเดิม

การตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจอธิปไตยของกลไกทางการเมืองที่มีความสมดุล

การกำหนดให้มีการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่มีความพร้อมในการจัดการตนเอง เป็นต้น

น่าสังเกตว่า ในรายชื่อผู้สนับสนุนแถลงการณ์ครั้งนี้ มีหลายชื่อที่เคยอยู่เคียงข้างรัฐบาล

และน่าสังเกตว่า มีชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รวมอยู่ด้วย

ดูเหมือนว่า ปรากฏการณ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ค่อยเป็นคุณต่อการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญนัก

นอกจาก นายไพศาล พืชมงคล จะโพสต์ข้อความไม่รับร่างแล้ว นพ.ประเวศ วะสี ก็สงวนท่าทีต่อการโหวต

พล.อ.ประยุทธ์เริ่มทยอยใช้ ม.44 ในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้น แต่ผลจากการใช้ ม.44 ก็เกิดผลกระทบ

มีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ

เรื่องวุ่นๆ ที่หนังสือพิมพ์แนวหน้าลาออกจากสภาการหนังสือพิมพ์ ทางหนังสือพิมพ์แนวหน้าชี้แจงว่า

มีสาเหตุมาจาก 5 องค์กรสื่อปกป้องสื่อเลือกข้าง ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ใช้ ม.44 เพิ่มอำนาจปิดทีวี-วิทยุ โดยไม่ต้องรับผิดอาญา-แพ่ง และวินัย

พร้อมๆ กันนั้นก็เริ่มมีกลุ่มพลเมืองออกมาเคลื่อนไหว และเริ่มตั้งคำถามถึงอนาคตหลังการทำประชามติ

ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเป็นเช่นไร

ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะทำอย่างไร

สถานการณ์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จึงยืนอยู่บนความไม่แน่นอน

ทั้งผ่านและไม่ผ่าน มีโอกาสเกิดขึ้นทั้งนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image