นพ.สุภัทร โพสต์ชี้ เอกสารกกต.เข้าข่ายเป็นโฆษณาชวนเชื่อเรื่องบัตรทอง

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา และ แกนนำแพทย์ชนบทภาคใต้ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Supat Hasuwannakit’ แสดงความเห็นทางการเมืองเกี่ยวกับการลงประชามติ โดยระบุว่าเอกสารที่กกต.เผยแพร่อาจทำให้คนเข้าใจผิด มีรายละเอียดดังนี้

กกต.เผยแพร่ภาพนี้ ในทัศนะผมเป็นโฆษณาชวนเชื่อให้คนเข้าใจผิดนะครับ

อย่างแรก บัตรทองไม่หายไป อันนี้คงจริง บัตรทองหายไปไม่ได้ แต่เปลี่ยนไส้เปลี่ยนสาระสำคัญได้ และสาระสำคัญที่สุดที่เชื่อว่าจะถูกเปลี่ยนคือ การเปลี่ยนจากสิทธิมาเป็นการสงเคราะห์ เดิมหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิของทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่กำลังถูกลดชั้น นั่นคือเหลือสงเคราะห์แก่คนยากไร้ คนพิการ ผู้สูงอายุและเด็ก ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนมากใน รธน. มาตรา 47 ซึ่งสามารถตีความได้ว่า เปิดช่องให้ประชาชนนอกจาก 4 กลุ่มนี้ต้องร่วมจ่าย เพราะรัฐเห็นว่าหลักประกันสุขภาพเป็นภาระ แต่สายแพทย์ชนบทเห็นว่านี่คือรัฐสวัสดิการที่ดีที่สุดที่คนไทยมีและรัฐต้องดูแลต้องให้กับทุกคน หากเงินไม่พอก็ให้เก็บภาษีเพิ่มเช่นภาษีน้ำหวาน ภาษีรถหรู ภาษีการซื้อขายหุ้น เพราะเป็น solidarity ของสังคมคือแบ่งปันเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข แต่การร่วมจ่ายเมื่อป่วยคือการซ้ำเติมความโชคร้ายของคนที่ป่วย

อย่างที่ 2 ว่าด้วยการมีระบบแพทย์ประจำครอบครัวกับการมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแล เป็นคนละเรื่องกัน การมีระบบแพทย์ประจำครอบครัวดูแลนั้นคือระบบอังกฤษ คือการที่ทุกคนต้องลงทะเบียนกับแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่มีประจำอยู่ในชุมชน เจ็บป่วยต้องไปหาแพทย์ประจำครอบครัวก่อน จะข้ามไป รพ.ใหญ่เลยไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันไทยเรายังไม่มีระบบนี้ เรามีแต่แพทย์ใน รพช.ที่ไม่ได้เป็นแพทย์ประจำครอบครัว หากทำจริงก็เป็นสิ่งที่ดีมากๆ แต่ทิศทางผลิตแพทย์ต้องเปลี่ยนจากการผลิตแพทย์เฉพาะทางมากกว่า 80% มาเป็นผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเกิน 50% นี่คือการยูเทิร์นระบบสาธารณสุขเลย ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้โดยง่ายสำหรับไทย

Advertisement

ส่วนการมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในสัดส่วนที่เหมาะสมนั้น ปัจจุบันเราพยายามเป็นเช่นนั้น คือพยายามมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ รพ. ทำหน้าที่ดูแลเหมือนแพทย์ทั่วไป ไม่ได้ทำหน้าที่แพทย์ประจำครอบครัว ที่เน้นดูแลครอบครัวที่ลงทะเบียนกับตน ดังนั้นจึงไม่ได้แปลว่า การมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในสัดส่วนที่เหมาะสมจะทำให้มีระบบแพทย์ประจำครอบครัว มันคนละเรื่องกันครับ

กรธ. และ กกต.เข้าใจอะไรผิดไปหรือเปล่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image