แก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพ ต้องยึดหลักเพื่อประชาชนอย่างถ้วนหน้า โดย สุรีรัตน์ ตรีมรรคา

แฟ้มภาพ

สถานการณ์เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีที่มาที่ไปเป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีส่วนร่วมเต็มที่ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงเป็นที่มาของขบวนการประชาชนในการระดมรายชี่อให้ได้ห้าหมื่นชื่อเพื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นไปตามข้อบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายในหมวดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงอ้างอิงมาตรา 52 ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และมาตรา 82 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่รับรองสิทธิบุคคลเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และรัฐต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง

โดยเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.คือ

1) จัดระบบการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตให้มีการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐาน โดยมีองค์กรกำกับดูแลซึ่งจะดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อจัดการให้มีระบบการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพทั้งประเทศ

Advertisement

2) ให้ประชาชนชาวไทยมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานด้วยกันทุกคน

3) การจัดการรวมกันของระบบการให้ความช่วยเหลือที่มีหลายระบบทำให้เกิดการจ่ายเงินซ้ำซ้อนกัน จึงสมควรนำมาจัดการรวมกันเพื่อลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมมิให้ซ้ำซ้อนกัน และจัดระบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ดังนั้น กฎหมายที่บัญญัติจึงเป็นเรื่องการสร้างหลักประกันให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่มีมาตรฐาน โดยหน่วยบริการสาธารณสุขของรัฐเป็นหลักร่วมกับหน่วยบริการภาคเอกชน และภาคประชาชนที่หมายรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย

Advertisement

และเพื่อให้เกิดระบบที่มีประสิทธิภาพจึงต้องเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิทุกคน มีมาตรฐาน มีองค์กรกำกับดูแลที่มีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน กฎหมายจึงบัญญัติให้มีหน่วยงานเฉพาะต่างหากจากกระทรวงสาธารณสุข การจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนทุกคน และมีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นฝ่ายกำกับนโยบาย มีคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เป็นฝ่ายกำกับด้านมาตรฐานบริการ

การที่กฎหมายใช้มา 15 ปีก็จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง แต่ก็ต้องยึดโยงกับเจตนารมณ์เช่นกัน ขณะนี้มีหลายภาคส่วนมีข้อเสนอเพื่อการแก้กฎหมายที่หลากหลาย ต่างคนต่างเสนอให้เป็นไปตามความคาดหวัง ความต้องการของตนเอง ซึ่งทุกฝ่ายต้องยึดมั่นในเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย

ข้อเสนอที่ตรงกันหรือไปในทิศทางเดียวกันของหลายภาคส่วนคือเรื่อง การแก้ไขปรับปรุงนิยามการบริการสาธารณสุขให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลรัฐ และการเพิ่มให้มีการจัดค่าใช้จ่ายจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้น “ผู้ให้บริการ” ที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ เช่นเดียวกับที่ประชาชนได้รับตามมาตรา 41 ของกฎหมาย

ส่วนที่ยังแย้งกันคือนิยามบริการสาธารณสุขควรกว้างหรือแคบ กว้างคือครอบคลุมการให้บริการทั้ง ก่อนป่วย ระหว่างป่วย และการฟื้นฟูหลังป่วย แคบคือให้จำกัดเฉพาะเรื่องการป่วยเท่านั้น การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคก่อนป่วย ไม่ต้องทำภายใต้ระบบนี้ ซึ่งสิ่งนี้ดูจะขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งให้ทุกคนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีผลต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ และการทำให้เกิดการบริหารงบกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ การป้องกันการป่วยจะลดภาระด้านงบประมาณการรักษาได้

การเสนอแก้กฎหมายเรื่องนิยามแบบแคบจะมุ่งเน้นให้บริการเป็นบริการเฉพาะบุคคลและเป็นบริการแบบตั้งรับในโรงพยาบาลเท่านั้น ขณะที่โลกสากลไปไกลกว่านี้แล้วในเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพทั้งส่วนบุคคลและสภาพสิ่งแวดล้อม สังคม และการเสริมศักยภาพของบุคคลในการจัดการสุขภาพตนเอง ไม่ให้มุ่งแต่รอความเห็น ข้อแนะนำจากแพทย์ในโรงพยาบาลเท่านั้น นี่จึงเป็นประเด็นที่ต้องถกแถลงกันในการแก้กฎหมายนี้อย่างจริงจัง

ส่วนข้อเสนอแก้กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุน โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานกลไกขับเคลื่อน ก็ต้องยึดโยงกับเจตนารมณ์ที่มุ่งเน้นให้มีองค์กรที่มีประสิทธิภาพ เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับ และนำพาระบบหลักประกันสุขภาพให้บรรลุเป้าหมายคุ้มครองสิทธิประชาชนทุกคน จึงควรเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระจากระบบราชการ มีวิสัยทัศน์ และการออกแบบของกฎหมายให้ถูกกำกับโดยบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นดีอยู่แล้ว ไม่ใช่แก้กฎหมายลดอำนาจ หรือจำกัดอำนาจ แล้วทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกสบายหรือไม่ได้รับบริการอย่างทั่วถึงเหมือนกัน

เพราะสิ่งที่ สปสช.ทำได้ดีมาโดยตลอด 15 ปีคือการทำให้คนในชนบท เข้าถึงบริการโรคซับซ้อนได้กระจายทุกภูมิภาค ไม่กระจุกตัวในกรุงเทพฯ หรือเฉพาะในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเท่านั้น ทั้งนี้ ด้วยการใช้กองทุนให้ไปสนับสนุนบริการในภูมิภาคตามหลักการ คนอยู่ที่ไหนเงินอยู่ที่นั่น เพราะประชาชนในชนบทย่อมต้องได้รับบริการเฉกเช่นเดียวกับคนในเมือง การเสนอให้จำกัดอำนาจของ สปสช.จึงขัดเจตนารมณ์ รวมถึงการเสนอให้มีการเพิ่มตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้นในบอร์ดหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนกรรมการภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคผู้ทรงคุณวุฒิ บิดเบี้ยวไปได้

สิ่งที่ควรแก้คือ ปรับลดขนาดของคณะกรรมการลง และควรคงไว้เฉพาะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารระบบ ควรปรับลดผู้แทนภาคราชการที่มาจากกระทรวงที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง และปรับลดผู้แทนวิชาชีพซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงโดยให้ไปทำหน้าที่ในบอร์ดควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ซึ่งจะตรงกว่า

ในการบริหารระบบควรเพิ่มตัวแทนผู้ให้บริการจากโรงพยาบาลรัฐในต่างจังหวัด ในระดับชุมชน เข้ามาร่วมเป็นบอร์ดหลักประกันสุขภาพจะตรงกว่า และการมีสภาวิชาชีพต่างๆ เพิ่มขึ้น ก็ไม่ควรนำมาเป็นเหตุผลในการเพิ่มจำนวนผู้แทนสภาวิชาชีพ ในบอร์ดทั้งสองบอร์ด แต่ควรมีที่มาเหมือนกันคือเลือกกันเองระหว่างสภาวิชาชีพให้เหลือในสัดส่วนเท่ากับผู้แทนจากภาครัฐ ภาคประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ

สำหรับข้อเสนอให้มีบอร์ดบริหารเพิ่มขึ้น รองจากบอร์ดหลักประกันฯและบอร์ดควบคุมนั้น ยิ่งไม่จำเป็นเพราะเลขาธิการ สปสช.นั้นเป็นกรรมการในบอร์ดหลัก ซึ่งทำหน้าที่ในทางนโยบายและกำกับการบริหารอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการใช้จ่ายงบประมาณในการประชุมของบอร์ดต่างๆ จะใช้งบไปกับการประชุมเยอะมากขึ้น จะมีประชุมทุกสัปดาห์จนไม่ต้องทำงานกันทีเดียว เพราะปัจจุบันบอร์ดทั้งสองประชุมเดือนละครั้ง

หากมีบอร์ดบริหารอีกก็จะประชุมสัปดาห์ละครั้ง เลขาธิการและเจ้าหน้าที่ไม่ต้องทำงานอย่างอื่นทำแต่เตรียมประชุม สรุปประชุม รายงานประชุม

สิ่งที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเสนอในเรื่องแก้กฎหมายคือ ต้องคุ้มครองบุคคลทุกคนในประเทศไทย ให้มีหลักประกันสุขภาพ แล้วเลือกบริหารระบบให้เหมาะกับกลุ่มคนเหล่านั้น รวมทั้งการจัดหาทรัพยากร งบประมาณ ก็เป็นไปตามสิทธิพื้นฐาน นั่นคือคนที่มีสถานะคนไทย อยู่ระหว่างรอพิสูจน์สถานะ หรือการตกหล่นจากการสำรวจของรัฐ คนเหล่านี้รัฐต้องดูแลเท่าเทียมคนอื่น ส่วนคนต่างด้าว คนอพยพแรงงาน นักท่องเที่ยว ก็ต้องมีระบบหลักประกันตามสภาพความจริง เช่น การเข้าไปอยู่ในการจ้างงานของนายจ้าง การซื้อประกันสุขภาพในราคาเป็นธรรม การบังคับให้นักท่องเที่ยวมีประกันสุขภาพในระหว่างพำนักในประเทศ

ส่วนข้อเสนออีกประการการตัดออกมาตรา 42 เรื่องการไล่เบี้ยผู้ให้บริการที่ทำให้เกิดความเสียหาย เพราะเจตนารมณ์คือช่วยเหลือเบื้องต้นไม่ใช่เยียวยา หากต้องการการชดเชยก็ควรไปใช้กฎหมายอื่นในการดำเนินการ

นอกจากนี้ข้อเสนอของกลุ่มฯ ยังเน้นให้มาตรา 47 ที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคเอกชน องค์กรท้องถิ่นนั้นควรปรับแก้ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงและโยงกับอำนาจหน้าที่ของบอร์ดด้วย การแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรเป็นการแก้ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในสังคม และยึดโยงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image