ประสานักดูนก : Beady Eyes

วันหยุดยาว 15-20 กรกฎาคม ศกนี้ คนเขียนเปลี่ยนบรรยากาศ เดินทางไปดูนกปักษ์ใต้ ฟังเสียงฝน เพราะหันหน้าไปทางไหนก็เป็นฤดูฝน

“ป่าบาลา” ในอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส นับเป็นบ้านหลังใหญ่ของนกเงือกไทยหลายชนิด เมื่อเดินทางถึงสนามบินจังหวัดนราธิวาส ขึ้นรถตู้ต่อไปที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา นกเทพชนิดแรกที่ออกมาต้อนรับในยามเย็นวันที่ 15 กรกฎาคม

เป็นเหยี่ยวดงตัวเด่น เพราะทั่วทั้งตัวมีสองสี ขาวและดำ ชื่อ “เหยี่ยวดำท้องขาว” เป็นเหยี่ยวดงในสกุล Nisaetus 1 ใน 4 ชนิดของไทย ที่พบเฉพาะในภาคใต้บ้านเรา เหยี่ยวบินข้ามถนนมาเกาะบนกิ่งไม้แนวขวาง ส่องดูพบว่าคอโป่ง แสดงว่าเหยี่ยวกินอาหารมาเต็มที่ทำให้กระเพาะพักในลำคอโป่งนูนออกมา อิริยาบถจึงผ่อนคลาย เกาะพักไซ้ขนอยู่นานเกือบชั่วโมง

รอบบ้านพักนักวิจัย มีต้นเอนอ้า ไม้พุ่มมีดอกสีชมพูอมม่วง นกกาฝากท้องสีส้ม สีจัดจ้านด้วยขนสีเทาแกมฟ้า ตัดกับสีส้มแกมเหลืองของแผ่นหลัง อกและท้อง จะงอยปากสั้นสีดำ ปลายแหลมโค้งเล็กน้อยพองาม และขนาดตัวเล็กกว่านกกระจอก ขยับตัวไปมาอยู่ตลอดเวลา ใช้จะงอยปากทิ่มเข้าไปในดอกไม้ ดูดกินน้ำหวาน ทำให้อยู่ไม่สุขเพราะต้องเปลี่ยนที่เกาะบนก้านดอก จะได้กินน้ำหวานอีกมาก

Advertisement

วันรุ่งขึ้น เมื่อเข้าไปเฝ้านกป่าเล่นน้ำในบังไพรที่ “สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุฮาลา-บาลา” จัดทำไว้ ใกล้ลำธารน้อย น้ำไหลอ้อยอิ่งใต้เรือนยอดป่าดิบชื้นที่เด่นด้วยต้นสะหยาแดง ไม้ยืนต้นสูงระดับหลายสิบเมตร ก็พบนกเด่นอีกชนิดของป่าบาลา “นกกระเต็นตัวน้อยสีแดงแกมส้ม ที่ชื่อชั้นจัดเป็นนกกระเต็นขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย และมีนิ้วเพียง 3 นิ้ว ตัวยาวเพียง 14 ซม. น้ำหนักตัวแค่ 8 กรัม” ยังไม่ถึง 1 ขีด! ด้วยซ้ำ

ดวงตาดำขลับ กลมโตคล้ายลูกปัดที่ฝรั่งเรียกเล่นๆ ว่า beady eyes ลดทอนความจัดจ้านของสีสันบนตัวของนก ให้ดูอ่อนโยนน่ารักน่าชังขึ้นเป็นกอง เจ้ากระเต็นน้อยชนิดนี้ เดิมมีพี่น้อง 2 ชนิด คือ “นกกระเต็นน้อยหลังดำ” ขนบนแผ่นหลังและแก้มจะมีสีน้ำเงินเข้ม มองในที่มืดหรือใต้ร่มไม้ จึงเหมือนว่าหลังดำ และ “นกกระเต็นน้อยหลังแดง” ที่ขนบนแผ่นหลังมีสีส้มแกมแดง ซึ่งเป็นขาประจำบินมาเกาะเถาวัลย์ บินชนน้ำในลำธารเล่นคลายร้อนยามบ่ายเป็นประจำ วันละหลายรอบ

ในป่าบาลามีรายงานพบการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างนกกระเต็นน้อย 2 กลุ่มนี้ ปัจจุบัน นักปักษีวิทยาจึงเสนอให้ยุบ ควบรวม 2 ชนิด หรือ lumping เหลือแค่ชนิดเดียว

Advertisement

“เรียกว่า นกกระเต็นน้อยสามนิ้ว ชูจุดเด่นลักษณะทางกายวิภาคของนิ้วตีนที่เหมือนนกส่วนใหญ่ครับ”

ชมคลิปของเหยี่ยวดำท้องขาว ที่ https://www.facebook.com/ThaiRaptorGroup.TRG

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image