คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน: “อาห์วา”ที่ลุ่มตอนใต้อิรัก สมาชิกใหม่มรดกโลก

ท่ามกลางความเสียหายของบ้านเมืองที่ยังคงถูกทำลายไปอย่างไม่หยุดยั้งในอิรัก ด้วยสงครามกลางเมืองย่อมๆ อันเกิดจากกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม หรือไอเอส แต่อิรักก็ยังพอมีข่าวดีให้ได้ชื่นใจกันบ้าง

โดยในการประชุมขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ที่นครอิสตันบููล ประเทศตุรกี ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ยูเนสโกได้ประกาศสถานที่ที่ถูกยกให้เป็นมรดกโลกแห่งใหม่หลายแห่งด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ ที่ลุ่มทางตอนใต้ของประเทศอิรัก อันประกอบไปด้วยแหล่งโบราณคดี 3 แห่ง และพื้นที่ชุ่มน้ำอีก 4 แห่ง อันเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิทัศน์ของเมืองจากยุคเมโสโปเตเมีย

ยูเนสโกระบุว่า เมืองโบราณ 2 แห่งอยู่ที่เมืองอูรุค และเมืองเออร์ และแหล่งโบราณคดีอยู่ที่เมืองเทลล์ เอริดู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมที่ยังหลงเหลือมาจากเมืองต่างๆ ของสุเมเรียน ที่ตั้งรกรากพัฒนาเมืองขึ้นบริเวณตอนใต้ของเมโสโปเตเมีย ระหว่าง 4,000-3,000 ปีก่อนคริสตกาล และว่า อาห์วาทางตอนใต้ของอิรัก หรือที่รู้จักกันในชื่อของที่ลุ่มอิรักนั้น มีเอกลักษณ์พิเศษ เพราะเป็นหนึ่งในระบบดินดอนสามเหลี่ยมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนและสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งอย่างรุนแรงมาก

จริงๆ แล้ว พื้นที่ลุ่มตอนใต้ของอิรักเคยกินพื้นที่ครอบคลุมถึง 20,000 ตารางกิโลเมตร แต่ถูกทำลายล้างอย่างรุนแรงเมื่อช่วงทศวรรษ 1990 หลังจากที่ ซัดดัม ฮุสเซน ประธานาธิบดีอิรักในขณะนั้น สั่งให้มีการระบายน้ำออกจากพื้นที่จนหมด เพื่อไม่ให้พวกกลุ่มกองโจรชีอะห์ซึ่งหลบซ่อนอยู่ นำน้ำไปใช้ได้

Advertisement

โดยซัดดัมได้สั่งให้สร้างเขื่อนและคลองขึ้นมามากมาย ปิดกั้นไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่พื้นที่ลุ่มแห่งนี้ แต่ตอนนี้เขื่อนเหล่านั้นได้ถูกทำลายทิ้งไปหมดแล้ว เปิดทางให้น้ำจากแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส ไหลกลับเข้าสู่ที่ลุ่มแห่งนี้ ทำให้ปลาและสัตว์ต่างๆ กลับคืนสู่พื้นที่อีกครั้ง

กระนั้นก็ตาม เหนือแม่น้ำขึ้นไปก็ยังมีเขื่อนอยู่ที่ประเทศซีเรียและตุรกี ที่ยังคงจำกัดการไหลเข้ามายังพื้นที่ลุ่ม และระดับความเค็มที่สูงมากยังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ เพราะส่งผลทำให้ปลาตายและไม่สามารถนำน้ำมาดื่มกินได้

หลังได้รับการยกให้เป็นมรดกโลก นายไฮเดอร์ อัล-อาบาดี นายกรัฐมนตรีอิรัก ก็ออกมาแสดงความยินดีต่อการตัดสินใจของยูเนสโก และขอบคุณทุกเสียงสนับสนุน พร้อมประกาศว่า วัฒนธรรมของประเทศจะยังคงเดินหน้าต่อไป แม้ว่ามรดกโลกและโบราณวัตถุต่างๆ ในอิรักจะถูกทำลายโดยกลุ่มก่อการร้าย

Advertisement

ซึ่งนายอัล-อาบาดี หมายถึงเหตุการณ์ที่กลุ่มไอเอสทำลายวัตถุโบราณเก่าแก่ในพิพิธภัณฑ์ที่เมืองโมซูล รวมทั้งทำลายเมืองโบราณในอิรัก อย่างนิมรัด และฮาทรา

ที่สุดแล้ว ก็ต้องดูว่าความพยายามในการดูแลรักษา กับความพยายามในการทำลาย อย่างไหนจะชนะ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image