นักวิชาการป๋วยฯแนะสร้างดัชนีชี้วัดความเสี่ยงเกษตรกรดันประกันภัยพืชผลไทยเกิด

นางโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านระบบการเงิน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยว่า การประกันภัยพืชผลเกษตร ผ่านโครงการประกันภัยข้าวนาปีเป็นความพยายามของภาครัฐที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่อเนื่องและยังยืน โดยที่ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว เพราะแต่ละปีมีเกษตรกรกว่า 5 แสนคนหรือคิดเป็น 10% ของเกษตรกรทั่วประเทศที่ 6.5 ล้านคน ประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำจากภัยธรรมชาติ ส่งผลให้รายได้และการบริโภคของครัวเรือนเกษตรมีความผันผวน และส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้รัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือและเยียวยารวมแล้วหลักพันถึงหมื่นล้านบาท

“โครงการที่ออกมาประสบความสำเร็จไม่มากนัก แม้ว่ารัฐอุดหนุนเบี้ยประกันให้ถึง 60-85% ล่าสุด ฤดูปลูก 2559/60 รัฐบาลจึงให้เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ได้รับประกันฟรี มองว่าสาเหตุที่โครงการไม่ประสบความสำเร็จมาจากบริษัทประกันมีข้อมูลในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของเกษตรกร ทำให้ผลิตภัณฑ์ประกันที่ออกมามีน้อยและต้องจ่ายเบี้ยสูง 110-450 บาทต่อไร่ตามความเสี่ยง ซึ่งได้รับเงินประกัน 1,113 บาทต่อไร่ ขณะที่การประกันพืชผลของสหรัฐจ่ายเบี้ยเพียง 5-15% ของเงินประกัน และความไม่เชื่อมั่นในระบบประเมินความเสียหายที่ถูกต้องและโปร่งใส รวมทั้งเกษตรกรอาจจะมองว่าได้รับความช่วยเหลือจากรัฐอยู่แล้วจึงไม่ต้องการซื้อประกัน เป็นต้น” นางโสมรัศมิ์กล่าว

นางโสมรัศมิ์ กล่าวว่า การผลักดันระบบประกันภัยพืชผลให้เกิดขึ้น จะต้องมีองค์กรอิสระที่รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เกี่ยวกับภาคการเกษตร เพื่อนำมาจัดทำเป็นดัชนีในการประเมินความเสี่ยงเกษตรกร เช่น ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม และข้อมูลภูมิศาสตร์อื่น ๆ มาใช้ในการสร้างดัชนี ทั้งนี้ ควรมีการขยายการรับประกันข้าวในฤดูกาลอื่น และขยายผลผลิตอื่น รวมทั้งขยายพื้นที่การรับประกันไปทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันสามารถกระจายความเสี่ยงได้มากขึ้น และมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายออกมา

ทั้งนี้ ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือในกรอบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เหมาะสม รัฐต้องลดบทบาทการให้ความช่วยเหลือเฉพาะในกรณีภัยธรรมชาติรุนแรง เช่น น้ำท่วมใหญ่ เป็นต้น ควรสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือทางการเงินให้เกษตรกร และสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงระบบการเงินและตลาด เพื่อให้สามารถจัดการความเสี่ยงได้ด้วยตนเอง รวมทั้ง สนับสนุนให้เกิดการประกันภัยพืชผลรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อสร้างการแข่งขันในตลาดประกันภัยพืชผลด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image