สุจิตต์ วงษ์เทศ : ลาว และเขมรในความเป็นไทย บรรพชนคนไทย จากอีสานลงภาคกลาง

ขบวนแห่ของบ้านพี่เมืองน้องเครือญาติอุปถัมภ์ ที่จัดมาร่วมพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในเมืองพระนคร เพื่อสรรเสริญพระเกียรติพระเจ้าสูรยวรรมัน (ที่ 2) ภาพสลักที่ระเบียงด้านทิศใต้ ปีกตะวันตกของปราสาทนครวัด ในกัมพูชา เมื่อราวปี พ.ศ. 1650 (ซ้าย) พลละโว้ ขบวนแห่ของพวกละโว้ จากเมืองลพบุรีลุ่มน้ำเจ้าพระยา (อยู่ตามหลัง “เสียมกุก”) เครื่องแต่งกายและกิริยาท่าทางของหัวหน้าบนหลังช้างกับไพร่พลแห่เข้าขบวน มีลักษณะอย่างเดียวกับประเพณีเขมรโบราณยุคนั้น (ขวา) เสียมกุก ขบวนแห่พวก (ก๊ก) สยาม จากเมืองเวียงจันลุ่มน้ำโขง (อยู่หน้าพลละโว้) นุ่งผ้าเหมือนถุง หรือโสร่ง ทั้งนายบนหลังช้างและไพร่พลเดินแถว

คนและวัฒนธรรมจากลุ่มน้ำมูล-ลุ่มน้ำโขง (ที่ราบสูงในอีสานและลาว) เคลื่อนย้ายไปมาลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ราว 2,500 ปีมาแล้ว
สืบเป็นบรรพชนคนไทย และวัฒนธรรมไทยทุกวันนี้

พระปรางค์ในยุคอยุธยา ก็รับต้นแบบจากปราสาทต่างๆ ทางลุ่มน้ำมูล ตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1500
เส้นทางโบราณจากลุ่มน้ำมูล (ที่ราบสูงภาคอีสาน) ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ที่ราบลุ่มภาคกลาง) ผมตระเวนสำรวจไว้เมื่อคราวที่ คุณขรรค์ชัย บุนปาน บอกให้เขียนหนังสือเล่มที่ชื่อโคราชของเรา (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2558)

จากลุ่มน้ำมูล มีเส้นทางลงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผ่าน อ. ด่านขุนทด (นครราชสีมา) แล้วผ่านดงพญากลาง เมืองบัวชุม (ต. บัวชุม อ. ชัยบาดาล จ. ลพบุรี), ฯลฯ
มีพรรณนาไว้ในนิราศหนองคาย ของ หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) แต่งสมัย ร.5 เมื่อขากลับกรุงเทพฯ ยกทัพจากเมืองนครราชสีมา ผ่านเมืองเสมาที่สูงเนิน (อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา)
ในทางกลับกันมีเส้นทางจากที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขึ้นที่ราบสูงโคราช ผ่าน อ. ด่านขุนทด พบหลักฐานในหนังสือนิราศทัพเวียงจันท์ (ของ หม่อมเจ้าทับ ในกรมหลวงเสนีบริรักษ์) ยกทัพจากกรุงเทพฯ ไปตีเวียงจัน พ.ศ. 2369 สมัย ร.3
พรรณนาเส้นทางจากพระพุทธบาท เมืองสระบุรี ไปทางเมืองลพบุรี ข้ามแม่น้ำป่าสัก ผ่านเมืองชัยบาดาล (อ. ชัยบาดาล จ. ลพบุรี) ผ่านลำพญากลาง, เขาพังเหย, บึงมะเลิง, ด่านขุนทด, เมืองเสมา เข้าสู่นครราชสีมา

เอนก สีหมาตย์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) พบหลักฐานสนับสนุนเพิ่มเติมอีกว่าปรางค์นางผมหอม (อ. ชัยบาดาล จ. ลพบุรี) เชื่อมวัฒนธรรมขอม อีสาน –ลพบุรี-สุโขทัย เพราะพบปรางค์แบบเดียวกันอยู่ลุ่มน้ำมูลในอีสานใต้ กับลุ่มน้ำยมที่สุโขทัย (มติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม 2559 หน้า 13)

Advertisement

ถ้าพิจารณากันถึงที่สุดแล้ว คนที่ราบสูง กับคนที่ราบลุ่ม (ไทย, ลาว, กัมพูชา) ล้วนเป็นเครือญาติเดียวกันทั้งทางชาติพันธุ์และชาติภาษา
แต่โบราณคดีในไทย ให้ความสำคัญประวัติศาสตร์ศิลปะ กับประวัติศาสตร์สงคราม เลยไม่รู้จักจึงไม่ใส่ใจประวัติศาสตร์สังคมที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์และชาติภาษา

ความเป็นไทย มีส่วนผสมของลาวและเขมร

ความเป็นไทย มีส่วนผสมของลาวและเขมร ผมเคยเขียนเชื่อมโยงรายละเอียดไว้ในคำนำเสนอหนังสือ เมืองพระนคร นครวัด นครธม (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2556) สรุปดังนี้
ไทย, ลาว, และกัมพูชา เป็นเครือญาติเดียวกันทั้งทางชาติพันธุ์ และชาติภาษา ผมเคยเขียนหลายครั้ง จะเขียนอีก ดังนี้
ไทย, ลาว, กัมพูชา ดินแดนต่อเนื่องกัน
มีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ทางตะวันตก มีแม่น้ำโขงอยู่ทางตะวันออก
มีทิวเขาดงพญาเย็นกับทิวเขาพนมดงรัก (เขมรเรียก พนมดองแร็ก แปลว่า ภูเขาไม้คาน) เป็นแกนหลัก ยาวต่อเนื่องจากทิศตะวันตกทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ตั้งแต่บริเวณ จ. สระบุรี) ไปสุดทิวเขาทิศตะวันออกทางลุ่มน้ำโขง (ที่ จ. อุบลราชธานี ถึงแขวงจำปาสักในลาว)

แผนที่แสดงตำแหน่งสยาม (เวียงจัน), ละโว้ (ลพบุรี), พิมาย, พนมรุ้ง (ลุ่มน้ำมูล) และเมืองพระนครในกัมพูชา (ภาพจากหนังสือ คนไทย มาจากไหน? พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2548 หน้า 100)
แผนที่แสดงตำแหน่งสยาม (เวียงจัน), ละโว้ (ลพบุรี), พิมาย, พนมรุ้ง (ลุ่มน้ำมูล) และเมืองพระนครในกัมพูชา (ภาพจากหนังสือ คนไทย มาจากไหน? พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2548 หน้า 100)

ทำให้ดินแดนต่อเนื่องกันนี้มี 2 บริเวณ คือที่ราบสูง (ปัจจุบันอยู่ในเขตไทย-ลาว) กับที่ราบลุ่ม (ปัจจุบันอยู่ในเขตไทย-กัมพูชา) แต่ติดต่อไปมาหาสู่กันได้สะดวกโดยผ่านช่องเขาใหญ่น้อยนับร้อยช่อง

Advertisement

ที่ราบสูง อยู่ทางทิศเหนือ หรือตอนบนของทิวเขาดงพญาเย็น กับทิวเขาพนมดงรัก มีแม่น้ำโขง, ชี, มูล นักปราชญ์และนักค้นคว้าแต่ก่อนอธิบายว่าเป็นเขตเขมรสูง (แขมร์เลอ) ของพวกเจนละบก

ที่ราบลุ่ม อยู่ทางทิศใต้ หรือตอนล่างของทิวเขาดงพญาเย็น กับทิวเขาพนมดงรัก

มีลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ทางตะวันตก (ในเขตไทย) มีลุ่มน้ำโขงอยู่ทางตะวันออก (ในเขตกัมพูชา) ราวกึ่งกลาง (ในเขตกัมพูชา) มีโตนเลสาบ (น้ำจืด ไทยรับคำนี้มาเรียกทะเลสาบ)(โตนเลสาบ สะกดตามคำอ่านแบบไทย)

นักปราชญ์และนักค้นคว้าแต่ก่อนอธิบายว่าเป็นเขตเขมรต่ำ (แขมร์กรอม) ของพวกเจนละน้ำ

นอกจากดินแดนแล้ว ไทย, ลาว, กัมพูชา ยังมีผู้คนปะปนเป็นเครือญาติทั้งชาติภาษาและชาติพันธุ์เดียวกัน

คนไทย และความเป็นไทย มีส่วนผสมของหลายเผ่าพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่ โดยมีลาวและกัมพูชาเป็นสายแหรกสำคัญปะปนอยู่ด้วย

ไทย, ลาว, กัมพูชา เป็นเครือญาติชาติพันธุ์และชาติภาษา มีรายละเอียดและหลักฐานในเล่มนี้ สำนักพิมพ์ดรีม แคชเชอร์ พิมพ์ครั้งที่เก้า พ.ศ. 2556 ราคา 280 บาท
ไทย, ลาว, กัมพูชา เป็นเครือญาติชาติพันธุ์และชาติภาษา มีรายละเอียดและหลักฐานในเล่มนี้ สำนักพิมพ์ดรีม แคชเชอร์ พิมพ์ครั้งที่เก้า พ.ศ. 2556 ราคา 280 บาท

 

เมืองพระนคร (ศรีอยุธยา) ในไทย กับเมืองพระนคร (นครวัด) และเมืองพระนครหลวง (นครธม) ในกัมพูชา ก็เป็นบ้านพี่เมืองน้องเครือญาติอุปถัมภ์ใกล้ชิดมาแต่ยุคก่อนๆ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาร่วมกัน โดยเมืองพระนคร (ศรีอยุธยา) ในไทยถอดแบบศิลปวัฒนธรรมทั้งจากเมืองพระนคร (นครวัด) และเมืองพระนครหลวง (นครธม) ในกัมพูชามาด้วย

แต่อดีตทางการเมืองแบบรัฐชาติที่เพิ่งมีสมัยหลังเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ต่างสร้างประวัติศาสตร์ให้แยกออกจากกัน แล้วเป็นศัตรูคู่ขัดแย้งกัน ทั้งๆ ไม่เป็นจริงอย่างนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image