จับจังหวะประชาธิปัตย์ โค้งสุดท้ายก่อนประชามติ รับ ไม่รับ ร่าง รธน.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)

จับจังหวะประชาธิปัตย์ โค้งสุดท้ายก่อนประชามติ รับ ไม่รับ ร่าง รธน.

ช่วงโค้งสุดท้ายของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ภายใต้มือร่างกฎหมายอย่าง “อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังจะถูกชี้ชะตาด้วย “7 สิงหา ประชามติ” พอยิ่งใกล้วันเข้ามาสถานการณ์ต่างๆ ก็ยิ่งถูกผู้มีอำนาจจับตาดูความเคลื่อนไหวในทุกขณะ

โดยเฉพาะกลุ่มพรรคการเมืองที่มีท่าทีต่อการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มาตลอด

แน่นอนว่า กลุ่มที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจไปตั้งแต่ต้นอย่างพรรคเพื่อไทย ไม่เอาด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เห็นได้ชัดๆ จากแสดงออกของระดับแกนนำไปจนถึงลูกพรรค ซึ่งการแสดงออกนี้ก็ค่อนข้างมีความชัดเจน หนักแน่นมาโดยตลอดว่า “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วงประชามติ”

ถึงขนาดที่มีการทำข้อความภาพเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียของระดับแกนนำที่ขึ้นข้อความไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในเวลาไล่เลี่ยกันผ่านทางเฟซบุ๊ก

Advertisement

ขณะที่อีกฟากฝั่งพรรคเก่าพรรคแก่อย่าง “ประชาธิปัตย์” กลับมีท่าทีที่ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้

โดยเฉพาะ “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ที่แม้จะมีการออกแถลงการณ์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญมาเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา แต่ท่าทีที่ออกมาก็กำกวม และไม่ชัดเจนว่าจะ รับ หรือ ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

จะมีก็เพียงการสาธยายถึงข้อดี และข้อด้อยของเนื้อหารัฐธรรมนูญ โดยส่วนใหญ่ก็มองว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังมีคือด้อยมากกว่าข้อดี

Advertisement

อย่างไรก็ตาม “เดอะมาร์ค” ได้อ้างถึงสาเหตุที่ยังไม่พูดชี้ชัด เนื่องจากยังมีปัจจัยและสถานการณ์ทางการเมืองที่เกี่ยวข้องอีกมาก และต้องการคำตอบจาก คสช. ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร

แต่สำหรับทัศนะต่อคำถามพ่วงประชามติ ที่ให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญระบุให้ ส.ว. ทั้ง 250 คนของวุฒิสภานี้ ล้วนมาจากการสรรหาและแต่งตั้งจาก คสช. ก่อนทั้งนั้น ในส่วนนี้ “เดอะมาร์ค” ระบุชัดว่า “ไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วงประชามติ” เพราะเห็นว่า การเอาสมาชิกวุฒิสภามาลงคะแนนเสียงร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยมีสิทธิมีเสียงเท่ากันก็หมายความว่า สามารถล้มล้างเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกในการเลือกตั้งได้ ซึ่งผิดหลักการ และการทำเช่นนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ และมีแต่จะทำให้ความขัดแย้งและปัญหาทางการเมืองรุนแรงขึ้น แม้จะไม่พูดออกมาชัดๆ ว่า “ไม่รับคำถามพ่วง” แต่ในเฉพาะส่วนของคำถามพ่วงนี้ก็ตีความกันได้แล้วว่า

“มาร์คไม่เอาแน่”

ระหว่างนี้ ท่าทีของบรรดาลูกพรรคสีฟ้าก็มีแอ๊กชั่นออกมากันเป็นระลอกๆ ไม่ว่าจะเป็น “เสรีชนคนเมืองพัทลุง” นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาปล่อยมัดเด็ดต่อร่างรัฐธรรมนูญอยู่เสมอ เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีการวิพากษ์การทำงานของคนในรัฐบาล และ คสช. รวมทั้งคนของแม่น้ำ 5 สาย โดยเฉพาะสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ที่ผลงานไม่ค่อยเป็นชิ้นเป็นอันนัก

ทำเอาคนในพรรคสีฟ้าที่ไม่ค่อยปริปากออกความคิดเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญเกิดความกังวล ระส่ำระสายอยู่ไม่น้อย

เพราะเกรงว่าคำสัมภาษณ์ของ “เสรีชนคนเมืองพัทลุง” จะทำให้ผู้มีอำนาจมองว่า พรรคประชาธิปัตย์ไปต่อต้านอะไรหรือไม่

แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่เคยมีท่าทีที่ปิดกั้น หรือห้ามสมาชิกพรรคแสดงออกทางความคิดเห็นจากหัวหน้าพรรคอย่างใด

และแม้อดีต ส.ส.พัทลุง จะเคยเปรยๆ ออกสื่อมาครั้งหนึ่งแล้วว่า “เรื่องนี้หัวหน้าพรรคจะต้องเป็นคนประกาศจุดยืนที่ชัดเจนออกมา แม้วันนี้พรรคการเมืองจะติดประกาศ คสช. ห้ามประชุมพรรคการเมือง แต่หากหัวหน้าพรรคประกาศชัดเจนว่า ไม่รับ หรือจะเอาอย่างไร ขอให้ออกมาพูด แม้ไม่ใช่มติพรรค แต่ลูกพรรคทุกคนพร้อมทำตามหัวหน้าพรรคอยู่แล้ว”

นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกในพรรคบางส่วนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นอยู่ตลอด ซึ่งหมายรวมไปถึง “องอาจ คล้ามไพบูลย์” รองหัวหน้าพรรคอีกคนหนึ่ง ที่เกาะติดกระแสข่าวการร่างรัฐธรรมนูญ และมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ออกมาทุกสัปดาห์

ซึ่งหากสังเกตให้ดี จะเห็นได้ว่า แนวทางการสัมภาษณ์ของรองหัวหน้าองอาจนั้น มักจะสอดคล้อง รับลูกกับ “หัวหน้ามาร์ค” มาโดยตลอด

แต่กลับไม่มีท่าทีที่ชัดว่า จุดยืนของพรรคนี้จะเอาอย่างไรกันแน่

แต่สังคมคงไม่ลืมว่า “เดอะมาร์ค” เคยให้คำมั่นว่า จะออกมาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงใกล้วันประชามติ

ทำให้ขณะนี้หลายๆ ฝ่ายเริ่มเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ออกมาแสดงท่าทีที่ชัดเจนได้แล้วจนกระทั่ง สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคอีกคนหนึ่ง ระบุว่า จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ชัดเจนต้องรอหัวหน้าพรรคกลับมาจากการทำภารกิจจากต่างประเทศในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ก่อน

ขณะที่ความชัดเจนของพรรคการเมืองขนาดกลางอย่างพรรคชาติไทยพรรคพัฒนา ภายให้การควบคุมของ “มังกรสุพรรณ” บรรหาร ศิลปอาชา ที่แม้จะถึงแก่อนิจกรรมไปแล้วในวัย 83 ปี แต่ในคำสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ เมื่อครั้งเปิดบ้านเมืองสุพรรณเพื่อให้สื่อมวลชนร่วมรดน้ำดำหัวในเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ก็ได้ประกาศชัดเจนว่า “อยากให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาจะได้มีการเลือกตั้งปี 2560 ดังนั้น จึงพอรับได้ในร่างรัฐธรรมนูญนี้” นี่ถือเป็นสัจจะสุดท้ายของ “ป๋าเติ้ง” ก็ว่าได้

ส่วนพรรคภูมิใจไทยก็ชัดเจนมาแต่ไหนแต่ไรแล้วโดยเฉพาะ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคถูมิใจไทย ที่ระบุว่า “โน พล็อบเบล็ม” ไม่มีปัญหาในเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ และไม่ติดใจอะไร พร้อมเป็นนักกีฬาที่จะลงสนามแข่งทุกเมื่อ ถือเป็นท่าทีที่ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความเป็นอย่างอื่น ไม่ว่าจะออกหัวหรือออกก้อย “หนูรับได้หมด”

ขณะที่มวลมหาประชาชนผู้ร่วมอุดมการณ์ที่ผนึกกำลังเป่านกหวีดต่อต้าน “รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อย่างกลุ่ม กปปส. ภายใต้แกนนำของ “กำนันเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ที่มีท่าทีชนิดที่เรียกว่า อวยรายวัน กระทั่งโปรเจ็กต์ล่าสุดที่ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก หรือ เฟซบุ๊กไลฟ์ ที่เรียกเรตติ้งให้รัฐบาลทุกวัน ย้ำแล้วย้ำอีกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงนี้ “ถูกใจ ใช่เลย”

ทำเอาอีกฟากฝั่งอย่างกลุ่ม นปช. โดย “จตุพร พรหมพันธุ์” แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ต้องเร่งแก้เกมกลับโดย ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กถึงข้อด้อยที่เป็นสาเหตุให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้บ้าง ซึ่งถือว่าเป็นการให้ข้อมูลสองด้าน และเป็นการเดินเกมกันแบบหมัดต่อหมัด

ขณะนี้ ทุกสี ทุกกลุ่ม ทุกพรรคมีความชัดเจนแล้วว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้อย่างเป็นที่แน่นอนแล้วทั้งหมด เว้นก็แต่พรรคเก่าพรรคแก่อย่างประชาธิปัตย์ ที่ยังอ้อมแอ้มพูดไม่ชัด เลี่ยงบาลี ไม่มีคำว่า “รับ” หรือ “ไม่รับ”

แต่กระนั้นสังคมก็ยังหวังว่า “เดอะมาร์ค” จะยังคงไม่ลืมคำพูดที่เคยให้ไว้ต่อสื่อมวลชน คำพูดที่ว่า “ใกล้วันประชามติ พรรคประชาธิปัตย์จะมีจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ชัดเจน”

หมดเวลาเลี่ยงบาลี ถึงเวลาที่จะต้องแสดงท่าทีให้ชัดว่าจะเอาอย่างไร

เพราะประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 พรรคประชาธิปัตย์มีความชัดเจนว่า “รับก่อน แก้ทีหลัง”

แต่ครั้งนี้การแก้รัฐธรรมนูญไม่ง่ายเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image