อ.วิศวะ จุฬาฯแนะรบ. ชี้ มาเลเซียจะขยับนำไทยด้านพัฒนารถไฟฟ้า หลายช่วงตัว

วานนี้ (26 กรกฎาคม) ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และอดีตรอง ผอ.สถาบันการขนส่ง จุฬาฯ โพสต์ข้อความ

เมื่อช่วงบ่ายๆ วันนี้ ผมส่งอีเมล์ไปสอบถามเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศมาเลเซียต่อกรณีเรื่องโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง มาเลเซีย-สิงคโปร์ ที่จะใช้เทคโนโลยีของเกาหลีใต้ ประเด็นคำถามที่ผมสงสัย (และแอบกังวลแทนประเทศไทย) คือ มาเลเซียจะทำโครงการนี้ผ่าน ICP program หรือไม่

คำตอบที่ได้รับการยืนยันมาคือ … “ใช่” และขณะนี้อยู่ในระหว่างกำหนดวิธีดำเนินการกัน

เป็น message สั้นๆ ที่มีความหมายสำหรับคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวของการผลิตรถไฟมาก

Advertisement

ทุกท่านโปรดทราบว่า นับจากบัดนี้ไป คอยติดตามข่าว จับตาให้ดี มาเลเซียจะมีโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟฟ้าความเร็วสูงภายในประเทศด้วยความร่วมมือกับประเทศเกาหลีใต้ ผ่านโปรแกรม ICP ซึ่งบริหารโดย TDA อันเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการคลังของรัฐบาลมาเลเซีย

และจะไม่ใช่เพียงการซื้อระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงไปใช้งาน แต่ต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศมาเลเซียด้วย ตามสไตล์ของ ICP (รายละเอียดของ ICP ว่าคืออะไร โปรดอ่านในลิงค์บทความนี้)

การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟฟ้าความเร็วสูงภายในประเทศจะทำให้มาเลเซียขยับตัวนำประเทศไทยไปอีกหลายช่วงตัว ถัดจากการมีอุตสาหกรรมผลิตรถไฟฟ้าแล้วอย่างน้อย 2 โรงงาน ตามที่ผมได้เคยเสนอข่าวไปก่อนหน้า

Advertisement

ถ้ารัฐบาลไทย หรือพูดให้ชัดไปอีกนิดว่า คือ ท่านนายกฯ และกลุ่มที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการพัฒนานวัตกรรมที่อยู่แวดล้อมและคอยให้คำปรึกษากับท่านนายกฯ ยังไม่เห็นว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ หรือแม้แต่ถอดใจยอมแพ้มาเลเซียดื้อๆ!

เมื่อกระบวนการประมูลแบบไทยๆ ว่ากันไปทีละโครงการๆ ผ่านไปจนหมดทุกโครงการ โดยไม่นำพากระบวนการจัดซื้อที่จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตรถไฟฟ้าภายในประเทศไทย หน้าต่างแห่งโอกาสก็จะปิดสนิทลง

ระยะใกล้ตัวที่ต้องวัดฝีมือของรัฐบาลในตอนนี้ คือการใช้ ม.44 กับกรณีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

ถ้ายังไม่สามารถใช้จังหวะนี้ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตรถไฟฟ้าภายในประเทศไทย ก็ถือว่ารัฐบาลสอบตกในด้านยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งด้านวิศวกรรม ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมระบบรางในระยะยาว

ลำพังส่งคนไปฝึกอบรมทีละโครงการๆ ละ 2-3 สัปดาห์ แล้วไม่ได้กลับมาทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรัฐบาลต้องออกมา lead ไม่ใช่ให้ กระทรวงคมนาคม สนข. รฟม. หรือ รฟท. ไปว่ากันเอง

ภารกิจนี้สำคัญกว่าที่เข้าใจนัก

ประโยคเดียวที่ผมอยากฝากลมไปถึงท่านนายกฯ อีกครั้งตามประสาคนทำงานวิศวกรรมอุตสาหการ คือ “put the right man to the right job at the right time with the right tool”

จังหวะตอนนี้ ท่านนายกฯ ต้องใช้คนให้เป็นแล้วนะครับ ใช้คนไม่เป็น เลือกฟังคนที่ไม่ใช่ โดยเฉพาะพวกวิสัยทัศน์สั้น เราๆ ท่านๆ ก็เตรียมพบกับโอกาสที่กลายเป็นวิกฤตของประเทศไทยในอนาคตได้เลยครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image