พระพุทธเจ้า ริมฝีปากผู้หญิง และประชาธิปไตย

ลิวซ์ อิริกาเรย์

พระพุทธเจ้า ริมฝีปากผู้หญิง และประชาธิปไตย

ในสมัยพุทธกาล พวกเดียรถีร์หรือนักบวชนอกศาสนาเห็นว่ามีผู้ศรัทธาพระพุทธเจ้าจำนวนมาก จึงใช้ให้สตรีนางหนึ่งชื่อนางจิญจมาณวิกา กล่าวความเท็จว่าได้ตั้งครรภ์กับพระพุทธเจ้า

แต่สุดท้ายความจริงก็เปิดเผยว่าสิ่งที่เล็ดลอดออกมาจากริมฝีปากนางนั้นเป็นความเท็จ

แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือ นางจิญจมาณวิกาเองได้ถูกเดียรถีย์ซึ่งเป็นนักบวชชายช่วงใช้

ที่สุดแล้วผู้หญิงก็ถูกผู้ชายใช้เป็นเครื่องมือมาตั้งแต่โบราณกาล

Advertisement

แม้แต่บนมรรควิธีที่ทอดไปสู่ความจริงทางจิตวิญญาณ

มองข้ามฟากไปยังโลกตะวันตกอีกยุคสมัย ในศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหตุผลนำทางอารยธรรมยุโรปในยุคแสงสว่างแห่งปัญญา นักปรัชญาที่สนับสนุนให้คนคิดด้วยเหตุผลของตัวเองอย่าง อิมมานูเอล คานต์ ก็ยังเห็นว่าธรรมชาติต้องการหลอมรวมชายหญิงเป็นเอกภาพ จึงสร้างชายและหญิงให้แตกต่างกัน เพราะหากเหมือนกันก็จะนำไปสู่ความขัดแย้ง

ผู้ชายจึงเป็นคนเข้มแข็ง มีเหตุผล กล้าหาญ

ส่วนผู้หญิงมีลักษณะตรงกันข้าม คืออ่อนแอ ใช้อารมณ์และขี้กลัว

ผู้หญิงจึงจำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายที่เข้มแข็งกว่า คานต์เห็นว่าผู้หญิงไม่เหมาะกับโลกวิชาการ เพราะเธอใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

และผู้หญิงใช้หนังสือเหมือนกับนาฬิกาข้อมือที่มีไว้อวดเท่านั้น ไม่สำคัญว่ามันบอกเวลาได้หรือไม่

คานต์เห็นว่าอำนาจอย่างหนึ่งที่ผู้หญิงมีคือผู้หญิงสามารถปฏิเสธการมีเซ็กซ์กับผู้ชายได้ เพื่อที่จะให้ได้ในสิ่งที่เธอต้องการ นั่นก็คือการแต่งงานและครอบครัว

คานต์ยังบอกอีกว่านิสัยขี้บ่น เอาแต่ใจ และชอบเถียงของผู้หญิง ล้วนแล้วแต่เป็นพลังอำนาจในการต่อรองของเธอ

แม้นอกบ้านเธอจะไม่มีสิทธิเท่าผู้ชาย แต่ในบ้านผู้หญิงกุมอำนาจ

ดูง่ายๆ จากการควบคุมการจับจ่ายใช้สอย

ยิ่งกว่านั้น ฝีปากผู้หญิงนั้นคมกล้าจนถึงขั้นว่าเธออาจจะว่าความให้ตัวเองหรือกระทั่งว่าความแทนสามีก็ยังได้ หากต้องขึ้นโรงขึ้นศาล

แม้ฟังดูเหมือนผู้หญิงจะมีสิทธิ์มีเสียงไม่แพ้ผู้ชาย แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วนักปรัชญาตะวันตกที่เป็นผู้ชายไม่น้อยแสดงอาการรังเกียจผู้หญิงอย่างโจ่งแจ้ง

ถอยหลังกลับไปถึงอริสโตเติล นักปรัชญากรีกสมัยโบราณที่ยูเนสโกประกาศเฉลิมฉลองครบรอบ 2400 ปีในปีนี้ ก็พูดถึงผู้หญิงในด้านลบ

เขาเห็นว่าผู้หญิงคือมนุษย์ที่ผิดพร่อง ร่างกายผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชาย เพราะเธอมีฟันจำนวนน้อยซี่กว่า

แค่ตัวอย่างอริสโตเติลกับคานต์ ก็คงจะทำให้เราเห็นแล้วว่า ปากผู้หญิง หรือริมฝีปากผู้หญิงดูเหมือนจะเป็นสัญญะของความผิดพร่อง

และผู้หญิงใช้ปากเพื่อปกป้องความผิดพร่องของเพศตัวเอง

ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาตะวันตกทอดยาวพร้อมการกดทับผู้หญิง จะเห็นได้จากจำนวนนักปรัชญาผู้หญิงที่มีไม่มากนัก

หากมองยังพื้นที่ชีวิต คาร์ล มาร์กซ์ วิเคราะห์ไว้น่าสนใจว่า การกดขี่ขูดรีดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น เริ่มต้นจากการขูดรีดผู้หญิง

ลิวซ์ อิริกาเรย์ (Luce Irigaray) นักปรัชญาเฟมินิสต์ฝรั่งเศส ซึ่งเกิดที่เบลเยียม เห็นด้วยกับมาร์กซ์

และยิ่งเห็นด้วยกับคำพูดของมาร์กซ์ที่ว่า “มนุษย์จะมีเสรีภาพไม่ได้เลยหากยังกดขี่ผู้หญิง”

อิริกาเรย์เป็นนักปรัชญาเฟมินิสต์สกุลหลังโครงสร้างนิยมที่ได้รับอิทธิพลจากจิตวิเคราะห์สาย จาคส์ ลากอง

เธอเห็นว่าความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงนั้นฝังรากในระบบสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ประกอบขึ้นเป็นอัตลักษณ์ผู้คน

ตัวอย่างของไทยคือคำพังเพยแต่ดั้งเดิมที่ว่า “ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า” ซึ่งสะท้อนว่าผู้หญิงต้องเดินต้อยตามผู้ชายเสมอ

อิริกาเรย์เห็นว่าต้นตอของปัญหาอยู่ที่ปรัชญาซึ่งแผ่รากไปถึงศิลปะ วรรณกรรม หรืองานประเภทอื่นๆ สิ่งที่ขาดหายไปคือความเป็นหญิง เนื่องจากผู้หญิงถูกนิยามโดยเชื่อมโยงกับผู้ชาย ทำให้ความต่างทางเพศ (sexual difference) ถูกกดทับเอาไว้ แม้แต่นักจิตวิเคราะห์อย่าง ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ก็ยังนิยามว่าผู้หญิงคือคนที่ไม่มีองคชาต นั่นคือ เมื่อเด็กหญิงเพ่งมององคชาตของเด็กชาย และคิดว่าเป็นสิ่งที่เธอถูกพรากเอาไป เด็กหญิงจะอิจฉาอวัยเพศชาย เรียกว่าปมอิจฉาลึงค์

การนิยามเช่นนี้ทำให้เข้าใจว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ผิดพร่อง และไม่เข้าใจว่าเพศหญิงเป็นอีกเพศหนึ่งต่างหากที่มีลักษณะเฉพาะและความเป็นเอกเทศ ไม่ขึ้นอยู่กับผู้ชาย

ทฤษฎีต่างๆ ที่ผู้ชายสร้างขึ้นมาก็ล้วนแล้วแต่มองไม่เห็นความเป็นหญิง

ไม่น่าแปลกใจที่รากศัพท์คำว่า “ทฤษฎี” ในภาษาอังกฤษคือ “theory” นั้น มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า “theatre” หรือละคร ซึ่งทั้งสองคำมีนัยถึง “การมอง”

สําหรับอิริกาเรย์แล้ว เพศหญิงไม่ถูกมองเห็น เพราะผู้หญิงเข้าใจตัวเองผ่านการสัมผัส ไม่ใช่การมอง

เธอเห็นว่าสิ่งที่แสดงความเป็นหญิงก็คือริมฝีปาก

ผู้หญิงสามารถหาความพึงพอใจทางเพศด้วยตนเอง (autoerotic)ได้จากริมฝีปากทั้งคู่ของเธอที่โอบรับกันอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ต้องใช้สื่อกลางหรือตัวช่วยอื่นๆ อย่างผู้ชาย ซึ่งต้องใช้มือ ร่างกายผู้หญิง หรือภาษา

อิริกาเรย์ใช้ริมฝีปากผู้หญิงเป็นสัญญะแสดงถึงความเป็นหญิงที่มีความอิสระ เป็นเอกเทศจากเพศชาย โดยไม่ต้องถูกนิยามผ่านเพศชายอีกต่อไป หากแต่นิยามผ่านสัมผัสทางร่างกายของเธอเอง

งานในช่วงหลังของอิริกาเรย์หันมาสนใจร่างกายผู้หญิงตามธรรมชาติที่จับต้องได้มากขึ้น เพราะเธอเห็นว่าลำพังการวิพากษ์การยึดผู้ชายเป็นใหญ่ในระดับของสัญญะทางวัฒนธรรมนั้นอาจจะไม่เพียงพอ

จุดนี้ทำให้เธอแตกต่างจากเฟมินิสต์คนอื่นที่เชื่อว่ามนุษย์เข้าใจร่างกายผ่านกรอบทางวัฒนธรรมเท่านั้น

เช่น การปกปิดร่างกายให้มิดชิด การเข้าใจว่าอย่างไหนที่เรียกว่าสวย ก็ล้วนเป็นอิทธิพลจากวัฒนธรรม

มีผู้วิจารณ์ว่าจุดยืนที่อิริกาเรย์มองว่าเพศชาย/หญิงแบ่งแยกเป็นสองเพศโดยธรรมชาตินั้นเท่ากับตกลงไปในบ่วงการแยกเพศโดยอาศัยธรรมชาติ

พูดง่ายๆ ก็คือกลับไปเป็นเหมือนที่คานต์บอก ที่สำคัญการมองเช่นนี้ยังทำให้ปิดกั้นเพศอื่นๆ นอกเหนือจากชาย/หญิงด้วย แม้ว่าเธอจะย้ำว่าเป็นไปได้ที่จะมีเพศอื่นๆ ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม อิริกาเรย์เห็นว่าการต้องเลือกว่าเพศชาย/หญิงเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือเป็นสิ่งประกอบสร้างทางวัฒนธรรมกันแน่ ถือเป็นเหตุผลวิบัติแบบทางแพร่งเทียม (false dilemma) เพราะเราไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

เธอเห็นว่าอัตลักษณ์ทางเพศที่มาจากธรรมชาติ หรือร่างกายเพศชาย/หญิงที่ได้มาจากธรรมชาติ กับอัตลักษณ์เชิงวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงความเป็นชาย/หญิงในกรอบของวัฒนธรรม จะต้องส่งเสริมซึ่งกันและกัน

จิตวิญญาณกับร่างกายต้องพัฒนาไปพร้อมกัน

ในด้านสังคมวัฒนธรรม ผู้หญิงถูกยัดเยียดให้ยอมรับสถานะของแม่และเมีย เกิดจากยึดผู้ชายเป็นศูนย์กลาง

เราเห็นเรื่องนี้ได้ง่ายจากคำนำหน้าของเพศหญิงที่เปลี่ยนไปตามการแต่งงาน เมื่อออกมาสู่ปริมณฑลสาธารณะ ความเป็นหญิงก็ไม่ถูกตระหนักรับรู้ เนื่องจากสิทธิของพลเมืองนั้นเป็นกลาง ไม่มีเพศ

เราเห็นเรื่องนี้ได้จากกฎหมายที่ยังยึดผู้ชายเป็นตัวตั้ง ทำให้ไม่มีกฎหมายที่รองรับพลเมืองผู้หญิงเป็นการเฉพาะ แต่ถูกจัดให้อยู่ในกรอบของ “พลเมืองเหมือนกัน”

ในหนังสือ Democracy Begins Between Two (2001) อิริกาเรย์วินิจฉัยว่าปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นมาจากการไม่คำนึงถึงความต่างทางเพศนี้เอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม การกดขี่ขูดรีด เผด็จการ หรือชาตินิยม การไม่ยอมรับความต่างทางเพศไม่อาจจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่มีความสุขสันติได้

ในบทที่ชื่อ “Democracy is Love” อิริกาเรย์ย้ำว่าประชาธิปไตยคือความรัก คือการตระหนักถึงความต่างระหว่างเพศ และการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลระหว่างชาย/หญิง เปิดไปสู่การเป็นแม่ของลูกชาย พ่อของลูกสาว อยู่ร่วมกันโดยไม่ลดทอนความต่างทางเพศให้อยู่ใต้อำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ในช่วงหลังๆ อิริกาเรย์ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากภูมิปัญญาตะวันออก

เธอมีโอกาสฝึกโยคะและสนใจพุทธปรัชญา

เธอเห็นว่าโยคะบ่มเพาะร่างกายในฐานะที่เป็นร่างกาย ไม่ใช่การมองว่าร่างกายเป็นแค่บ่าวรับใช้จิตใจหรือความคิดเท่านั้น

โยคะเน้นการบ่มเพาะร่างกาย ขณะเดียวกันก็ผสานมิติทางจิตวิญญาณผ่านการฝึกสติและการหายใจ

กิจกรรมเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับธรรมชาติ ตามจังหวะเวลากลางคืนและกลางวัน

แตกต่างจากการสร้างกล้ามเนื้อแข่งกันในตะวันตก ซึ่งเธอเห็นว่าทำให้ร่างกายกับวิญญาณไม่สัมพันธ์กัน

นอกจากโยคะแล้ว อิริกาเรย์ยังยกตัวอย่างช่วงขณะที่พระพุทธเจ้าทรงมองดอกไม้อย่างใส่ใจ โดยไม่ได้อยากเข้าไปครอบครอง แต่มองดอกไม้อย่างที่ดอกไม้เป็น

การพิจารณาดอกไม้อย่างมีสติจะช่วยเพิ่มพูนพลังความคิดด้วย

พระพุทธเจ้ามองดอกไม้โดยไม่อยากเด็ดมัน ซึ่งเท่ากับเราสัมพันธ์กับสิ่งอื่นโดยไม่กระทำความรุนแรง ดอกไม้จึงเป็นวัตถุที่ทำให้เราได้พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับรูปแบบ ระหว่างร่างกายกับจิตวิญญาณ โดยไม่ยัดเยียดรูปแบบความคิดที่ไม่สอดคล้องกับร่างกาย

ซึ่งเราจะเห็นได้จากระบบทุนนิยมที่กดขี่ผู้หญิง ผลก็คือจิตวิญญาณตายลง ผู้หญิงถูกเรียกร้องให้เตรียมพร้อมสำหรับการมีเซ็กซ์และมีลูก ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่กำหนดโดยผู้ชายทั้งสิ้น

ตัวอย่างพระพุทธเจ้ามองดอกไม้นี้ แม้เธอไม่อาจระบุชัดว่าแหล่งอ้างอิงมาจากพระสูตรใด

และเธออาจจะยังเข้าใจพุทธศาสนาไม่รอบด้านพอ

แต่ท่าทีของอิริกาเรย์เองก็มีประโยชน์อย่างมากในแง่ของการเสาะแสวงหาเมล็ดพันธุ์ทางจิตวิญญาณเพื่อเพาะปลูกวัฒนธรรมแห่งการไม่กระทำความรุนแรงต่อกัน

เมื่อเราอยู่ใกล้จนมองไม่เห็น ก็อาจจะต้องอ้อมวกไปไกล มองผ่านสายตาคนอื่น พูดผ่านริมฝีปากคนอื่น ผ่านริมฝีปากผู้หญิงที่เป็นนักปรัชญาตะวันตก เพื่อที่จะเสนอตัวแบบของการเคารพยอมรับความแตกต่าง ไม่ใช่แค่เพียงความต่างระหว่างเพศเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงความต่างด้านอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นความต่างทางชาติพันธุ์ ลัทธิ ศาสนา ภาษา หรืออายุ

ถึงที่สุดแล้ว เราอาจจะกล่าวได้ว่า พระพุทธเจ้า ริมฝีปากผู้หญิง และประชาธิปไตย เป็นสามสิ่งที่แยกจากกันไม่ออก

ประชาธิปไตยที่กดทับความต่างทางเพศ ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพที่แท้จริง เพราะประชาธิปไตยคือความรัก

ความรักที่โอบรับความแตกต่างให้อยู่ร่วมโลกกันได้ โดยไม่ผลักไสให้ไปอยู่บนดาวอังคาร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image