อ.นิติศาสตร์ มธ.โพสต์ชี้ กระทั่งเขียนคำถามสำหรับการลงประชามติ…ก็ยังไม่แฟร์

เมื่อวันที่26 ก.ค. ผศ.ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกคณะนิติราษฎร์ ได้โพสต์ข้อความที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นกรณีการลงประชามติ มีรายละเอียดดังนี้

กระทั่งเขียนคำถามสำหรับการลงประชามติ…ก็ยังไม่แฟร์

คำถามเพิ่มเติมสำหรับการลงประชามติมีเนื้อหาอยู่ ๒ เรื่อง คือ ตัวเนื้อหาของคำถามกับความมุ่งหมายของคำถาม

(๑) เนื้อหาของคำถาม ตัวคำถามมีเนื้อหาอยู่ว่า “ในระหว่าง ๕ ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

Advertisement

ความจริง รัฐธรรมนูญฯ ปี ๔๐ และปี ๕๐ ต่างกำหนดให้ผู้ที่พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีมีเพียงองค์กรเดียวคือ “สภาผู้แทนราษฎร” แต่เนื้อหาของคำถามนี้ จริงๆแล้วต้องการจะให้ “วุฒิสภา” (ซึ่งเกือบทั้งหมดมาจากการคัดเลือกของ คสช.) มีอำนาจให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกับ “สภาผู้แทนราษฎร” ด้วย
ตรงนี้ แทนที่จะเขียนเนื้อหาของคำถามให้ตรงประเด็นว่า “ในระหว่าง ๕ ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” เพื่อให้ประชาชนผู้ลงประชามติรับรู้อย่างชัดเจนว่า วุฒิสภาจะมีอำนาจแบบนี้ด้วย กลับเขียนคำถามโดยเลี่ยงไม่พูดถึง “วุฒิสภา” แต่หันไปใช้คำว่า “รัฐสภา” แทน

เรื่องนี้ มีผลเป็นการซ่อนหรือพรางเนื้อหาสำคัญไม่ให้ประชาชน (ที่อาจไม่มีความเข้าใจเพียงพอถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของถ้อยคำทางกฎหมาย) ได้รับรู้อย่างชัดเจนถึงเนื้อหาของคำถามเพิ่มเติมในการลงประชามติ

(๒) ความมุ่งหมายของคำถาม ตัวคำถามมีเนื้อหาด้วยว่า เหตุที่ในระหว่าง ๕ ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ต้องให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น ก็เพื่อ “ให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ”

Advertisement

ความจริง การตั้งคำถามเพื่อให้ประชาชนลงประชามติ ต้องไม่เขียนเนื้อความที่โน้มน้าวหรือชี้นำผู้คนประกอบไปกับคำถาม เพราะประชาชนมีสิทธิประเมินได้เองว่า คำถามที่ตนเองจะลงประชามตินั้น ดีหรือไม่ดี เหมาะหรือไม่เหมาะ ซึ่งหลังจากได้พิจารณาข้อมูลทั้งข้อดีและข้อด้อยของคำถามนั้นแล้ว ประชาชนก็จะตัดสินใจเองว่าจะลงประชามติรับหรือไม่รับคำถามนั้นตามเหตุผลของตัว
แต่ในคำถามเพิ่มเติม กลับเขียนเนื้อหาประกอบไปกับคำถามด้วยว่า เหตุที่กำหนดให้ในระหว่าง ๕ ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ต้องให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เพราะ “เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ”

เรื่องนี้ โดยสภาพเป็นการโน้มน้าวหรือชี้นำประชาชน ที่น่ารังเกียจก็คือ ตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ การโน้มน้าวหรือชี้นำประชาชนแบบนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถทำได้โดยไม่มีความผิด แต่สำหรับผู้มีความเห็นต่างจากรัฐ หากเจ้าหน้าที่ของรัฐเห็นว่าไปโน้มน้าวหรือชี้นำประชาชน กลับสุ่มเสี่ยงที่จะต้องรับผิด ติดคุกติดตะราง

ด้วยตัวเนื้อหาและความมุ่งหมายของคำถาม สำหรับคำถามเพิ่มเติมในการลงประชามติแบบนี้ จะพูดได้อย่างไรว่านี่คือการลงประชามติที่ฟรีและแฟร์สำหรับประชาชน
จึงอยากจะย้ำสำหรับผู้ที่อาจยังไม่ทราบว่า สำหรับคำถามเพิ่มเติมในการลงประชามติ เนื้อหาของคำถามจริงๆก็คือ ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า

“ในระหว่าง ๕ ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ สมควรให้วุฒิสภามีอำนาจร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี”

ส่วนท่านใดจะเห็นด้วย “เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ” หรือท่านใดจะไม่เห็นด้วย “เพื่อไม่ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติสืบทอดอำนาจบริหาร ผ่านกลไกให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นตัวแทนของตน มีอำนาจให้ความเห็นชอบบุคคลให้ไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”

ก็สุดแท้แต่ดุลพินิจของท่านครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image