นิด้าโพลเปิดผลสำรวจความคิดเห็น ปชช.ต่อสิทธิ 30 บาท “รับรู้เป็นสิทธิตามกฎหมาย”

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล”สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “การสร้างความรู้ความเข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อประชาชน ผ่านการสื่อสารเชิงรุก” เริ่มทำการสำรวจตั้งแต่ วันที่ 1 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม 2559 โดยตัวอย่างที่ใช้ในการสำรวจครั้งนี้ คือ ประชาชนทั่วไป และมีขนาดตัวอย่างทั้งสิ้น จำนวน 3,688 หน่วยตัวอย่าง เก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีใช้แบบสอบถามออนไลน์ (Online Survey) งาน Healthcare 2016 และหนังสือพิมพ์มติชน

การสำรวจในครั้งนี้ ตัวอย่างเกินครึ่งเป็นเพศหญิงรองลงมาเป็นเพศชาย และมีเพียงส่วนน้อยที่เป็นเพศทางเลือก ซึ่งมีอายุระหว่าง 46–60 ปี รองลงมามีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้น ไป และมีอายุระหว่าง 36–45 ปี ส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรสแล้ว รองลงมาโสด และเป็นหม้ายหรือหย่าร้างหรือแยกกันอยู่ โดยตัวอย่างส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า รองลงมาระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า และสูงกว่าระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า สำหรับอาชีพหลักของตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นพ่อบ้าน แม่บ้าน เกษียณอายุ ว่างงาน รองลงมาประกอบอาชีพค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว และอาชีพผู้ใช้แรงงานรับจ้างทั่วไป ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ระหว่าง 10,001–20,000 บาท รองลงมามีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาท และมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ระหว่าง 20,001-30,000 บาท

การใช้สิทธิการรักษาพยาบาล พบว่า ตัวอย่างใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากที่สุด รองลงมาสิทธิหลักประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรของรัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น สิทธิประกันสุขภาพเอกชน/บัตรประกันชีวิต และยังมีตัวอย่างบางส่วนที่ไม่มีสิทธิใดๆ เพราะเลือกที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง

จากการสำรวจ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ รู้จักสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. (ร้อยละ 70.28)แต่ก็มีบางส่วนที่ยังไม่รู้จักสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. (ร้อยละ 29.39)

Advertisement

ซึ่งตัวอย่างมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือมีหน้าที่บริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และมีคุณภาพในประเด็นนี้ตัวอย่างมีความรู้ ความเข้าใจมากที่สุด (ร้อยละ 26.88) รองลงมามีหน้าที่บริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม เพิ่มความคุ้มครองให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย (ร้อยละ 16.87), สนับสนุนการพัฒนาบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพให้มีคุณภาพ มาตรฐาน (ร้อยละ 16.73), บริหารเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ (ร้อยละ 14.74), ให้บริการรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ คำปรึกษาใช้สิทธิเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพ (ร้อยละ 13.41) และบทบาทหน้าที่การดำเนินการให้ทุกภาคส่วนมีความเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งตัวอย่างมีความรู้ ความเข้าใจในประเด็นนี้น้อยที่สุด (ร้อยละ 11.38)

นอกจากนี้การสำรวจการรู้จักหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตัวอย่างส่วนใหญ่รู้จักหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ร้อยละ 87.23) และมีเพียงส่วนน้อยที่ยังไม่รู้จักหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ร้อยละ 12.39)

เมื่อสอบถามในประเด็นการรับรู้ รับทราบว่า “ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือ ผู้ที่มีสัญชาติไทย มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้” ซึ่งตัวอย่างส่วนใหญ่ รับทราบในประเด็นนี้ (ร้อยละ 77.01) และในประเด็น “ไม่ว่าพรรคใดจะเป็นรัฐบาล ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ยังจะให้การดูแลประชาชนคนไทยให้เข้าถึงการบริการสุขภาพที่จำเป็นต่อไป” ซึ่งตัวอย่างส่วนใหญ่ รับทราบ (ร้อยละ 65.84)  รองลงมาไม่แน่ใจ (ร้อยละ 17.60) และมีตัวอย่างบางส่วน ที่ยังไม่ทราบถึงประเด็นนี้(ร้อยละ 16.57)

โดยตัวอย่างส่วนใหญ่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ สิทธิ 30 บาท หรือ สิทธิบัตรทองว่า เป็นสิทธิที่คนไทยได้รับตามกฎหมาย (ร้อยละ 63.34) รองลงมาคิดว่าเป็นโครงการสงเคราะห์จากรัฐ (ร้อยละ 22.70) และยังมีตัวอย่างบางส่วนที่ไม่แน่ใจว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ สิทธิ 30 บาท หรือ สิทธิบัตรทอง เป็นสิทธิที่คนไทยรับตามกฎหมายหรือเป็นโครงการสงเคราะห์จากรัฐ (ร้อยละ 13.96)

การรับรู้ รับทราบของตัวอย่างว่า สามารถสอบถามข้อมูลการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และแจ้งเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียนได้ที่ “สายด่วน สปสช. โทร 1330” ซึ่งพบว่า ตัวอย่างเกือบครึ่งที่ทราบว่ามีสายด่วนโดยสามารถสอบถามข้อมูลได้ (ร้อยละ 48.92) แต่มีบางส่วนที่ยังไม่ทราบ (ร้อยละ 42.52) และยังไม่แน่ใจ (ร้อยละ 8.57) สำหรับตัวอย่างส่วนใหญ่ที่ทราบว่ามีสายด่วนแต่ก็ยังไม่เคยใช้บริการ (ร้อยละ 72.71) ส่วนตัวอย่างที่เคยใช้บริการสายด่วน (ร้อยละ 27.29) ซึ่งเคยใช้บริการสอบถามข้อมูลข่าวสารต่างๆ มากที่สุด รองลงมาเคยใช้บริการในการตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลด้วยระบบอัตโนมัติ ขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพการเข้ารับบริการสาธารณสุข และในเรื่องการร้องเรียนหรือร้องทุกข์

ในประเด็นการรับบริการสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ สิทธิ 30 บาท หรือ สิทธิบัตรทอง การสำรวจ พบว่า ตัวอย่างที่ระบุว่าไม่เคยใช้บริการ (ร้อยละ 57.00) เนื่องจากการสำรวจในครั้งนี้ เป็นการสำรวจโดยรวมทั้งตัวอย่างที่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลประเภทอื่นๆ ด้วย ส่วนตัวอย่าง ที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ สิทธิ 30 บาท หรือ สิทธิบัตรทอง (ร้อยละ 43.00) เกือบทั้งหมดเคยใช้สิทธิในการรักษาพยาบาล

ความพึงพอใจต่อระบบบริการสาธารณสุข สำหรับผู้ที่เคยรับบริการสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยภาพรวมมีความพึงพอใจ อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.44 หรือคิดเป็นร้อยละ 69 เมื่อพิจารณาเป็นรายประเด็น พบว่า

  • ประเด็นขั้นตอนการให้บริการ เช่น การทำบัตร การจ่ายยา ตัวอย่าง ร้อยละ 40.29 มีความพึงพอใจปานกลาง รองลงมาร้อยละ 28.31 มีความพึงพอใจมาก และร้อยละ 16.39 มีความพึงพอใจมากที่สุด ตามลำดับ (ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.42 อยู่ในระดับความพึงพอใจระดับปานกลาง)
  • ประเด็นขั้นตอนการรักษาพยาบาล ตัวอย่าง ร้อยละ 41.68 มีความพึงพอใจปานกลาง รองลงมาร้อยละ 27.62 มีความพึงพอใจมาก และร้อยละ 16.08 มีความพึงพอใจมากที่สุด ตามลำดับ (ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.41 อยู่ในระดับความพึงพอใจระดับปานกลาง)
  • ประเด็นการให้บริการของแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ตัวอย่าง ร้อยละ 37.33 มีความพึงพอใจปานกลาง รองลงมาร้อยละ 371 มีความพึงพอใจมาก และร้อยละ 16.33 มีความพึงพอใจมากที่สุด ตามลำดับ (ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.43 อยู่ในระดับความพึงพอใจระดับปานกลาง)
  • ประเด็นคุณภาพของยาหรืออุปกรณ์การแพทย์ ตัวอย่าง ร้อยละ 41.80 มีความพึงพอใจปานกลาง รองลงมาร้อยละ 26.48 มีความพึงพอใจมาก และร้อยละ 14.31 มีความพึงพอใจมากที่สุด ตามลำดับ (ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.34 อยู่ในระดับความพึงพอใจระดับปานกลาง)
  • ประเด็นผลการรักษา (รักษาแล้วหาย หรืออาการดีขึ้น) ตัวอย่าง ร้อยละ 38.90 มีความพึงพอใจปานกลาง รองลงมาร้อยละ 30.08 มีความพึงพอใจมาก และร้อยละ 15.20 มีความพึงพอใจมากที่สุด ตามลำดับ (ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.41 อยู่ในระดับความพึงพอใจระดับปานกลาง)

chart-สปสช.-นิด้าโพล

สำหรับความคิดเห็นของตัวอย่างในประเด็นการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยประเด็นแรก คือ ให้มีการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ หรือจ่ายเพิ่ม เมื่อไปรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งตัวอย่างเห็นด้วย กับประเด็นนี้ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย และก็ยังไม่แน่ใจ ประเด็นที่สอง คือ ให้มีการร่วมจ่ายเฉพาะในส่วนที่เพิ่มเติม เพื่ออำนวยความสะดวก แต่ไม่เกี่ยวกับการรักษา เช่น ค่าห้องพิเศษ ค่าอาหารพิเศษ ซึ่งตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วย รองลงมาไม่เห็นด้วย และยังไม่แน่ใจ ประเด็นที่สาม คือ ให้ประชาชนรวมจ่ายผ่านระบบภาษี เช่น ที่ดำเนินการปัจจุบันนี้ ตัวอย่างเกือบครึ่งที่เห็นด้วย รองลงมายังไม่เห็นด้วย และมีบางส่วนที่ไม่แน่ใจ

ปัญหา อุปสรรคของการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตัวอย่างได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องระยะเวลาของการรอตรวจที่โรงพยาบาลใช้เวลานาน มาเป็นอันดับแรก รองลงมาปัญหาเรื่องระบบการส่งต่อผู้ป่วย ปัญหาการรักษาพยาบาลไม่เท่าเทียมกับสิทธิอื่น ปัญหาการได้รับบริการจากเจ้าหน้าที่ ที่ไม่เท่าเทียมกับผู้ที่ใช้สิทธิอื่น ปัญหาเรื่องจำนวนบุคลากรสาธารณสุขไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้บริการของผู้มีสิทธิ และปัญหาในการสวมสิทธิของบุคคลอื่น

ตัวอย่างมีความต้องการที่จะให้ปรับปรุงหรือพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยส่วนใหญ่ต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขในเรื่องของสิทธิในการรักษา การดูแลผู้ป่วยควรมีความเท่าเทียมกันไม่ลำเอียง และไม่จำกัดสิทธิในการรักษา รองลงมาต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขให้ประชาชนสามารถเลือกสถานพยาบาลที่สะดวกหรือใกล้ภูมิลำเนาของผู้ป่วยได้ และต้องการให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีสิทธิเท่ากับประกันสังคม/สิทธิข้าราชการหรือสามารถที่จะใช้สิทธิร่วมกันได้ด้วย

ท้ายที่สุดข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงหรือพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตัวอย่างแสดงความคิดเห็นว่าควรพัฒนาสถานที่และระบบการให้บริการให้มีความสะดวกหรือรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงจิตสำนึกที่ดีของผู้ให้บริการ รองลงมาอยากให้พัฒนาประสิทธิภาพของยา, อุปกรณ์การแพทย์, บุคลากรทางการแพทย์ให้มีคุณภาพและเพียงพอต่อการรักษา และมีความคิดเห็นว่าควรจัดกิจกรรมหรือประชาสัมพันธ์หน่วยงาน สปสช.ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้เป็นที่รู้จัก ให้ความรู้ แจ้งข่าวสาร แก่บุคคลทั่วไปได้รับทราบอย่างทั่วถึง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image