ดัชนีอุตสาหกรรม 6 เดือน ขยับขึ้นเล็กน้อย 0.2% จับตาไตรมาส3 ก่อนปรับเป้าทั้งปี โต 2-3% หรือหั่นลงแค่ 1-2% เตือนภาคแรงงานปรับตัวสู่ยุค 4.0 ก่อนตกงาน

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนมิถุนายน 2559 ขยายตัว 0.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเป็นบวก 4 เดือนติดต่อกัน อัตรากำลังการผลิตอยู่ที่ 66.29% ส่งผลให้เอ็มพีไอไตรมาส 2/2559 ขยายตัวได้ 1.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในบ้าน รถจักรยานยนต์ขยายตัวดี สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในไตรมาส 2/2559 มีการผลิตเพิ่มขึ้น 2.26% การบริโภคและจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 25.81% ผลพวงจากเม็ดเงินลงทุนโครงการพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งภาครัฐ ส่งผลให้เอ็มพีไอครึ่งปีแรกของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน) ขยายตัวได้ 0.2% สศอ.จึงคงอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม (จีดีพีอุตสาหกรรม) ปี 2559 ไว้ที่ 1.5-2.5% แต่ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและปัจจัยอื่นที่จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมช่วงไตรมาส 3/2559

“หากมีเงื่อนไขหรือสถานการณ์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ไตรมาส 3/2559 เอ็มพีไอโตไม่ถึง 2% ก็มีความเป็นไปได้ที่ สศอ. ต้องปรับลดตัวเลขคาดการณ์เอ็มพีไอปีนี้ลงเหลือ 1-2% อย่างเป็นทางการ จากก่อนหน้านี้คาดไว้ทั้งปีโต 2-3%” นายวีรศักดิ์ กล่าวและว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านการปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตมากกว่าแรงงานคน สศอ.มองช่วงระยะสั้นคงส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมและแรงงานที่ไม่รุนแรงและรวดเร็วนัก คาดว่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นช่วงปี 2560 เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image