กว่าจะมาเป็น …ร่าง รธน. ‘ฉบับ กรธ.’

การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

นับจากการชุมนุมอันยาวนานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เรื่อยมาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2557 และสิ้นสุดลงในวันที่ 22 พฤษภาคม เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในขณะนั้น นำคณะผู้บัญชาการเหล่าทัพ ยึดอำนาจจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

พร้อมกับตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขึ้นมาดูแลสถานการณ์บ้านเมือง

ผ่านไป 2 เดือน วันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 โดย คสช.ที่กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้น

Advertisement

กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมีทั้งหมด 36 คน ถูกคัดสรรมาจาก คสช. 6 คน สนช. 5 คน สปช. 20 คน ครม. 5 คน โดยมี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน กมธ.ยกร่างฯ มีหน้าที่ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญพร้อมฟังความเห็นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

จากนั้นให้ สปช.ประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่ หากเห็นชอบก็จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการประชามติ และถ้าไม่ผ่านรัฐธรรมนูญก็จะตกไป กมธ.ยกร่างฯทั้ง 36 คน และ สปช.ทั้ง 250 คน จะพ้นจากการทำหน้าที่ไปด้วย

“บวรศักดิ์” นำทีม 36 กมธ.ยกร่างฯ เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ และประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557

Advertisement

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นมีบทบัญญัติที่แปลกแตกต่างออกไปจากหลายฉบับที่ผ่านมา โดยเฉพาะบทบัญญัติอันเกี่ยวเนื่องกับระบบการเลือกตั้ง ซึ่งเห็นชอบให้นำรูปแบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม หรือเรียกว่าระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันมาใช้ จุดเด่นของระบบแบบใหม่นี้ คือให้ความสำคัญกับทุกคะแนนเสียง

นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 260 ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ประกอบด้วย ประธาน 1 คน และกรรมการอีกไม่เกิน 22 คน รวมเป็น 23 คน กรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน ได้แก่ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการกองทัพไทย (ผบ.สส.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ฯลฯ โดยมีอายุ 5 ปี เพื่อเฝ้าระวังแก้ไขวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้น

แต่สุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอันต้องตกไป เมื่อ สปช.มีมติ 135 ต่อ 105 ไม่เห็นชอบเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558

เป็นอันว่า กมธ.ยกร่างฯพร้อมทั้ง สปช.ต้องยุติหน้าที่การทำงานไปตามบทบัญญัติมาตรา 39 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2558

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่จึงเริ่มขึ้น โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. เรียกประชุมที่บ้านเกษะโกมล เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 เห็นชอบตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 21 คน ตามมาตรา 39/1 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2558 โดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ. รับผิดชอบเขียนรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ก่อนทำการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม

ทั้งนี้ นายมีชัยได้เรียกประชุม กรธ.นัดแรกในช่วงบ่ายวันที่ 6 ตุลาคม 2558 เพื่อวางกรอบการทำงาน ก่อนจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับทำประชามติ ออกมาทั้งหมด 16 หมวด 279 มาตรา มีเนื้อหาสาระสำคัญไม่แตกต่างจากฉบับของ “บวรศักดิ์” มากนัก จะต่างกันตรงที่รายละเอียดปลีกย่อย เช่น ระบบการเลือกตั้งที่ “ฉบับ กรธ.” เลือกใช้แบบจัดสรรปันส่วนผสม

ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มี คปป.เหมือนที่นักการเมืองเคยกลัว แต่ในบทเฉพาะกาล ระบุว่าในช่วง 5 ปีแรกหลังการเลือกตั้ง ให้มี ส.ว. 250 คน มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด วิธีการคือ 1.คสช.ตั้งกรรมการสรรหา 9-12 คน คัดเลือก ส.ว. 194 คน 2.ให้ กกต.เลือกมาทั้งหมดมา 200 คน เพื่อให้ คสช.เลือกในรอบสุดท้ายเหลือ 50 คน 3.กลุ่มที่ล็อกตำแหน่งไว้ชัดเจน 6 ตำแหน่ง คือ 1.ปลัดกระทรวงกลาโหม 2.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 3.ผู้บัญชาการทหารบก 4.ผู้บัญชาการทหารเรือ 5.ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ 6.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมีหน้าที่เร่งรัดติดตามงานด้านการปฏิรูป

ร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับ กรธ.” เสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการชี้แจงสาระสำคัญของร่างฯต่อ สนช.และ สปท.

กระทั่งที่ประชุม สนช.และ สปท.มีมติให้มีคำถามพ่วงในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559

โดยให้ถามความเห็นประชาชนด้วยว่า “เห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับตั้งแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศ กกต.กำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม 2559 ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. เป็นวันทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญพร้อมกับคำถามพ่วง โดยมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 และคำสั่ง คสช.เป็นเครื่องมือในการดูแลความสงบเรียบร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image