ชะเง้อมองโลก ต้นแบบ’ประชามติ’

“ประชามติ” หรือ “เรเฟอเรนดัม” ในภาษาอังกฤษซึ่งมีรากมาจากคำในภาษาละติน ที่มีความหมายถึงการ “นำกลับมา” อาทิ การนำปัญหากลับไปถามประชาชน ถือเป็นรูปแบบในการหาข้อยุติความแตกต่างหรือความขัดแย้งทางการเมืองที่นิยมกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ในภาคพื้นยุโรป

ประเทศที่มักใช้กระบวนการประชามติในการชี้ขาดเรื่องต่างๆ มากที่สุดคือ สวิตเซอร์แลนด์ นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เรื่อยมา ชาวสวิสทำประชามติไปแล้วมากกว่า 600 ครั้ง รองลงมาเป็นออสเตรเลียที่มีการทำประชามติอยู่ในหลักหลายสิบครั้งเท่านั้น

ในแง่ปรัชญาทางการเมือง ประชามติถือเป็นการแสดงออกถึงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ในแบบของประชาธิปไตยโดยตรง ภายใต้กลไกง่ายๆ ด้วยการจัดกลุ่มรณรงค์ตามประเด็นที่มีการเรียกร้องให้ทำประชามติ ซึ่งอาจสอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ หรือไม่ก็ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอื่นๆ ซึ่งอาจมีเงื่อนไขที่นำไปสู่การทำประชามติแตกต่างกันออกไป

อย่างไรก็ตาม ในโลกยุคใหม่การทำประชามติกลายเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นส่วนเสริมของประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งใช้กันอยู่แพร่หลายทั่วโลกในเวลานี้

Advertisement

โดยรวมๆ แล้ว การทำประชามติในยุคใหม่มักเกี่ยวเนื่องกับเรื่องสำคัญ หรือประเด็นที่จะผูกพันต่อชะตากรรมและทิศทางในอนาคตของประเทศ อาทิ การทำประชามติเพื่อรับ-ไม่รับ รัฐธรรมนูญ, การทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือในกรณีของตัวอย่างของการทำประชามติ 2 ครั้งหลังสุดใน

สหราชอาณาจักร คือการทำประชามติว่าสกอตแลนด์ควรแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรหรือไม่เมื่อวันที่ 18 กันยายน ปี 2557 กับการทำประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ปีนี้ในสหราชอาณาจักร เพื่อชี้ขาดว่าควรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ เป็นต้น

การทำประชามติในต่างประเทศโดยส่วนใหญ่แล้วมักเกี่ยวข้องกับประเด็นระดับชาติ 2 ด้าน ดังตัวอย่างข้างต้น แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเลือกระหว่างรับ-ไม่รับ หรือเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย เท่านั้น มีการทำประชามติแบบหลายประเด็นในหลายประเทศ ตัวอย่างเช่น การทำประชามติท้องถิ่นในระดับรัฐควบคู่ไปกับการเลือกตั้งทั่วไปในสหรัฐอเมริกา หรือการทำประชามติเพื่อชี้ขาดการออกแบบธงชาติใหม่ของออสเตรเลีย 9 แบบ เป็นต้น

Advertisement

ในกรณีที่ผู้มีสิทธิออกเสียงต้องตัดสินใจเพียง 2 ประเด็น มักใช้วิธีการชี้ขาดโดยการนับคะแนนเสียงข้างมากทั่วไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด) ยกเว้นจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น อาทิ กำหนดให้ต้องอาศัยเสียงข้างมากสมบูรณ์ (คือคะแนนเสียงต้องได้เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งประเทศ) แต่ต้องเป็นที่รับรู้กันทั่วไปก่อนการทำประชามติ ตัวอย่างเช่น ในกรณีของสกอตแลนด์และสหราชอาณาจักรข้างต้นนั้น ตัดสินประชามติด้วยเสียงข้างมากทั่วไป คือเกินครึ่งของผู้มาใช้สิทธิ โดยบัตรเสียถือเสมือนหนึ่งไม่ได้มาใช้สิทธิ เป็นต้น

เพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญาของการเลือกตั้งโดยตรง เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับข้อมูล ข้อเท็จจริงและทรรศนะเกี่ยวกับประเด็นที่ทำประชามติอย่างครบถ้วนเพื่อประกอบการตัดสินใจ ประเทศที่ทำประชามติจึงสนับสนุนให้มีการรณรงค์ในประเด็นที่ต้องทำประชามติกันโดยเสรีและอย่างเต็มที่ภายใต้การดูแล สนับสนุนของคณะกรรมการการเลือกตั้งของแต่ละชาติ

ตัวอย่างเช่น ในกรณีของสกอตแลนด์ มีการจัดกลุ่มรณรงค์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เห็นด้วยกับการแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรและกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย แต่ละกลุ่มได้สิทธิในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ชุมนุมหาเสียง และจัดพิมพ์ใบปลิวหรือไปรษณียบัตร แต่จำกัดค่าใช้จ่ายไม่เกินกลุ่มละ 1.5 ล้านปอนด์ ในสหราชอาณาจักรก็ทำนองเดียวกัน แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งของสหราชอาณาจักร ยังจำเป็นต้องให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่อทั้งกลุ่มสนับสนุนการอยู่ในอียู และกลุ่มต่อต้านการอยู่ในอียูอีก 600,000 ปอนด์ แต่จำกัดค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่เกิน 7 ล้านปอนด์

สกอตแลนด์กำหนดระยะเวลาให้รณรงค์กันเต็มที่ 16 สัปดาห์ หรือราว 4 เดือนเศษ ในกรณีของอังกฤษมีการรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการนับตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2558 แม้ว่าระยะเวลารณรงค์อย่างเป็นทางการเริ่มต้นเมื่อเดือนเมษายน 2559 เท่านั้นก็ตาม

ผลลัพธ์ที่ได้จากการทำประชามติ แม้จะไม่มีข้อผูกมัดทางนิตินัย แต่ถือเป็น “คำแนะนำ” จากประชาชนที่ถือเป็นพันธะผูกพันทางการเมืองซึ่งทุกฝ่ายควรปฏิบัติตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image