นักวิชาการชี้ ‘อภิสิทธิ์’ เเถลงไม่รับร่าง อาจกระทบคะเเนนประชามติ เหตุคนตั้งใจโหวตรับสับสน

โค้งสุดท้ายก่อนวันลงประชามติ 7 สิงหาคม กลุ่มต่างๆ เริ่มแสดงท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่เพียงพรรคเพื่อไทยที่แสดงออกชัดเจน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น ล่าสุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน จากนี้เป็นความเห็นของนักวิชาการ ในเมื่อสองพรรคการเมืองใหญ่มีทิศทางดังกล่าว แนวโน้มผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร

พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า

จะบอกว่าเป็นการแถลงของพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ (แสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ) ก็คงไม่ใช่ จากคำแถลงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ออกมาแสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามพรรคการเมืองเหมือนพรรคเพื่อไทย ที่สมาชิกส่วนใหญ่ออกมาแถลงจุดยืนว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ เหตุผลของการไม่รับร่างฯ นายอภิสิทธิ์ชี้แจงว่าไม่เห็นด้วยในหลายกรณี ทั้งระบบการเลือกตั้ง สว.แต่งตั้ง หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยาก แต่สุดท้ายแล้วก็ยังพูดถึงเรื่องการปราบโกง ปราบการคอร์รัปชั่นในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิชาการหลายคนมองว่า การเขียนรัฐธรรมนูญปราบโกงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ รวมถึงสุดท้ายยังคงสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง

Advertisement

ดังนั้นเหตุผลของนายอภิสิทธิ์จึงเป็นไปในทิศทางเดียวกับกลุ่มผู้สนับสนุน คสช.ที่พยายามออกมาชี้แจงว่ากลุ่มที่ไม่รับ เพราะต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ มากกว่าจะเป็นเหตุผลเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่เห็นว่า ควรนำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาปรับใช้

อย่างไรก็ตาม การแสดงความเห็นในครั้งนี้ของนายอภิสิทธิ์ได้ส่งผลกระทบต่อผลการลงคะแนนประชามติอย่างแน่นอน เพราะนักการเมืองทุกคนย่อมมีฐานเสียงของตัวเอง เมื่อหนึ่งนักการเมืองจากพรรคใหญ่ออกมาบอกว่าไม่รับ ก็ต้องส่งผลกระทบ ขึ้นอยู่ว่าที่เหลือจะเอาจริงเอาจังมากแค่ไหน และที่ส่งผลแน่ๆ คือคนที่ตั้งใจจะโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญย่อมเกิดความสับสน หากยังคงเคลียร์ภาพความสับสนตรงนี้ออกไปไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าโมเมนตัม (แรงเหวี่ยง) จะเทไปยังฝั่งที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า

หากดูจากกระแสและโมเมนตัมมันน่าจะออกไปทางไม่รับ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเอาแน่เอานอนไม่ได้ มีปัจจัยหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่รู้ เพราะว่าปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏที่หน้าสื่อ อาจจะเป็นตัวชี้วัดได้ว่าฝ่ายใดแพ้ฝ่ายใดจะชนะ เหมือนกรณีประชามติที่อังกฤษหรือเบร็กซิทที่ผ่านมา ก่อนลงประชามติกระแสส่วนใหญ่คือไม่ออก จะอยู่กับอียูต่อไป แต่พอสุดท้ายแล้วกลายเป็นว่าผลออกมาคือออกจากอียู

Advertisement

ดังนั้นจึงมีหลายครั้งหลายกรณีที่กระแสหรือผลโพลออกไปในทิศทางทิศทางหนึ่ง แต่ผลออกมาอีกทางหนึ่ง

เพราะฉะนั้นด้วยปัจจัยอีกหลายอย่างที่เราไม่เห็นในหน้าสื่อ จะทำให้ฟันธงไปเลยตามกระแสที่เห็นไม่ได้ว่า จะรับหรือไม่รับ สุดท้ายคงต้องรอจนถึงวันที่ 7 สิงหาคม จึงจะพบคำตอบแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image