นักวิชาการชี้ ‘อภิสิทธิ์’ รับ-ไม่รับร่างไม่เป็นผล เหตุคนส่วนใหญ่มีคำตอบในใจอยู่แล้ว

โค้งสุดท้ายก่อนวันลงประชามติ 7 สิงหาคม กลุ่มต่างๆ เริ่มแสดงท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่เพียงพรรคเพื่อไทยที่แสดงออกชัดเจน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น ล่าสุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน จากนี้เป็นความเห็นของนักวิชาการ ในเมื่อสองพรรคการเมืองใหญ่มีทิศทางดังกล่าว แนวโน้มผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร

รศ.ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความเห็นว่า

ครั้งนี้เป็นการร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติในสถานการณ์ที่ประเทศยังคงอยู่ในความขัดแย้ง แต่วันนี้อาจจะไม่เห็นการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มต่างๆ เป็นเพราะบทบัญญัติของมาตรา 44 การใช้อำนาจของ คสช. แม้กระทั่งกฎหมายการทำประชามติ แต่ความขัดแย้งยังไม่ได้ไปไหน

เมื่อการร่างรัฐธรรมนูญหรือการลงประชามติ อยู่ในสถานการณ์แห่งความขัดแย้งแบบนี้ ก็มีปัจจัยจะส่งผลต่อการลงคะแนนประชามติอยู่ไม่กี่ประเด็น

Advertisement

ประเด็นแรก เรื่องของทัศนะคติทางการเมือง ขณะนี้มีไม่น้อยที่มีคำตอบในใจอยู่แล้วว่าจะลงคะแนนประชามติไปทางไหน รวมถึงกลุ่มความชอบทางการเมืองก็อาจจะใช้ความชอบพิจารณา เช่น กลุ่มที่ไม่ชอบพรรคเพื่อไทย หรือนายทักษิณ ชินวัตร อาจจะลงคะแนนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ปราบโกงได้ โดยไม่สนใจเรื่องของรายละเอียดเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่อีกกลุ่มอาจจะไม่ชื่นชอบรัฐประหาร ไม่ชอบที่มาที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน อาจจะไม่เห็นชอบโดยไม่สนใจเรื่องเนื้อหาเช่นกัน กรณีนี้เป็นปัจจัยเรื่องของทัศนะคติทางการเมือง

ประเด็นที่ 2 เรื่องของความนิยมพรรคการเมือง ตรงนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับท่าทีของ 2 พรรคใหญ่ที่ออกมาแสดงท่าทีไม่รับรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ส่วน เนื่องจากกระทบกับนักการเมืองหลายเรื่อง ทั้งที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองเช่น นายกรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ที่อยู่ในกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมถึงการมองในเชิงภาพรวมทางการเมือง ในฐานะของการเป็นพรรคการเมืองและนักการเมืองว่า ระยะยาว บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแบบนี้ จะทำให้นักการเมืองและพรรคการเมืองมีความอ่อนแอ

ถามว่าการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองที่ออกมาแสดงท่าทีขณะนี้จะส่งผลต่อการลงคะแนนประชามติหรือไม่ คิดว่าน่าจะส่งผลระดับหนึ่ง เพราะพรรคการเมืองก็มีกลไกทางคะแนนเสียงของเขาในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นหัวคะแนนหรือ ส.ส.ในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าฝ่ายที่อยู่ในอำนาจรัฐมีความได้เปรียบกว่า ทั้ง กรธ.และ คสช. เพราะมีกลไกอำนาจรัฐอยู่ในมือ คือระบบราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน การใช้ครู รวมถึงสื่อของรัฐต่างๆ ดังนั้นแม้พรรคการเมืองจะแสดงท่าทีชัดเจน แต่พรรคการเมืองไม่อยู่ในอำนาจ มีแค่กลไกทางคะแนนเสียง เพราะฉะนั้นจะเคลื่อนไหวอย่างไรก็ไม่มีผลที่จะทำให้รัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงตกไปได้มากมายนัก เชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ผลของการลงประชามติออกมาในทางไม่เห็นชอบคงจะยาก

กรณีนายอภิสิทธิ์แสดงจุดยืนไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็คงไม่ส่งผลมากนักเช่นกัน กลุ่มที่ชื่นชอบพรรคประชาธิปปัตย์อย่างเหนียวแน่น ขนาดที่เห็นนายอภิสิทธิ์ไม่รับแล้วเชื่อตาม คงมีเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

ดังนั้นท่าทีของนายอภิสิทธิ์จึงมีผลเฉพาะฐานเสียง แต่ไม่ส่งผลกับคนกลุ่มอื่น เช่นกลุ่มที่มีทัศนะคติทางการเมืองที่ไม่ชอบพรรคเพื่อไทย ไม่ชอบนายทักษิณ เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ปราบโกงได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image