สุจิตต์ วงษ์เทศ : ภาษาไทย รากเหง้าเก่าสุด 3,000 ปีมาแล้ว อยู่มณฑลกวางสี ภาคใต้ของจีน อักษรไทย คืออักษรเขมรที่ถูกทำให้ง่าย อักขรวิธีง่ายที่สุด

อักษรไทย คืออักษรเขมรที่ถูกทำให้ง่าย แต่ยิ่งง่ายคืออักขรวิธีง่ายที่สุดในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปทั้งในอดีตและปัจจุบัน ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับคนที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ (จำจากข้อเขียนของ อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ กำลังพิมพ์เป็นเล่มโดยสำนักพิมพ์มติชน)

อักษรไทยและอักขรวิธีเก่าสุด ใช้เขียนบนสมุดข่อย ยุคอยุธยา (จำจากงานค้นคว้าของ จิตร ภูมิศักดิ์) หลังจากนั้นจึงมีผู้ปรับปรุงเพื่อใช้สลักหิน เช่น รัฐสุโขทัย (มีเค้าอยู่ในพงศาวดารเหนือ)
แต่ภาษาไทย ถูกผู้พิทักษ์ภาษาไทยสถาปนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยอิงนิยายเรื่องประดิษฐ์อักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหง

แผนที่แสดงตำแหน่งมณฑลกวางสี ทางภาคใต้ของจีน (ติดเวียดนาม) แหล่งเก่าสุดทางตระกูลไต-ไท รากเหง้าของภาษาไทย
แผนที่แสดงตำแหน่งมณฑลกวางสี ทางภาคใต้ของจีน (ติดเวียดนาม) แหล่งเก่าสุดทางตระกูลไต-ไท รากเหง้าของภาษาไทย

รากเหง้าเก่าสุดภาษาไทยอยู่กวางสี

ภาษาไทย ตามหลักฐานวิชาการว่ามีรากเหง้าจากตระกูลภาษาไต-ไท พบเก่าสุดราว 3,000 ปีมาแล้ว อยู่บริเวณมณฑลกวางสี (ภาคใต้ของจีน) ต่อเนื่องถึงเมืองแถง ที่เดียนเบียนฟู (ภาคเหนือของเวียดนาม)
คนยุคนั้นไม่เรียกตัวเองว่าคนไทย และไม่เรียกภาษาที่พูดว่าภาษาไทย
ตราบจนปัจจุบันนี้ บริเวณกวางสีกับเมืองแถง ยังมีคนพูดตระกูลภาษาไต-ไท แต่ก็ไม่เรียกภาษาไทย และไม่เรียกตัวเองว่าคนไทย
ตระกูลภาษาไต-ไท เป็นภาษากลางทางการค้าภายในภูมิภาค เพราะไม่ยุ่งยากซับซ้อน (เมื่อเทียบกับภาคอื่น) ทำให้แพร่กระจายออกไปกว้างขวาง ย่อมมีอำนาจมากทางการเมืองและเศรษฐกิจพร้อมกันไปด้วย โดยเฉพาะตั้งแต่ ลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำสาละวิน, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฯลฯ

คนพูดภาษาอื่นในชีวิตประจำวัน เช่น มอญ, เขมร, เจ๊ก, แขก, ม้ง, เมี่ยน, ลาว ฯลฯ ต้องใช้ภาษาไต-ไท และคุ้นกับวัฒนธรรมไต-ไท กระทั่งราวหลัง พ.ศ. 1700 คนหลายเผ่าพันธุ์บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง รวมกันเรียกตัวเองด้วยชื่อสมมุติขึ้นใหม่ว่า ไทย, คนไทย แล้วดัดแปลงอักษรเขมรกับอักษรมอญเป็นอักษรไทย
มณฑลกวางสี แหล่งเก่าสุดของภาษาไต-ไท ผมเคยไปสังเกตการณ์เมื่อ พ.ศ. 2537 แล้วบันทึกมาพิมพ์เป็นเล่ม ชื่อ คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ จะยกบางตอนมาปรับเพื่อแบ่งปันสู่กันอ่าน ต่อไปนี้

Advertisement
ปกหนังสือคนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ คำให้การเรื่องจ้วง (มณฑลกวางสีในจีน) เครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2537
ปกหนังสือคนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ คำให้การเรื่องจ้วง (มณฑลกวางสีในจีน) เครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2537

ตามล่าหาจ้วง แต่ไม่เคยพบจ้วง

ผมได้ยินครั้งแรกสุดในชีวิต ชื่อ “จ้วง” ชนชาติพูดตระกูลภาษาไทยในมณฑลกวางสีของจีนภาคใต้ จากท่านศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี (ปราชญ์สามัญชนคนสำคัญอีกท่านหนึ่งของประเทศไทยที่ถึงแก่กรรมแล้ว) ตอนที่ผมยังเรียนสอบตกวิชาภาษาอังกฤษอยู่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (ระหว่าง พ.ศ. 2507-2513)
อาจารย์ชินเอาบทความภาษาอังกฤษเรื่องจ้วงให้ผมแปลเป็นภาษาไทย แต่ผมต้องส่งคืนท่าน เพราะอ่านไม่ออก แปลไม่ได้สักตัวเดียว ไม่รู้จักแม้กระทั่งชื่อเรื่องว่า “จ้วง”
หลังจากนั้นท่านก็แปลเอง แถมอบรมเรื่องจ้วงให้ผมรู้อีกต่างหาก
ตั้งแต่นั้นมาผมก็จดจำเรื่องจ้วงใส่กบาลไว้ จนได้อ่านหนังสือ “ความเป็นมาของคำสยามฯ” ของจิตร ภูมิศักดิ์ อ้างถึงเรื่องจ้วงไว้อีก และอ่านดูรู้ว่าจิตรอ้างบทความเดียวกันกับที่อาจารย์ชินเคยบอก ผมยิ่งกระหายใคร่รู้เรื่องให้กว้างขวางออกไป ทั้งอยากเดินทางไปสำรวจและศึกษาที่เมืองจ้วง
ครั้งเป็นนักข่าวติดตาม ฯพณฯ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปฟื้นฟูสัมพันธไมตรีกับจีน (พ.ศ. 2518) ทางการจีนพาไปสถาบันชนชาติที่ปักกิ่ง ได้พบปะสนทนากับพวกลื้อสิบสองพันนา แต่ไม่ได้พบพวกจ้วง ถึงพบก็คงไม่รู้เรื่อง เพราะตอนนั้นยังตื่นๆ หลับๆ และสับสนอลเวงเรื่องชนชาติไทย

คราวเดินทางไปยูนนาน (พ.ศ. 2527) เพื่อศึกษาเรื่องลื้อที่สิบสองพันนากับเรื่องน่านเจ้า ผมก็สอบถามนักวิชาการจีนที่คุนหมิงอย่างศาสตราจารย์เฉินหลี่ฟ่าน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษาแห่งยุนนาน และศาสตราจารย์เจีย แยนจอง เรื่อง “จ้วง” อีก ท่านทั้งสองได้เล่าเรื่องย่อๆ ให้ฟัง แล้วบอกว่ายินดีจะประสานงานให้ผมได้ไปเมืองจ้วง เพื่อรู้จักจ้วง
แต่จนแล้วจนรอดผมก็ยังไม่พร้อมจะเดินทาง เพราะขณะนั้นยังมีภาระอื่นๆ ท่วมหัว โดยเฉพาะ “ดอกเบี้ย”

เมื่อบรรดานักวิชาการด้านมานุษยวิทยาและภาษาศาสตร์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางไปศึกษาและวิจัยที่เมืองจ้วง ผมก็ติดตามและเฝ้ารอผลการศึกษาและวิจัยอย่างใจหายใจคว่ำ

Advertisement

จนกระทั่งได้อ่านบทความเรื่อง “ประเพณีแห่กบของชาวจ้วง : นิทานกับความเชื่อ” ที่อาจารย์สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนเล่าไว้ในวารสารภาษาและวรรณคดีไทย (ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 – สิงหาคม 2529) ทำให้อยากไปศึกษาเรื่องกบ เพราะเกี่ยวข้องกับมโหระทึก และผมเชื่อเป็นส่วนตัวว่ามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเครื่องตีโลหะตระกูลฆ้องในวงดนตรีไทย ดังที่เคยเขียนไว้ในหนังสือ “ร้องรำทำเพลง” (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ พิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2532)

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2534 ผมติดตามอาจารย์ ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง กับอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกหลายท่านไปเวียดนามเพื่อประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับ “ไทเฮียน” (ไทศึกษา) ที่ฮานอย แล้วไปศึกษาเรื่องราวของตระกูลไทยที่เมืองแถน (เดียนเบียนฟู) และเมืองอื่นๆ ที่อยู่ใกล้พรมแดนเวียดนาม-จีนด้วย ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องและต่อเนื่องถึงชนชาติจ้วงในกวางสีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้คนตระกูลไทย-ลาว กับชาวเวียดนามเอง และวัฒนธรรมสำริดตั้งแต่กลุ่มเทียนในยุนนาน ลงมาถึงกลุ่มดงเซินในเวียดนาม กลุ่มจ้วงในกวางสี และกลุ่มบ้านเชียงในประเทศไทย ที่ผมเขียนร่วมกับอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ไว้แล้วในหนังสือชื่อ “ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม” (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ จัดพิมพ์จำหน่ายเมื่อเดือนธันวาคม 2534)

ขณะนั้นตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่ายังขาดความรู้เรื่องชนชาติจ้วง และคิดว่าจะต้องไปศึกษาต่อที่เมืองจ้วงให้ได้-สักวันหนึ่งเถอะ คอยดู
แต่ช่วงเวลาทำงานที่ “ศิลปวัฒนธรรม” ยังไม่ลงตัว จึงยังไม่ได้เดินทางไปเมืองจ้วงอย่างที่ต้องการสักที ทำได้เพียงติดตามความรู้เรื่องจ้วงจากเอกสารและงานประชุมสัมมนาทางวิชาการของนักวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ทำวิจัยมาหลายปีแล้วเท่านั้น
ครั้นจะหาเอกสารจากนักวิชาการจ้วงและจีนมาศึกษานั้นอย่าพึงหวัง เพราะล้วนเป็นภาษาจีน ผมอ่านไม่ได้ แปลไม่ออก บอกไม่ถูก ที่ทำได้และทำอยู่เรื่อยๆ คือขอให้คุณทองแถม นาถจำนง เรียบเรียงเรื่องจ้วงจากเอกสารจีนลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ“ศิลปวัฒนธรรม”

ไปเมืองจ้วง

“ตามล่าหาจ้วง แต่ไม่เคยพบจ้วง” ที่ยกมา ผมเขียนไว้เมื่อกลับจากไปเมืองจ้วง กวางสี พ.ศ. 2537

หนานหนิง เมืองหลวงของมณฑลกวางสี เขตปกครองตนเองจ้วง (พ.ศ. 2537)
หนานหนิง เมืองหลวงของมณฑลกวางสี เขตปกครองตนเองจ้วง (พ.ศ. 2537)

ที่ไปคราวนั้นเพราะมีอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยประสานงานกับนักวิชาการที่กวางสี เพื่อไปสังเกตการณ์พิธีฝังศพกบจ้วง ที่มีเป็นประเพณีช่วงหลังตรุษจีน เข้าหน้าแล้ง
นักวิชาการกวางสี คือรองศาสตราจารย์ฉิน เซิ่งหมิน (Qin Shengmin) เป็นรองผู้อำนวยการสถาบันชนชาติแห่งมณฑลกวางสี (Vice Director of Guangxi Research Institute for Nationalities) และเป็นชาวจ้วง เกิดปีระกา ปัจจุบันอายุ 49 ปี เรียนจบวิชาโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มีผลงานวิชาการเกี่ยวกับชนชาติจ้วง และมณฑลกวางสีหลายเรื่อง
สำหรับปีนี้ (พ.ศ. 2537) พิธีกรรมฝังศพกบจ้วงจะมีในวันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม ที่หมู่บ้านหนาหลี่ชุน อำเภอเทียนเอ๋อ ทางตอนเหนือของมณฑลกวางสี (ติดเขตมณฑลกุ้ยโจวหรือกุยจิ๋ว)

ต่อไปนี้เป็นเนื้อความที่ผมสรุปไว้ในหนังสือตั้งแต่ พ.ศ. 2537

จ้วงเป็นเครือญาติตระกูลไทย ผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด
ที่ว่า “จ้วงเป็นเครือญาติตระกูลไทย” ก็เพราะภาษาจ้วงกับภาษาไทยอยู่ในตระกูลเดียวกัน ฉันทลักษณ์ในบทร้อยกรองของจ้วงกับของไทยมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และมีพื้นฐานจากคำคล้องจองเช่นเดียวกัน
บ้านจ้วง

บ้านชาวจ้วงตามไหล่เขา (พ.ศ. 2537)
บ้านชาวจ้วงตามไหล่เขา (พ.ศ. 2537)

นิทานปรัมปราและนิยายศักดิ์สิทธิ์ที่ถ่ายทอด “ปากต่อปาก” ด้วยภาษาจ้วงหรือภาษาตระกูลไทย เช่น เรื่องกำเนิดคน เรื่องการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสัมพันธ์กับน้ำฝน เช่น กบ ฯลฯ ล้วนคล้ายคลึงกับนิทานและนิยายของชนชาติไทยทุกกลุ่มทุกเหล่า รวมทั้งคนไทยในประเทศไทย
ด้วยเหตุนี้ชาวจ้วงย่อมพูดว่า- “ไทยเป็นเครือญาติตระกูลจ้วง”-ด้วยก็ได้
ที่ว่า – “ผู้ยิ่งใหญ่” – ก็เพราะในมณฑลกวางสีมีชาวจ้วงถึง 12-13 ล้านคน และอยู่เขตมณฑลอื่นๆ อีกเกือบ 1 ล้านคน นับเป็นเครือญาติตระกูลไทยมีจำนวนมากที่สุดที่อยู่นอกดินแดนประเทศไทยซึ่งนับว่าใหญ่มาก
นอกจากนั้นชาวจ้วงยังมีส่วนเป็นเจ้าของวัฒนธรรมมโหระทึกที่เป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมยุคแรกเริ่มของภูมิภาคอุษาคเนย์ด้วย
นี่แหละ “ผู้ยิ่งใหญ่”
ที่ว่า -“เก่าแก่ที่สุด”- ก็เพราะมีร่องรอยและหลักฐานว่าจ้วงมีวัฒนธรรมสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว โดยดูจากภาพเขียนที่ผาลายกับมโหระทึกและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อ “ผี”

กวางสี

ชาวจ้วงที่มณฑลกวางสี (พ.ศ. 2537)
ชาวจ้วงที่มณฑลกวางสี (พ.ศ. 2537)

 

ภาพเขียนมหึมาบนภูผามหัศจรรย์-หรือผาลาย เป็นภาพพิธีกรรมขอฝนเพื่อความอุดมสมบูรณ์ มีภาพมโหระทึกและกลุ่มคนประโคมตีมโหระทึก มีภาพคนประดับขนนกบนหัวแล้วทำท่ากางขากางแขนคล้ายกบ
มโหระทึกเป็นกลองหรือฆ้องทำด้วยสำริดที่มีตัวตนเป็นวัตถุจริงๆ เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมของภูมิภาคอุษาคเนย์โดยเฉพาะ และมีพัฒนาการเกือบ 3,000 ปีมาแล้ว อาจนับได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมแรกเริ่มของภูมิภาคอุษาคเนย์ก่อนรับอารยธรรมจากจีนและอินเดีย
เฉพาะบริเวณที่เป็นถิ่นฐานของชาวจ้วงในมณฑลกวางสี พบมโหระทึกฝังอยู่ใต้ดินไม่น้อยกว่า 600 ใบ และชาวจ้วงทุกวันนี้ยังมีมโหระทึกประจำตระกูลกับประจำหมู่บ้านใช้งานในพิธีกรรมที่ทำสืบเนื่องมาแต่ดึกดำบรรพ์อีกรวมแล้วนับพันๆ ใบ แสดงว่าชาวจ้วงให้ความสำคัญต่อมโหระทึกมาก จนอาจจะกล่าวได้ว่าจ้วงเป็นเจ้าของวัฒนธรรมมโหระทึก (แม้ชนชาติอื่นจะมีมโหระทึกด้วย แต่รวมแล้วไม่มากเท่าจ้วง)
ทุกวันนี้ชาวจ้วงยังใช้มโหระทึกประโคมตีในพิธีสำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีกรรม “ขอฝน” เพื่อความอุดมสมบูรณ์ ดังพิธีบูชากบประจำปี ตามหมู่บ้านต่างๆ มีขบวนมโหระทึกแห่กบ มีการละเล่นที่คนแต่งตัวเป็นกบช่วยเหลือมนุษย์ ฯลฯ ล้วนสอดคล้องกับภาพเขียนที่

ผาลาย แสดงว่าชาวจ้วงยังสืบทอดประเพณีและพิธีกรรมตั้งแต่ยุคสำริดจนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานราว 3,000 ปีมาแล้ว
พิธีกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นระบบความเชื่อ “ผี” ที่มีอยู่ในนิทานและนิยาย ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันกับความอุดมสมบูรณ์ที่เกี่ยวกับลมมรสุมอันเป็นสัญลักษณ์ของภูมิภาคอุษาคเนย์ ทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และทางวัฒนธรรมที่มีความเจริญมาช้านาน
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แสดงว่าชาวจ้วงตั้งหลักแหล่งเป็นปึกแผ่นมั่นคงอยู่บริเวณมณฑลกวางสีและเขตใกล้เคียงอย่างสืบเนื่องมาแต่ดั้งเดิมเริ่มแรก ยิ่งการที่มีประชากรเพิ่มขึ้นมากถึง 12-13 ล้านคน ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงการเป็นคนพื้นเมืองในภูมิภาคนี้มาช้านานมากทีเดียว
นี่แหละ “จ้วง-เครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด”

แต่-ทุกวันนี้จ้วงไม่ใช่คนไทย เพราะไม่ได้เป็นประชากรของประเทศไทย และไม่ได้อยู่ในดินแดนประเทศไทย ทุกวันนี้ชาวจ้วงเป็นคนจีน เพราะเป็นประชากรจีน และอยู่ในดินแดนประเทศจีน รวมทั้งมีวิถีชีวิตที่รับอิทธิพลวัฒนธรรมจีน ไม่ว่าจะเป็นบ้านช่องที่อยู่อาศัย และขนบธรรมเนียมประเพณีหลายๆ อย่าง
และแม้จ้วงเป็นเครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเมืองจ้วงกวางสี แต่อาจมีชาวจ้วงบางกลุ่มเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนประเทศไทยสมัยโบราณก็ได้ ส่วนชาวจ้วงเกือบทั้งหมดก็อยู่ที่เมืองจ้วงนั่นแหละ
เหตุที่ต้องสนใจศึกษาเรื่องจ้วง ก็ดังที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวไว้ว่า

“จ้วง เป็นกลุ่มชนชาติไทยที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่ อย่างสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ซึ่งอย่างน้อยก็ราว 2,300-2,400 ปีมาแล้ว ฉะนั้น วัฒนธรรมของชาวจ้วงก็คือวัฒนธรรมไทยที่มีความเก่าแก่ เป็นอารยธรรมเริ่มแรกของภูมิภาคนี้ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลอารยธรรมจีนและอินเดีย”
“แสดงว่าคนที่อยู่ในดินแดนประเทศไทย พูดภาษาไทย มีระบบความเชื่อและประเพณีหลายอย่างคล้ายคลึงกับชาวจ้วง ไม่ได้เพิ่งมีความเจริญรุ่งเรืองและมีวัฒนธรรมของตนเองเพียงสมัยสุโขทัยราว 700-800 ปีอย่างที่ใครต่อใครคิดกันไปเองเท่านั้น”
“ถ้าไม่มีชาวจ้วงที่เป็นเครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดเป็นผู้สืบทอดอารยธรรมต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วเอาไว้ คนไทยก็คงไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมว่าตนเองก็มีพื้นเพรากเหง้าเก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของภูมิภาคอุษาคเนย์”

testpipad

คนไทย เพิ่งเรียกตัวเองราวหลัง พ.ศ. 1700 บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง มีศูนย์กลางอยู่อยุธยา ไม่อพยพยกโขยงถอนรากถอนโคนจากเทือกเขาอัลไต

ส่วนภาษาไทยมีรากเหง้าเก่าสุดอยู่มณฑลกวางสี ทางตอนใต้จของจีน ที่อัลไตไม่มีภาษาไทย

 

[พรุ่งนี้ อ่าน- จ้วงมณฑลกวางสี ภาคใต้ของจีน พูดภาษาไต-ไท แต่ไม่ใช่คนไทย]

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image