จิตแพทย์เตือน!! อยู่ห่างจากโซเชียล เมื่ออารมณ์พุ่งปรี๊ด ก่อนเสียใจภายหลัง

กลายเป็นกระแสฮือฮาบนโลกออนไลน์ไม่น้อย เมื่อดาราสาวรุ่นน้อง ออกมาโพสต์อินสตาแกรมพาดพิงถึงดาราสาวรุ่นพี่ ก่อนจะลบไปในไม่ช้า เพียงแต่ว่าดราม่ามาบังเกิดเอาเมื่อมีมือดีมาแคปหน้าจอเอาไว้ได้ ก่อนจะเป็นข่าวดังสุดๆในช่วงไม่กี่วันนี้ กลายเป็นบทเรียนเรื่องการ “โพสต์” โดยลืมการยั้งคิดให้หลายๆคนได้ตั้งคำถามต่อไป

แต่ไม่เพียงแต่คนดังเท่านั้นจะเผลอไปกับโลกโซเชียล เพราะคนทั่วๆไป ก็คงมีสักครั้งที่เผลอพลั้งกดเผยแพร่ข้อความออกไปในช่วงที่อารมณ์กำลังพุ่งปรี๊ด โดยไม่ได้คิดถึงผลที่ตามมาเช่นกัน

เรื่องนี้ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต อธิบายไว้ว่า ถือเป็นเรื่องปกติของคนทุกช่วงวัย ที่ต้องการมีคนรับฟังและเข้าใจความรู้สึก ยิ่งกับวัยรุ่นเองที่เป็นวัยเรียนรู้ตัวเองและเข้าใจคนอื่น เมื่อรู้สึกอะไรย่อมคาดหวังให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย โซเชียลมีเดีย จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ถ่ายทอดเรื่องราว ซึ่งเมื่อโพสต์ออกไปแล้วก็เชื่อว่าจะบรรเทา ผ่อนคลายความอึดอัด คับข้องใจในช่วงนั้นได้

“แต่สิ่งที่หลงลืมไปคือ บางครั้งการสื่อสารโดยไม่เห็นภาษากาย คนอื่นจะตีความอย่างไรก็ได้ นอกจากนี้ความไม่ครบถ้วนของการสื่อสาร อาจไปสร้างความบาดหมางให้กับคนที่ไม่เกี่ยวข้องได้ แม้กระทั่งคนที่เราต้องการพาดพิงก็อาจตีความไปมากกว่าที่เราตั้งใจ ก่อให้เกิดเป็นความเสียหายไม่น้อย จากไม่คิดอะไร ผลกระทบอาจรุนแรงกว่านั้น”

Advertisement

“นั่นเพราะการใช้โซเชียลมีเดีย แม้จะเลือกแชร์ เลือกโพสต์ในห้องเงียบๆคนเดียว ก็เหมือนตะโกนในที่สาธารณะ ปรากฏอยู่หน้าเสาธงอยู่ดี”

พญ.อัมพร จึงแนะนำว่า เพราะการใช้โซเชียลมีเดียมีความเสี่ยง ทุกอย่างเป็นเรื่องถาวร จึงต้องตั้งสติก่อนโพสต์ทุกครั้ง

“เมื่ออยู่ในอารมณ์สุดโต่ง เราควรอยู่ให้ห่างจากโซเชียลมีเดียไว้ ไม่ยึดติดให้เป็นที่พึ่ง เพราะไม่ว่าจะโพสต์อะไรลงไปย่อมมีคนเสียใจ และไม่ควรลงข้อความที่ปราศจากการยั้งคิด ไตร่ตรอง ในเวลาที่คุกรุ่นเด็ดขาด ยิ่งกับการแสดงออกถึงอารมณ์ด้านลบ ความเกลียดชังต่างๆด้วยแล้ว ไม่ควรอย่างยิ่ง ให้คิดเสียว่าไม่มีประโยชน์อะไรเลย สิ่งที่ปลอดภัยที่สุดก็คือการใช้โซเชียลแชร์ข่าวสาร และความรู้สึกในเชิงบวกมากกว่า” พญ.อัมพรย้ำ

Advertisement

พร้อมทั้งยกกรณีตัวอย่างไว้ว่า “มีหลายครั้งที่คนไข้เข้ามาปรึกษาว่าโพสต์ข้อความออกไปแล้วเพื่อนเข้าใจผิด เกินกว่าที่เจตนา ทำให้เกิดความเกลียดชังขึ้น จนเสียใจ กลายเป็นซึมเศร้า ถูกแอนตี้เพราะความเข้าใจผิด หรืออีกรูปแบบหนึ่งก็คือการเผยแพร่ข้อความ Hate speeh อย่างคนไข้ที่ดูแลอยู่บางคน ที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ ถูกถ่ายรูปลงในโซเชียลว่าขึ้นรถไฟฟ้าแล้วไม่แบ่งที่นั่งให้แก่คนอื่น ถูกต่อว่าว่าไร้น้ำใจ ทั้งยังขู่ทำร้ายร่างกาย แต่จริงๆแล้วเขาไม่ได้มีเจตนาร้ายเลย เมื่อเขาถูกเอามาต่อว่า พอมารู้ทีหลังก็ร้องไห้ ยังโชคดีที่เขาอยู่กับคนที่เข้าใจเขา แม้คนโพสต์จะมาขอโทษทีหลัง แต่นั่นก็ได้เผยแพร่ความเกลียดชัง และปลุกเร้าสิ่งไม่ดีขึ้นมาแล้ว”

“การใช้โซเชียลมีเดีย จึงอยากให้ระมัดระวัง มองสิ่งเหล่านี้ในเชิงบวกมากกว่า เพราะข้อดีของเรื่องราวบนโลกออนไลน์ มีมากกว่าข้อเสียหากใช้อย่างถูกต้อง” พญ.อัมพร ย้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image