ถอดรหัส… ‘ปชป.เสียงแตก’

หมายเหตุ – ความเห็นของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และนักวิชาการ วิเคราะห์กรณีที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เสียงแตก มีทั้งกลุ่มที่แสดงความจำนงจะโหวตรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันประชามติ 7 สิงหาคม

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรค ปชป.

อยากให้เข้าใจว่า ความคิดของคนในพรรค ปชป. ต่างคนต่างมีเหตุผล ซึ่งความคิดต่างไม่ได้เป็นเรื่องแปลกหรือผิดปกติอะไรเลย ถือเป็นเรื่องธรรมดาด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าคนส่วนใหญ่ในพรรคแสดงจุดยืนโดยที่ไม่ได้กล่าวหาใคร แต่ว่าเป็นข้อเท็จจริงตามตัวบทกฎหมาย ซึ่งคนทั่วไปหรือแม้กระทั่งนักการเมืองที่อ่านกฎหมายแล้วก็ตามก็อาจจะไม่ลึกซึ้ง เนื่องด้วยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอะไรที่ซุกซ่อนซ่อนเงื่อนอยู่มาก เพราะฉะนั้นต้องเป็นเรื่องยากที่จะเกิดเข้าใจ

โดยส่วนตัวขอสนับสนุนแนวคิดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. ที่ประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงประชามติ เพราะท่านมีความลึกซึ้ง และไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะสรุปย่อยออกมาแบบเข้าใจได้ง่ายๆ ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่าง จากการที่ได้ศึกษาอย่างละเอียด อยากบอกว่านี่เป็นข้อเท็จจริงที่คนหลายคนเข้าใจตรงกัน แต่เราไม่ได้คาดหวังว่าจะให้ใครเชื่อคล้อยตามว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้การตรวจสอบการปราบโกงอ่อนแอลง ดังนั้น อย่าไปคาดหวังเลยว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นจะลดลงไปจากประเทศไทย แม้ว่าทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันว่าร่างฯนี้เป็นร่างฯที่เข้มข้นที่สุดด้วยการกำหนดคุณสมบัติของนักการเมือง ซึ่งตรงนี้แล้วเห็นด้วย แต่คิดว่าเป็นคนละส่วนกัน

Advertisement

ประการถัดมา เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และเป็นอุดมการณ์และจุดยืนของพรรค ซึ่งการที่นายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคแต่ไม่ยืนตามหลักอุดมการณ์ของพรรค ก็คงเป็นไปไม่ได้ ใช่หรือไม่ ซึ่งสิ่งนี้แหละเป็นสิ่งที่ให้กำลังใจและสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นไปตามจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ เพราะถ้าร่างฯนี้ผ่านการทำประชามติก็จะนำมาซึ่งมีคนโกง เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ทั้งนี้ การที่ได้เคยศึกษามา คิดว่ามีการแบ่งคนออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกยึดตามหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนที่ 2 ตามหลักประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยคิดว่าประชาธิปไตยเต็มใบไม่สำคัญ เพียงแค่ขอให้มีอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยเหลือประเทศชาติเท่านี้ก็พอใจแล้ว ถึงกระนั้นถ้าชอบแบบไหนก็ตัดสินใจไปเองเลย

ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณจะเลือกสิ่งใดก็ตามเราไม่มีความคิดเห็นเนื่องจากพูดอะไรได้ แต่อยากจะให้ศึกษาอย่างถ่องแท้และลึกซึ้งเพราะว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอะไรที่ยากมาก

ไชยันต์ รัชชกูล คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

ที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะลงประชามติกันในครั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าเวลานายอภิสิทธิ์แถลงจุดยืนนั้นโดยแท้จริงแล้วไม่ใช่จุดยืน หมายถึงว่านายอภิสิทธิ์ย่อมคำนวณการได้เสียทางการเมืองมาแล้ว และคิดมาแล้วว่าหากแถลงเช่นนี้แล้วจะได้อะไรและจะเสียอะไร ลองสังเกตดูจากเนื้อหาที่นายอภิสิทธิ์เสนอมา ก็คือพยายามจะได้ทุกอย่าง คือได้ทั้งกับ คสช.เอง ได้ทั้งกับกระแสไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และได้ทั้งกับกระแสที่รับร่างฯด้วย โดยรวมแล้วนายอภิสิทธิ์กินทุกอย่าง ได้ทุกทาง แต่พอมารวมกันแล้วเลยไม่ได้อะไรเลย ตอนนี้เราบอกไม่ได้ว่า คสช.จะชอบไหม แต่อย่างน้อย คสช.ก็ไม่ได้ว่าอะไร

คิดว่าในพรรคประชาธิปัตย์เอง ต่างคนคงต่างแถลงความคิดเห็นไป คงไม่ส่งผลอะไรต่อนายอภิสิทธิ์ และคิดว่าเสียงในพรรคก็ไม่แตก เนื่องจากการแถลงจุดยืนครั้งนี้ของนายอภิสิทธิ์เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่แตกขนาดนั้น กล่าวคือไม่ได้ขัดแย้งเชิงหลักการอะไร พอการประชามติผ่านไป การแถลงจุดยืนคงไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไปแล้ว

ถามว่าท่าทีต่อไปของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร ส่วนตัวคิดว่าทางพรรคคิดทางได้ทางเสียอยู่แล้ว คือคิดว่าได้อะไรและเสียอะไรในทางการเมืองแล้วเสมอ

(จากซ้าย) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช-ไชยันต์ รัชชกูล
(จากซ้าย) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช-ไชยันต์ รัชชกูล

องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ปชป.

ขณะนี้ท่าทีของแต่ละคนก็มีการแสดงออกเกี่ยวกับการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแตกต่างกันไป ภายในพรรค ปชป.เองก็มีการแสดงออกในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน โดยบางท่านก็เห็นว่าควรรับ บางท่านก็เห็นว่าไม่ควรรับ ซึ่งการที่แต่ละคนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้นไม่ได้หมายความว่าพรรคมีการแบ่งข้างหรือแบ่งขั้วกันแต่อย่างใด ทุกคนยังสามารถทำงานร่วมกันได้ปกติเหมือนเดิม ไม่ได้เป็นปัญหาเลย และเราเองก็ยังมีงานต่างๆ ที่ต้องทำร่วมกันอีกมากมายด้วย โดยก่อนหน้าที่นายอภิสิทธิ์จะออกมาแสดงจุดยืนและท่าทีเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ทางพรรคก็มีการพบปะพูดคุยถกเถียงกันเรื่องเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน บางคนอยากจะรับร่างรัฐธรรมนูญ บางคนก็ไม่อยากจะรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งความเห็นที่แตกต่างก็เป็นเรื่องปกติภายในพรรค

การแสดงออกว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิของแต่ละคน ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติของการทำประชามติในเรื่องต่างๆ ทุกครั้งทุกประเทศ ไม่เฉพาะประเทศไทยเพียงประเทศเดียว เวลามีการทำประชามติเรื่องใดขึ้นมาสักเรื่องหนึ่งก็จะมีประชาชนที่มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป ถ้าหากประชาชนมีความเห็นสอดคล้องกันก็คงไม่ต้องมีการทำประชามติเกิดขึ้น ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญเป็นเรื่องใหญ่ ประชาชนก็อาจมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ เพราะฉะนั้นการทำประชามติจึงเป็นการหาข้อสรุปว่าใครมีความเห็นอย่างไร

ดังนั้น ความเห็นที่แตกต่างกันของการทำประชามติจึงเป็นเรื่องปกติ

ยอดพล เทพสิทธา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

เป็นเรื่องปกติธรรมดาของระบบพรรคการเมือง โดยพื้นฐานพรรคการเมืองคือที่รวมของคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเดียวกัน แต่ไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องคิดเหมือนกัน สมาชิกพรรคบางคนอาจคิดว่าโหวตโน เพราะอาจจะไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรืออาจไปรอฉบับอื่น บางคนโหวตรับเพราะอยากให้มีการเลือกตั้ง ตัวคนที่โหวตไม่รับเองยังมีความหลากหลายทางความคิดเอง เช่น บางคนไม่รับเพราะไม่ชอบระบบเผด็จการบ้าง บางคนไม่รับเพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ดีบ้าง หรือบางคนรับเพราะอยากเลือกตั้ง บางคนรับเพราะชอบ คสช.บ้าง ก็มีหลายแนวคิด ผมมองว่าเป็นเรื่องค่อนข้างธรรมดาปกติในพรรคการเมืองที่จะมีความเห็นหลากหลาย

ตอนนี้มีกระแสว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาในการให้คนเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ เพราะฉะนั้นมีโอกาสทำให้ตัวนายอภิสิทธิ์มองเห็นว่า ถ้ารับไปโอกาสในทางการเมืองจะลดน้อยลง เพราะไม่ได้หมายความว่านายอภิสิทธิ์จะได้เป็นนายกฯ ถ้าเขาได้เสียงมาก แต่สุดท้ายสภาไม่เอาก็อด ทุกอย่างอยู่บนผลกระทบทางการเมืองทั้งหมด โอกาสที่นายอภิสิทธิ์ออกมาบอกว่าไม่รับค่อนข้างสูงกว่า

จากซ้าย องอาจ คล้ามไพบูลย์-ยอดพล เทพสิทธา
จากซ้าย องอาจ คล้ามไพบูลย์-ยอดพล เทพสิทธา

ส่วนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ประกาศรับรัฐธรรมนูญ เพราะมีแนวทางตรงกับการปฏิรูปของ กปปส.หรือไม่นั้น มองว่าก็มีแนวทางที่คล้ายคลึงกัน แต่จะบอกว่าเหมือนกันหรือทำตามแนวทางของ กปปส. 100% ก็คงไม่ใช่ ผมมองว่าแนวทางปฏิรูปที่เสนอโดยผู้ชุมนุมที่ผ่านมาเป็นแนวที่มุ่งเน้นจัดการกับนักการเมืองในระบบมากกว่า ไม่ให้นักการเมืองทุจริตคอร์รัปชั่น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ข้อเสนอหลายอย่างนักวิชาการหลายคนก็พูดกันว่าไม่มีใครใช้รัฐธรรมนูญมาปราบโกง มันผิดคอนเซ็ปต์ การปฏิรูปไม่ว่าจะเป็นระบบธรรมาภิบาลหรืออะไรก็แล้วแต่ ในการป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่นไม่มีใครใช้รัฐธรรมนูญทำ ควรออกเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติหรือในระดับอื่นมากกว่า

ภาพที่ออกมาไม่เชิงเป็นความแตกร้าว เป็นสีสันในพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ผมไม่อยากพูดว่าอาจเป็นยุทธศาสตร์ของพรรคที่มีทั้งคนรับและไม่รับ แต่ถ้าเรามองในแง่ดีก็คือ สีสันในระบบพรรคการเมืองว่าไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันทั้งหมด ถ้าเราดูในการเมืองระหว่างประเทศเอง หลายพรรคการเมืองคนที่เป็นแกนหลักของพรรคก็มีนโยบายที่ต่างกัน แค่มาอยู่ร่วมกันภายใต้อุดมการณ์แบบเดียวกัน แต่แนวคิดไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน 100%

ผมว่าค่อนข้างมีผลในการตัดสินใจของฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ เพราะต้องไม่ลืมว่าตัวนายอภิสิทธิ์ก็มีฐานเสียงของตัวเองในระดับหนึ่ง ของนายสุเทพก็มีในระดับหนึ่งเหมือนกัน ฐานเสียงของแต่ละคนก็น่าจะสะท้อนออกมาในการเลือกครั้งนี้ ตอนนี้คนส่วนใหญ่ที่ตั้งใจไปลงประชามติมีคำตอบในใจแล้วว่าจะลงคะแนนยังไงแบบไหน แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ลังเลว่านักการเมืองที่เราชื่นชอบเอายังไง กรณีนี้จึงน่าจะมีผลต่อคนพวกนี้มากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image