โรม-วัฒนา ดีเบต ไพบูลย์-อรรถวิชช์ ปมศาลรัฐธรรมนูญเดือด

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม เวลา 21.00 น. รายการสาระประชามติ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดดีเบตหัวข้อ ศาลรัฐธรรมนูญ แก้วิกฤตชาติ เป็นประเด็นที่ 7 ใน 10 โดยนายรังสิมันต์ โรม โฆษกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และนายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ตัวแทนฝ่ายไม่เห็นด้วย นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนฝ่ายเห็นด้วย

นายวัฒนา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของประชาชน ไม่ใช่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐธรรมนูญจะต้องอยู่เหนืออำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญร่างฉบับนี้ขยายอำนาจมากขึ้น ทั้งที่การปกครองระบอบประชาธิปไตยมีอำนาจอธิปไตยอยู่ 3 อำนาจ คือ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ แต่รัฐธรรมนูญนี้มีโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลง โดยให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญปกป้อง กำหนดกฎเกณฑ์ และควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งผิด เพราะโดยหลักแล้วหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญคือการดูกฎหมายต่างๆ ไม่ให้มาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น การควบคุมต้องเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมาจากประชาชนด้วยกัน จึงเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่มากเกินกว่าที่ควรจะเป็น

นายวัฒนา กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ในมาตรา 5 แต่อยู่ในมาตรา 210 ไม่ได้ให้อำนาจวินิฉัยอำนาจหน้าที่ของใคร ถ้าเข้าใจว่าอำนาจอธิปไตย เป็นอำนาจของปวงชนชาวไทย และยังมีอีกหลายอำนาจที่ไม่ถูกตรวจสอบ เช่นตุลาการ หรือ ป.ป.ช. จะต้องเข้าชื่อเพื่อตรวจสอบ จึงทำให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างอยากเย็น มาตรา 5 เป็นปลายทาง การมีอยู่ของอำนาจศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในมาตรา 210 (1) วินิฉัยความชอบตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจอะไรมากำหนดจริยธรรมคนอื่น ดังนั้นวันประชามติให้ยอมรับเสียงประชาชน อย่าตะแบง

นายไพบูลย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด การกระทำที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญจะให้หน่วยงานอื่นตีความไม่ได้ ดังนั้น มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ให้อำนาจประธานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นเพียง 1 ใน 8 ดังนั้น กรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องร่างอำนาจศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ จึงปรับเปลี่ยนที่เพียงพอและเหมาะสม ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี สิ่งที่บัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าผ่านความเห็นชอบของประชาชนทั้งแผ่นดินว่าเห็นด้วยหรือไม่ จึงอยู่ที่ประชาชน ตนเห็นว่าที่เขียนไว้จำเป็น ทั้งนี้ ตุลาการต้องมาจากระบบคุณธรรม ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้ง และให้มาตัดสินเมื่อผู้ที่มาจาการเลือกตั้งมีปัญหา การเลือกตั้งจะเลือกทุกหน่วยงานไม่ได้ เพราะต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

Advertisement

นายอรรถวิชช์กล่าวว่า การที่องค์กรต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวแทนจากประชาชน ตัวแทนจากบางองค์กรแม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็มีความสามารถไม่แพ้กัน ประธานศาลมีความอาวุโสมากแค่ไหน บุคคลที่มาจากการเลือกตั้งอาจเป็นประเด็นของความขัดแย้ง ขอยืนยันว่า มาตรา 5 และบทบัญญัติของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะช่วยหลีกเลี่ยงรัฐประหารได้ด้วย

“ก่อนหน้านี้ประชาชนเห็นว่ามีปัญหาจึงออกมา วันนั้นถ้านายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกยิงตาย คิดว่าผู้ชุมนุมจะจบหรือไม่ ก็ไม่จบ เพราะคนไม่ต้องการให้มี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกมา ถึงเป็นต้นเหตุ จึงคิดว่าหากประเทศเดินเข้าสู่ทางตันอีกครั้ง มาตรา 5 จะช่วยหลีกเลี่ยงการฉีกรัฐธรรมนูญและป้องกันรัฐประหารได้” นายอรรถวิชช์กล่าวและว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่ก็ไม่จำเป็นที่ทุกองค์กรจะต้องยึดโยงกับประชาชน ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่าเหมาะสม และดีขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเก่า ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผลออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ ถ้าไม่รับ ผู้ที่โหวตไม่รับก็อย่าออกมาเปิดขบวน ปล่อยให้รัฐบาลจัดการเสียก่อน

นายรังสิมันต์กล่าวว่า ไม่ควรเอาเรื่องการเมืองไปผูกโยงไว้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง กรณีที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 อยู่ในระหว่างที่เตรียมทูลเกล้าฯ แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิด แต่ไม่บอกว่าจะต้องทำอย่างไร จน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นต้องไปแก้ปัญหา ฉะนั้นองค์กรศาลก็ไม่ได้พึ่งพาได้ขนาดนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องแสวงหาประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียงเป็นคนดี แต่เป็นประชาชนที่ให้ความชอบธรรม ในมาตรา 219 ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเขียนจริยธรรมให้นักการเมือง คำถามคือ องค์กรเหล่านี้มีความสามารถที่จะกำหนดเรื่องเหล่านี้ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 5 หรือเดิมคือมาตรา 7 คือการนำมาใช้ในกรณีไม่มีกฎหมายรองรับ โดยให้องค์กรของรัฐเป็นผู้วินิจฉัย ไม่ได้มีไว้แก้ปัญหาทางตัน

Advertisement

“รัฐประหารปี 2557 เป็นคนหรือกลุ่มบุคคลทำให้เกิดทางตัน จึงทำให้พยายามสร้างทางตันต่อไป ดังนั้นมาตรา 5 ไม่ได้กำหนดให้ใครเป็นผู้วินิจฉัยเป็นการเฉพาะ แต่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยคำร้อง แต่ใครจะเป็นผู้ร้อง ดังนั้น

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย เท่ากับว่าจะนำมาตรา 5 มาใช้เพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น มาตรา 5 กำหนดให้มีซุปเปอร์บอร์ดจาก 8 องค์กร ซึ่ง ส.ว.ไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้น อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมน้อยลง และไม่ยึดโยงกับประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น” นายรังสิมันต์ กล่าวและว่า จะออกแบบอย่างไรแน่ เมื่อวันหนึ่งบอกว่า ประชาชนออกมาเป็นล้าน จึงต้องยึดโยงกับประชาชน แต่วันนี้บอกศาลรัฐธรรมนูญจะยึดโยงกับประชาชนไม่ได้ แต่สิ่งที่ตนพูดคือการสรรหาตุลาการ เมื่อผ่านกระบวนการสรรหาแล้วจะต้องถูกสแตมป์โดยวุฒิสภา ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญ 5ปี แรก วุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นการสรรหาของ คสช.

คลิกชมคลิปที่นี่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image