เปิด 6 วิธีรับมือ ‘โปเกม่อนมอนสเตอร์’ เล่นได้ไม่อันตราย!!

กระแสการเล่น Pokemon GO ถูกจับตามองมาตลอด เนื่องจากกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดเหตุอันตรายกับตัวผู้เล่นได้ เพราะจากการที่ต้องออกล่ามอนสเตอร์ในแต่ละครั้ง เหล่าเทรนเนอร์ต้องเดินทางตามแผนที่เสมือนจริง ซึ่งหากไม่ระมัดระวังผู้เล่นอาจได้รับอันตราย ทั้งจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือบุกรุกสถานที่ส่วนตัว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ล่าสุดโปเกม่อนได้มาถึงประเทศไทยแล้ว หลายคนจึงมีความเป็นห่วงว่าไทยจะประสบปัญหาเหล่านี้ด้วยหรือไม่
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ออกมาเตือนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Nat Varoth” ว่า

“สำหรับคนรุ่นอายุราวๆ 25-35 ปีนั้น เกมโปเกม่อนเป็นเหมือนเพื่อนเล่นในวัยเด็ก เชื่อว่าทุกคนที่เคยเล่นคงจะแอบจินตนาการว่าวันหนึ่งอยากจะลองออกไปเป็นโปเกม่อนเทรนเนอร์ (นักจับโปเกม่อน) สักครั้ง …ตัวผมเองก็เช่นกัน ตอนนั้นก็ได้แต่จินตนาการนะ เพราะใครจะไปคิดหล่ะว่าวันนึงโปเกม่อนเหล่านั้นจะมายืนอยู่ตรงหน้าปากซอยบ้านจริงๆ มันช่างเป็นการผนวกเอาโลกแห่งจินตนาการกับโลกความเป็นจริงรวมกันไว้อย่างลงตัว และแล้วในที่สุดวันนั้นที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง วันที่เกม Pokemon Go มาเยือนเมืองไทย…”

หมอ

นพ.วรตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ได้ทดลองเล่นมาด้วยตัวเองมาประมาณ 3 สัปดาห์ (ที่ยุโรป) พบว่ามันเป็นเกมที่สนุกมาก ได้สอบถามคนรอบข้างที่นั่น พบคนอยู่ 2 ประเภท 1.คนที่ไม่โหลดมาเล่น กับ 2.คนที่เล่นแล้วบอกสนุก …มีเท่านั้นจริงๆ หลังจากได้ลองเล่นดูด้วยตนเอง ก็พบถึงข้อดีเป็นเกมที่กระตุ้นให้คนออกจากบ้านมากขึ้นและออกกำลังกายมากขึ้น เพราะถ้าคุณไม่เดิน เดิน และเดิน คุณก็จะไม่มีวันสนุกไปกับเกมนี้ได้ และนอกจากนั้นคุณก็ยังอาจได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ๆรอบข้างที่มาจับโปเกม่อนในจุดเดียวกัน และ
หลังจากที่เกม Pokemon Go เปิดให้บริการในไทยอย่างเป็นทางการมาได้เกือบ 1 วัน ซึ่งคล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นกับสังคมวัยรุ่นในต่างประเทศช่วงที่ Pokemon Go เปิดให้บริการมาก่อนหน้านี้

Advertisement

“ผมเห็นคนสนุกกับ ผมเห็นวัยรุ่นเดินก้มหน้าตามท้องถนน จากเดิมที่วัยรุ่นยุคปัจจุบันมีพฤติกรรม”ฟับบิ้ง”หรือก้มหน้าจ้องแต่สมาร์ทโฟนมากอยู่แล้วเวลาที่นั่งอยู่กับเพื่อนหรือครอบครัว ซึ่งก็เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมอยู่เดิม …ตอนนี้พัฒนาขึ้นไปอีกขั้นคือ แม้แต่เวลาเดินก็ยังก้มหน้า”ฟับบิ้ง”ไปเรื่อยๆ วัยรุ่นเดินกันมาเป็นกลุ่ม 5-6 คน แต่ทุกคนก้มหน้าหมดเหมือนไม่ได้มาด้วยกัน เดินๆหยุดๆหันไปหันมาเอามือถูๆหน้าจอเป็นช่วงๆ ดูไปก็คล้ายๆกองทัพซอมบี้ในหนังสยองขวัญ เพราะฉะนั้นแน่นอนว่า เกมนี้มันทั้งสนุก ติด และอันตราย” นพ.วรตม์ กล่าว

เเ

นพ.วรตม์ กล่าวอีกว่า จึงเชื่อว่าเกมนี้ ถูกสร้างโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและสภาพสังคมของประเทศที่เจริญแล้วเป็นที่ตั้ง โดยยืนบนพื้นฐานสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างปลอดภัย มีกฎระเบียบชัดเจน มีสติและควบคุมตัวเองได้ขณะเล่น ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากประเทศไทย จึงขอแนะนำ 6 ข้อ ที่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับกองทัพนักจับโปเกม่อน ดังนี้

Advertisement

1. คุณต้องก้มหน้าตลอดเวลา …เกมนี้ดึงดูดให้คุณอยากก้มหน้าเกือบลอดเวลา เพราะฉะนั้นทัศนวิสัยรอบข้างของคุณจะกลายเป็น 0 ทันทีเมื่อคุณจ้องที่หน้าจอโทรศัพท์ แม้ว่าบางครั้งเงยหน้ามองทางแล้ว ใจก็ยังจดจ่ออยู่ดีว่าจอจะสั่นเมื่อไหร่ และเมื่อเจอโปเกม่อนมันก็คงยากที่จะทำใจเดินผ่านไปโดยไม่หยุดจับมัน เปรียบเสมือนรถที่ขับโดยลืมเอาที่บังแดดออกแล้วเหยียบเบรคกระตุกๆตลอดเวลา เสี่ยงต่ออุบัติเหตุอย่างมากแน่นอนดังที่เป็นข่าวในต่างประเทศ

2. คำเตือนให้ระวังสิ่งรอบข้างขณะเล่นอาจไม่สามารถใช้ได้กับประเทศไทย …เพราะการเดินบนทางเท้าของประเทศเราแม้จะระวังแล้วก็ยังมีความอันตรายอยู่ดี เพราะมีทั้งท่อที่ไม่ได้ปิด แผงลอยแม่ค้า และรถมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งสวนบนทางเท้า เพราะฉะนั้นการเดินก้มหน้าเล่นเกมในไทยจึงไม่ต่างจากเดินบนถนนจริงๆตลอดเวลา ทั้งนี้ยังไม่นับรวมเรื่องมิจฉาชีพที่มีมากมายในประเทศซึ่งพร้อมจะจู่โจมคนที่เอาแต่ก้มหน้ามองมือถือได้ตลอดเวลาเช่นกัน ทั้งการวิ่งราวโทรศัพท์ การล้วงกระเป๋า รวมถึงอาชญากรรมที่รุนแรงกว่านั้นได้

3. ใช้ทั้งพลังงานโทรศัพท์และพลังร่างกายของผู้เล่น …จากที่ได้ทดลองด้วยตนเอง แบตไอโฟนหมดเร็วมากๆ แค่ครึ่งวันก็หมดแล้ว กลายเป็นปัญหาว่าช่วงตอนเย็นไม่สามารถติดต่อใครได้เลยหากไม่มีการชาร์จสำรอง แต่ที่หนักไปกว่านั้นคือ มันใช้พลังร่างกายของเราไปด้วย เพราะเกมนี้เป็นแบบเรียลไทม์ ผู้เล่นจึงจะถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวตลอดเวลา เพราะต้องตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม จึงไม่มีช่วงที่ผ่อนคลายระหว่างเล่นเลย

4. พูดคุยกับคนอื่นน้อยลง …เนื่องจากมัวแต่จดจ่ออยู่กับการจับและฟักไข่เหล่าโปเกม่อน ถึงแม้ว่าเกมจะออกแบบให้ผู้คนมารวมตัวกันและได้มีบทสนทนาแลกเปลี่ยนกัน แต่ต้องยอมรับว่าลักษณะการเข้าสังคมของคนไทยนั้นต่างจากคนในต่างประเทศ คนในยุโรปเมื่อไปรวมตัวกันจะมีการพูดคุยทักทายกับคนแปลกหน้าเป็นเรื่องปกติ แต่วัฒนธรรมของคนไทยไม่ใช่แบบนั้น คนไทยเป็นคนขี้อาย การไปรวมตัวกันแต่ละครั้งจึงยากที่จะกระตุ้นให้เกิดการสนทนาที่มากขึ้น

5. ท่องเที่ยวสนุกน้อยลง …เกม Pokemon Go จะจัดสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆให้เป็นจุดโปเกสต็อปและยิม เพื่อดึงดูให้เกิดการท่องเที่ยวมากขึ้น รู้จักชื่อสถานที่เหล่านั้นมากขึ้น โดยจุดประสงค์แล้วเป็นสิ่งที่ดี แต่จากการสังเกตแล้ว พบว่า แท้ที่จริงแล้ววัยรุ่นกลับให้ความสนใจที่จะอยู่กับเกมมากกว่าที่จะสนใจสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญเหล่านั้นจริงๆ โดยบางครั้งมีความหวังลึกๆว่าจะจับโปเกม่อนแปลกๆได้ในสถานที่สำคัญนั้นๆ ความสนุกจากการท่องเที่ยวแบบเดิมๆจึงถูกลดทอนไปอย่างมาก

6. คนไทยเป็นนักเล่นเกมตัวยง …ด้วยตัวเกมถูกสร้างมาให้เล่นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่คนไทยขึ้นชื่ออยู่แล้วว่าเป็นนักตะบี้ตะบันเล่นเกมระดับโลก ยิ่งบวกกับการใช้โซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลายในสังคมไทย การแข่งขันและการอยากเอาชนะจึงจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการใช้เวลาและเงินทองกับเกมมากขึ้น รวมทั้งอาจถูกหลอกโดยใช้การจับโปเกม่อนเป็นเครื่องมือล่อลวงคนที่ไม่ระมัดระวังตัวได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นผลเสียต่อการเรียน การทำงาน สุขภาพกาย และสุขภาพจิตในท้ายที่สุด

กก

“สุดท้ายนี้ อยากแนะนำสั้นว่าๆ การเล่นเกมเพื่อผ่อนคลายเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเล่นมากเกินไปอาจทำให้เสียการเรียนและเสียงานได้ ควรเล่นอย่างมี”สติ” โดยใช้เวลาไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงต่อวันหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละวัน อาจใช้ Pokemon Go เพื่อดึงดูดให้ตนเองออกไปเดินออกกำลังกายในช่วงเย็นยิ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ผู้ปกครองที่ต้องดูแลบุตรหลานซึ่งอยากเล่นเกมนี้ ควรทำความเข้าใจกับมัน แนะนำวิธีการเล่นที่ถูกต้องให้กับลูก จัดเวลาให้เหมาะสม และควบคุมอย่างใกล้ชิด” นพ.วรตม์ กล่าว และว่า เป็นเทรนเนอร์ที่ดีควรควบคุมตัวเองและโปเกม่อน อย่าให้โปเกม่อนมาควบคุมเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image