นักวิจัยในสหรัฐชี้ “โปเกมอน โก” พิสูจน์ผังเมืองก้าวหน้า-ล้าหลัง ห่วงนักเล่นไทย เหตุภูมิทัศน์ไร้ระเบียบ

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. นางรังสิมา กุลพัฒน์ นักวิจัยประจำแคโรไลนา เอเชีย เซ็นเตอร์ มหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลนา ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเล่นโปเกมอน โก โดยกล่าวกับผู้สื่อข่าว “มติชนออนไลน์”  ว่า จากการที่ได้ทดลองเล่นเกมส์ดังกล่าวนี้มาได้สักพักที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้สนทนากับนักผังเมือง ธัญญาภรณ์ ลาดเสนา ผู้คุ้นเคยกับการออกแบบแผนที่ ข้อสนทนานั้นก็ได้สรุปมาถึงการวางจุดโปเกมอนว่าน่าจะเป็นไปตามทฏษฏีว่าด้วยองค์ประกอบของเมือง ของ เควิน ลินซ์ (Kevin Lynch) สถาปนิกแนวโมเดิร์น

“ลินซ์ได้สรุปเป็นทฤษฏีว่าด้วยองค์ประกอบของเมือง (The City Image & its elements) แบ่งเป็น ห้าองค์ประกอบคือ 1.ทางเดิน (path) เส้นทางที่ใช้ประจำ 2.เส้นขอบเมือง (edge) เป็นเขตแดนที่แบ่งสองฝั่งออกจากกัน เช่น ชายฝั่งทะเล แม่น้ำ ทางรถไฟ กำแพง ขอบหมู่บ้าน 3.ย่าน (District) ก็จะมีทุกองค์ประกอบรวมอยู่ในย่าน 4.ชุมทาง (Node) จุดเชื่อมแยกสำคัญต่างๆ และ 5.จุดหมายตา หรือภูมิสัญลักษณ์ (Landmark) อาจจะเป็นอาคาร ร้านค้า สัญลักษณ์ หรือภูเขา”

“ซึ่่งการกระตุ้นให้วัยรุ่น หรือผู้เล่นเกมออกจากบ้านได้เป็นสิ่งที่เกมทำได้ดี เพราะจากการที่ทดลองเล่นพบว่าสวนพฤษศาสตร์ ซึ่งเสมือนเป็นจุดหมายตา หรือ แลนด์มาร์คของเมือง ได้มีฐานของลูกบอล รวมทั้งตัวโปเกมอนอยู่มาก”

นางรังสิมา กล่าวอีกว่า การวางตัวละครในเกมส์นี้น่าจะได้ถูกกำหนดตามหลักการขององค์ประกอบของเมืองดังกล่าว ทั้งจำนวนของตัวโปเกม่อน ฐานของคลังลูกบอล และฐานการฝึกการต่อสู้ ก็จะมีอยู่มากตำแหน่งชุมชน เช่น มหาวิทยาลัย บริเวณย่านธุรกิจ และสวนสาธารณะ

Advertisement

แต่อย่างไรก็ตาม นางรังสิมา กล่าวว่า ปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ โปเกมอน โก ที่ดำเนินการวางตัวละครหรือโปเกมอนตามหลักการการวางผังเมือง น่าจะเป็นสิ่งที่ปลอดภัยดีในโลกที่มีการนำหลักทฤษฏีการวางผังเมืองแบบชัดเจนแบบในสหรัฐอเมริกา หรือในยุโรป แต่กรณีที่มีการใช้งานผสมผสานและเมืองที่อาจไม่ได้รับการดูแลด้านกายภาพให้ปลอดภัยดีนักอย่างในประเทศที่กำลังพัฒนาอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

“ไม่เว้นแม้แต่เมืองไทย ที่อาจมีภัยอันตราย เช่น เดินดูมือถือตลอดเวลาเพราะต้องยิงลูกบอลไปที่ตัวโปเกมอนให้ได้อาจจะสะดุดของที่วางระเกะระกะตามทางเท้า หรือท่อที่ถูกเปิดทิ้งไว้ สายไฟที่พาดไม่เป็นระเบียบ สุนัขที่วิ่งมากัด หรือข้ามถนนทางม้าลายรถยังไม่หยุดให้ ทำให้เกิดอันตรายได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิตได้”

“ดังนั้นการใช้งานโปเกมอน โกจึงเป็นการตรวจสอบภาพความปลอดภัยและความเป็นเมืองน่าอยู่ และในทางตรงกันข้ามกันผู้เล่นก็สามารถสร้างภัยอันตรายและปัญหาทางสังคมได้แก่เมืองได้เช่นกัน”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image