สุจิตต์ วงษ์เทศ : ไทยโครงสร้างหลวม รับร่างรัฐธรรมนูญ กับประวัติศาสตร์สังคมของความเป็นไทย ภาคกลาง

กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ บริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง (ลายเส้นฝีมือชาวยุโรป พิมพ์ครั้งแรก ประมาณ ค.ศ. 1873-79)

คนอีสาน, คนเหนือ, คนใต้ 3 จังหวัดชายแดน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมีจำนวนไม่น้อย ส่วนคนภาคกลางรับเกือบหมด
ลักษณะอย่างนี้สอดคล้องใกล้เคียงกับประวัติศาสตร์สังคมความเป็นมาของความเป็นไทย

คนไทย เป็นลูกผสม ร้อยพ่อพันแม่ ได้แก่ เจ๊กปนลาวปนเขมร, มอญ, ม้ง, เมี่ยน, มลายู, แขกจามพราหมณ์กุลา ฯลฯ เริ่มมีครั้งแรกยุคอยุธยาบริเวณแคบๆ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ราวหลัง พ.ศ. 1700

ไม่อยู่ภาคกลาง ไม่ไทย

คนไทย, ความเป็นไทย, วัฒนธรรมไทย สมัยแรกๆ แท้จริงแล้วมีพื้นที่จำกัดอยู่แค่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง นอกจากนั้นไม่ไทย ดังนี้
ทิศเหนือ ถึง จ. อุตรดิตถ์ เพราะเหนือขึ้นไปเป็นลาวล้านนา
ทิศใต้ ถึง จ. เพชรบุรี เพราะใต้ลงไปเป็นแขกมลายู
[แต่ราวหลัง พ.ศ. 1500 ภาษาไทยแผ่ลงไปโดยผ่านรัฐเพชรบุรี มีอำนาจเหนือบริเวณเคยเป็นรัฐนครศรีธรรมราช ซึ่งชนกับอำนาจของรัฐปัตตานีที่ใช้ภาษามลายู]
ทิศตะวันตก ถึง จ. กาญจนบุรี ถัดไปเป็นมอญ, พม่า
ทิศตะวันออก ถึง จ. นครนายก ถัดไปเป็นเขมร
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ถึง จ. สระบุรี เพราะต่อจากนั้นเป็นที่ราบสูงของเขมรและลาว
[แต่ราวหลัง พ.ศ. 2000 อยุธยาแผ่อำนาจโยกย้ายครัวจากอยุธยาขึ้นไปตั้งหลักแหล่ง ต้นน้ำมูล ต่อมาเรียกคนโคราช]
มีหลักฐานพยานแวดล้อมสนับสนุน คือ ดนตรีไทย หมายถึง ดนตรีของภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยาเท่านั้นที่บรรเลงเพลงเถา มีร้องเอื้อน แบ่งเป็น 3 ชั้น, 2 ชั้น, ชั้นเดียว ได้แก่ มโหรี, ปี่พาทย์, เครื่องสาย
นอกเหนือจากนี้เรียกดนตรีพื้นเมือง แปลว่าไม่ไทย ได้แก่
ภาคเหนือ สะล้อ, ซอ, ซึง ฯลฯ
ภาคใต้ ตะลุง, โนรา, ชาตรี ฯลฯ
ภาคอีสาน แอ่วลาว, เป่าแคน, กันตรึม ฯลฯ

กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ บริเวณพม่า, ลาว และยูนนาน
กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ บริเวณพม่า, ลาว และยูนนาน

สังคมไทยโครงสร้างหลวม ต้องพึ่งทหาร

ไทยจำเป็นต้องมีอำนาจนำเด็ดขาดของทหาร เพื่อก้าวไปข้างหน้าได้ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมโครงสร้างหลวม
แนวคิดนี้เริ่มจากทฤษฎีของฝรั่งนานแล้ว จากนั้นนักวิชาการไทยยกมาใช้งาน และยังใช้สืบเนื่องต่อมาจนปัจจุบัน
ทฤษฎีโครงสร้างหลวม อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกไว้ในบทความเรื่อง ประวัติศาสตร์อนุรักษนิยมไทย (พิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5-11 สิงหาคม 2559 หน้า 30) ตอนหนึ่ง ดังนี้
“บรรยากาศทางปัญญาซึ่งนักคิดฝ่ายอนุรักษนิยมไทยสร้างไว้ต่างหาก ที่ทำให้นักวิชาการไทยไม่สามารถฟันฝ่าออกไปจากทฤษฎีโบราณนี้ได้ และนี่เป็นพลังทางสังคมที่เราควรตระหนักให้ดี เรื่องของเรื่องจึงไม่ใช่แต่ฝรั่งผิดหรือฝรั่งถูกเท่านั้น หากมองเรื่องนี้เป็นพลังทางสังคม (social forces) ก็จะเข้าใจได้ง่ายว่าเหตุใดนักวิชาการใหญ่บางคนจึงออกมาเชียร์รัฐประหารของกองทัพในครั้งนี้ พวกเขาคือสิ่งตกค้างหรือผลผลิตของปัญญาชนอนุรักษนิยมไทยรุ่นที่สอง ซึ่งเชี่ยวกรากแกร่งกล้าในสมัยที่พวกเขายังเป็นหนุ่ม-สาว”

Advertisement

ปัจจุบัน อ. นิธิ บอกว่า “อนุรักษนิยมไทยไม่มีปัญญาชนที่มือถึงเหลืออยู่อีก และด้วยเหตุนั้น อนุรักษนิยมไทยจึงต้องหันเข้าหาการใช้กำลังอำนาจของกองทัพเพียงอย่างเดียว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image