ภาพเก่า….เล่าตำนาน (2) นักบินสยาม 3 ท่านแรก โดย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก

2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2454 ในรัชสมัยในหลวง ร.6 มร.วัน เดน บอร์น (Van den Born) นักบินชาวเบลเยียมนำเครื่องบินแบบอองรี ฟาร์มัง (Henry Farman) เริ่มบินจากกรุงไซ่ง่อน (ปัจจุบันคือ นครโฮจิมินห์ของเวียดนาม) มาร่อนลง ณ บริเวณสนามม้าสระปทุม ( ปัจจุบันคือราชกรีฑาสโมสร) ให้ประชาชนชาวสยามได้เห็นกับตาว่ามนุษย์ขึ้นไปบินได้เหมือนนก

นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพบก คือ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และชาวสยามทุกหมู่เหล่าได้ประจักษ์ชัดต่อความสำคัญของกิจการบินของสยามในอนาคต

กระทรวงกลาโหมไม่รอช้า คัดเลือกนายทหารบก 3 นายไปเรียนวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส คือ พันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป) ไปเรียนบินเครื่องบินเบรเกต์ (Brequet) ปีก 2 ชั้นที่เมืองวิลลาคูเบลย์ (Villacoublay) ส่วนร้อยเอกหลวงอาวุธสิขิกร (หลง สิน-ศุข) และร้อยโททิพย์ เกตุทัต ไปเรียนบินเครื่องแบบนิเออปอร์ต(Nieuport) แบบปีกชั้นเดียว

นายทหารทั้ง 3 ท่านสำเร็จจากโรงเรียนการบินฝรั่งเศสพร้อมประกาศนียบัตรเดินทางกลับถึงบางกอกเมื่อ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2456

Advertisement

ในขณะที่นายทหารทั้งสามกำลังศึกษาวิชาการบินอยู่นั้น ทางราชการได้สั่งซื้อเครื่องบิน รวมทั้งมีผู้บริจาคเงินร่วมสมทบซื้อด้วยเป็นครั้งแรก จำนวน 8 เครื่อง คือเครื่องบินเบรเกต์ปีก 2 ชั้น จำนวน 4 เครื่อง และเครื่องบินนิเออปอร์ตปีกชั้นเดียว จำนวน 4 เครื่อง

อาจกล่าวได้ว่ากิจการบินของสยาม เริ่มต้นจากนักบินเพียง 3 คน และเครื่องบินอีก 8 เครื่อง วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2457 กระทรวงกลาโหมจัดตั้ง “กรมการบินทหารบก” เพื่อให้นายทหารนักบิน 3 ท่านเป็นครูฝึกนักบินชาวสยามรุ่นต่อมา

ในช่วงแรกยังคงใช้สนามบินสระปทุมฝึกนักบินของไทยบินขึ้น-ลง ต่อมานายทหารนักบินทั้ง 3 ท่านเสนอให้ย้ายสนามบิน อาคารและเครื่องมือทั้งปวงไปหาสนามบินแห่งใหม่ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ค่อนข้างสูง ณ ตำบลดอนเมือง อำเภอบางเขน

นักบินทั้ง 3 ท่านนี้ ในเวลาต่อมา ได้รับพระราชทานยศ และบรรดาศักดิ์ ตามลำดับ คือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ นาวาอากาศเอกพระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต และกองทัพอากาศได้ยกย่องให้เป็น “บุพการีของกองทัพอากาศ”

ปวงชนชาวไทยขอยกย่องนายทหาร 3 ท่านนี้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image