สมเด็จแม่ของคนไทย โดย วสิษฐ เดชกุญชร

แฟ้มภาพ

ผมมีวาสนาได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นส่วนพระองค์ในปี พ.ศ.2510 และพอทรงรู้จักก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตามเสด็จเพื่อถวายความปลอดภัยเวลาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชนและข้าราชการในจังหวัดต่างๆ ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นผมยังไม่มีตำแหน่งในราชสำนัก ยังเป็นนายตำรวจสังกัดกองตำรวจสันติบาล

จนกระทั่งปี พ.ศ.2513 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ผมเป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ ผมรับราชการถวายในตำแหน่งนั้นจนถึงปี พ.ศ.2524 จึงกราบบังคมทูลลากลับไปรับราชการในตำแหน่งและหน้าที่อื่นในกรมตำรวจ รวมเวลาที่รับใช้พระยุคลบาทประมาณ 14 ปี

ตลอดเวลา 14 ปีที่รับใช้พระยุคลบาทนั้น การปฏิบัติหน้าที่อย่างใกล้ชิดพระวรกายทำให้ผมได้เห็นการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และตระหนักในพระราชอัธยาศัย ความสนพระราชหฤทัย และความห่วงใยที่ทั้งสองพระองค์ทรงมีต่อประชาชนคนไทยและต่อเมืองไทย

ช่วงเวลาที่ผมรับราชการถวายนั้น เมืองไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต การคุกคามของขบวนการก่อการร้ายที่นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่ขยายไปในหลายจังหวัด มีการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ก่อการร้ายทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เจ้าหน้าที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บปีละหลายร้อยคน แต่สถานการณ์นั้นก็มิได้เป็นอุปสรรค ทั้งสองพระองค์ยังเสด็จฯไปทรงเยี่ยมประชาชนและเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด บางครั้งจนถึงแนวรบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถนั้นประทับเคียงพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสมอ และเห็นได้ชัดว่าไม่เคยมีพระอาการวิตกหรือหวาดหวั่น แม้บางครั้งเหตุการณ์รุนแรงจะเกิดขึ้นหน้าที่นั่ง เช่น เมื่อมีผู้วางระเบิดในที่ชุมนุมของประชาชนที่กำลังเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่จังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2520

Advertisement

ในการเสด็จฯไปทรงเยี่ยมประชาชนทุกครั้ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไม่เคยตามเสด็จเฉยๆ แต่ทรงไถ่ถามทุกข์สุขของประชาชน และทรงสังเกตแม้กระทั่งการแต่งตัวของราษฎร เพราะทรงสังเกตนั้นเองจึงทำให้ทอดพระเนตรเห็นผ้านุ่งที่ราษฎรหญิงผู้หนึ่งนุ่งไปรับเสด็จที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ในปี พ.ศ.2513 ราษฎรหญิงผู้นั้นนุ่งผ้าไหมมัดหมี่มีลวดลายงดงาม เมื่อรับสั่งถาม และผู้หญิงคนนั้นกราบบังคมทูลว่าเป็นผ้าที่ทอด้วยตนเอง ก็มีพระราชดำริว่า หากปรับปรุงและส่งเสริมการทอผ้าของราษฎรให้มีสีและลวดลายงดงาม ผ้าไหมมัดหมี่ก็จะกลายเป็นที่นิยม และเป็นที่มาของรายได้ที่เพิ่มขึ้นของครอบครัว

หลังจากนั้นก็โปรดให้ราชเลขานุการในพระองค์เดินทางออกไปรับซื้อผ้าไหมมัดหมี่จากราษฎรในจังหวัดภาคอีสานหลายจังหวัดเป็นประจำ และโปรดให้ผู้เชี่ยวชาญแนะนำราษฎรให้ปรับปรุงสีและลวดลายของผ้าไหมมัดหมี่จนกลายเป็นที่นิยมกันทั่วไป ต่อมาจึงได้มีการตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์ขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2519 ซึ่งในปัจจุบันคือ “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”

ในปี พ.ศ.2520 โปรดให้ตั้งโรงเรียนศิลปาชีพสวนจิตรลดาขึ้น เพื่อฝึกหัดงานช่างหัตถศิลป์สาขาต่างๆ รวมทั้งการทอผ้าให้แก่บุตรหลานของราษฎรจากจังหวัดต่างๆ เพื่อให้สามารถนำความรู้กลับไปประกอบอาชีพด้วยตนเองได้

Advertisement

เพราะความอาทรและสายพระเนตรอันไกลของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผ้าไหมไทย และผ้าไทย รวมทั้งหัตถศิลปวัตถุไทยชนิดต่างๆ เช่น เครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องปั้นดินเผา ไม้แกะสลัก เครื่องสานไม้ไผ่ เครื่องสานย่านลิเภา จึงมีชื่อเสียงกลายเป็นที่รู้จักและนิยมไปทั่วโลก

ความห่วงใยที่ทรงมีต่อพสกนิกรไม่ต่างกับที่แม่มีต่อลูก ในโอกาสที่วันพระราชสมภพเวียนมาถึงอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 12 สิงหาคมนี้ จึงควรที่เราคนไทยจะพร้อมใจกันตั้งใจถวายพระพรชัยมงคลขอให้ทรงหายพระประชวร และทรงพระเกษมสำราญ มีพระชนมายุยืนนาน และทรงเป็นมิ่งขวัญของเราสืบไปชั่วกาลนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image